เอพี - นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาเรียกร้องให้พม่าทบทวนโทษประหารชีวิตกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง 4 คน โดยชี้ว่าการประหารชีวิตพวกเขาเหล่านั้นจะยิ่งนำมาซึ่งการประณามที่รุนแรงขึ้นจากนานาชาติ และทำให้ความพยายามที่จะฟื้นฟูสันติภาพให้ประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งซับซ้อนขึ้น
ผู้นำเขมรส่งหนังสือถึง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อวันเสาร์ (11) ระบุว่ากัมพูชามีความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งและมีความปรารถนาอย่างจริงใจที่จะช่วยพม่าบรรลุสันติภาพและความปรองดองของชาติ และร้องขอให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) พิจารณาทบทวนคำตัดสินและละเว้นโทษประหารต่อผู้ที่ต่อต้านสภาบริหารแห่งรัฐ
หนังสือดังกล่าวถือว่าไม่ปกติเนื่องจากรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ค่อยออกคำแถลงที่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์กิจการภายในของกันและกัน และตัวฮุนเซนเองก็มีชื่อเสียงในฐานะผู้นำที่ใช้วิธีการเผด็จการเพื่อคงอยู่ในอำนาจมานาน 37 ปี แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญของกัมพูชาได้ยกเลิกโทษประหารไปแล้ว
โฆษกกองทัพพม่าประกาศเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ว่า เพียว เซยา ตอ อดีตสมาชิกรัฐสภาจากพรรคของซูจี และจ่อ มิน ยู นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่รู้จักกันในชื่อ โก จิมมี จะถูกประหารชีวิตจากข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของประเทศ
ซอ มิน ตุน โฆษกของกองทัพกล่าวว่า การตัดสินใจแขวนคอทั้งสองคนพร้อมกับผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดอีก 2 คน จากการสังหารหญิงรายหนึ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นผู้แจ้งข่าวต่อทหาร เกิดขึ้นหลังจากการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลทหารของพวกเขาถูกปฏิเสธ
แต่ทั้งนี้ ยังไม่มีการประกาศวันสำหรับการประหาร
ในเดือน ก.พ.2564 กองทัพพม่าได้ยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของซูจี ที่ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงอย่างสันติอย่างกว้างขวาง ที่ในไม่ช้าได้กลายเป็นการต่อต้านด้วยอาวุธ และประเทศตกอยู่ในภาวะที่ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติบางคนระบุว่าเป็นสงครามกลางเมือง
ฮุนเซนมีความสนใจเป็นพิเศษต่อพม่าเนื่องจากในปีนี้กัมพูชาเป็นประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่พม่าเป็นสมาชิกอยู่ด้วย
อาเซียนพยายามที่จะมีบทบาทในการส่งเสริมการยุติความรุนแรงในพม่าและให้ความช่วยเหลือด้านนุษยธรรมที่นั่น แต่กองทัพพม่าล้มเหลวที่จะร่วมมือกับแผนของอาเซียน.