xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลทหารพม่าหวังฟื้นการท่องเที่ยวท่ามกลางความไม่สงบ บ.ทัวร์ตั้งคำถามใครจะกล้ามา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR ออนไลน์ - ในขณะที่กองทัพพม่ายังคงดำเนินการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงที่ต่อต้านการรัฐประหารอย่างรุนแรง แต่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลทหารก็พยายามที่จะดึงนักท่องเที่ยวให้กลับมาเยือนประเทศอีกครั้งและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่มั่นคง

รัฐบาลทหารกลับมาออกวีซ่านักท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวจาก 100 ประเทศอีกครั้ง ในความพยายามที่จะช่วยฟื้นอุตสากรรมการท่องเที่ยวที่ซบเซา โดยระบบ e-visa สำหรับนักท่องเที่ยวกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือน พ.ค. หลังจากระงับไปตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19

พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 1 ก.พ.2564 และกองทัพกำลังพยายามอย่างหนักที่จะควบคุมการชุมนุมประท้วงตามท้องถนนและขบวนการอารยะขัดขืน ขณะเดียวกัน การต่อต้านด้วยอาวุธจากกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารทั่วประเทศกำลังพยายามที่จะขับไล่รัฐบาลทหารด้วยกำลัง ความเคลื่อนไหวที่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อนักท่องเที่ยว

มีประชาชนถูกสังหารอย่างน้อย 1,906 คน และถูกจับกุมตัวมากกว่า 14,000 คน นับตั้งแต่การรัฐประหารเริ่มขึ้น ตามการระบุของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ที่บันทึกการสังหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“เราไม่สามารถรับผิดชอบภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ได้ พวกเขากำลังผลักดันให้ผู้ที่อยู่ในวงการอุตสากรรมการท่องเที่ยวส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ใครจะกล้าเดินทางมาท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดของพวกเขา” เจ้าของบริษัททัวร์ท้องถิ่นที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ กล่าว

แม้ว่าการสังหารและการลักพาตัวโดยกองทัพยังเห็นได้ทั่วไป แต่รัฐบาลทหารกล่าวว่าทางการได้เริ่มอนุญาตให้มีวีซ่านักท่องเที่ยวและวีซ่าธุรกิจ

ในปี 2562 ก่อนที่การระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวของพม่า มีนักท่องเที่ยวราว 4.3 ล้านคนเดินทางเยือนประเทศที่มีชื่อเสียงในเรื่องของศาสนสถานและภูมิประเทศอันงดงาม

“ชาวต่างชาติบางคนต้องเดินทางมาพม่าด้วยวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยการดึงดูดพวกเขาภายใต้สภาวะวิกฤตเช่นนี้ รัฐบาลทหารต้องการแสดงให้เห็นว่าพม่ามีเสถียรภาพ ซึ่งไม่เป็นความจริง” ผู้บริหารจากกลุ่มธุรกิจชั้นนำ กล่าว

มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในเดือน มี.ค. ว่าวิกฤตด้านมนุษยธรรมในพม่ากำลังเลวร้ายลงท่ามกลางความรุนแรงอย่างเป็นระบบของกองทัพ

“เศรษฐกิจใกล้ที่จะล้ม และในตอนนี้มีผู้คนกว่า 14.4 ล้านคน ได้รับการประเมินว่าต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม” บาเชเลต์ กล่าว และเตือนถึงปัญหาการขาดแคลนอาหารที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ และเยอรมนี ได้แจ้งเตือนว่าหลายพื้นที่ของพม่ามีการประกาศใช้เคอร์ฟิวและกฎอัยการศึก และกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษระบุว่า มีการยิงและวางระเบิดโจมตีในเขตเมือง นอกจากนี้ยังระบุว่าการเดินทางเยือนพม่ามีความเสี่ยงที่อาจถูกควบคุมตัวหรือถูกจับโดยพลการ และกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นตามมาในหลายคดีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล.


กำลังโหลดความคิดเห็น