xs
xsm
sm
md
lg

จบข่าวแยกย้าย! ‘สี จิ้นผิง’ ปรากฏตัวออกสื่อครั้งแรก หลังโซเชียลลือหึ่งเกิด ‘รัฐประหาร’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนปรากฏตัวผ่านสื่อโทรทัศน์ของรัฐบาลเป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ (27 ก.ย.) หลังจากหายเงียบไปนานหลายวันจนมีข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วว่าอาจเกิด “รัฐประหาร” ขึ้นในจีน

สี วัย 69 ปี ได้เดินทางไปเยี่ยมชมนิทรรศการซึ่งจัดขึ้นภายใต้ชื่อธีม “Forging Ahead into the New Era” ณ ศูนย์นิทรรศการ Beijing Exhibition Hall โดยมีนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง และบรรดาผู้นำระดับสูงของจีนติดตามไปด้วย ซึ่งระหว่างที่เดินชมงาน สี ได้เอ่ยถึงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของจีนตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

การออกงานครั้งนี้ถือเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของ สี จิ้นผิง หลังจากที่เดินทางกลับจากประชุมซัมมิตองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation-SCO) ที่อุซเบกิสถาน เมื่อสุดสัปดาห์ก่อนหน้า
ภายใต้มาตรการควบคุมโรคระบาดของจีน สี จำเป็นที่จะต้องกักตัวเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากที่เดินทางกลับเข้าประเทศ

อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่ไม่ชัดเจนเปิดช่องให้มีผู้ปล่อยข่าวลือว่าเกิดการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง หรือ “รัฐประหาร” ขึ้นในจีนเพื่อโค่น สี จิ้นผิง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีระบบการตรวจสอบและปราบปรามผู้ที่ส่งสัญญาณท้าทายอำนาจอยู่ตลอดเวลา อีกทั้ง สี ถือเป็นผู้นำที่ทรงอำนาจมากที่สุดของจีนในรอบหลายทศวรรษ และยังไม่ปรากฏว่ามีนักการเมืองคนใดที่คิดท้าทายอำนาจของเขา

จีนยังได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี ซึ่งทำให้ สี สามารถรั้งเก้าอี้ผู้นำสูงสุดได้ “ตลอดชีวิต” หากว่าเขาพอใจ


การที่ผู้นำจีนหายหน้าไปจากสื่อเป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกเสียทีเดียว และอันที่จริงคณะผู้นำระดับสูงของจีนจะมีการ “ปลีกตัว” ไปประชุมลับแบบไม่เป็นทางการที่เมืองรีสอร์ตริมทะเล “เป่ยไต้เหอ” เป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูร้อนอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเก็บเนื้อเก็บตัวของ สี จิ้นผิง ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่จะมีการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 5 ปี ก็มีส่วนทำให้เกิดเสียงร่ำลือในเชิงลบขึ้น และเป็นที่คาดหมายกันว่าในการประชุมวันที่ 16 ต.ค.นี้ พรรคจะลงมติให้ สี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งถือเป็นการแหวกธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำจีนที่โดยปกติแล้วจะอยู่ในตำแหน่งเพียงไม่เกิน 2 สมัย

เคร์รี บราวน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีน ชี้ว่า การหายหน้าหายตาไปชั่วคราวของ สี จิ้นผิง ไม่น่าจะมีนัยสำคัญอะไรมากไปกว่านี้

“ผมเดาว่าถ้ากลุ่มชนชั้นปกครองจะมีความไม่พอใจอย่างยิ่งในตัว สี จิ้นผิง เราน่าจะได้เห็นร่องรอยอะไรบ้างแล้ว” บราวน์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ Lau China Institute ในสังกัดมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน ระบุ “ส่วนตัวผมเองมองว่ายังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน”

ที่มา : AP






กำลังโหลดความคิดเห็น