xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชี้ ร.ร.เอกชนกดดัน นร.ออกจากโรงเรียน-แจ้งความเอาผิดผู้ปกครอง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม.ชี้ ร.ร.เอกชน กดดัน นร.ออกจากโรงเรียน-แจ้งความเอาผิดผู้ปกครอง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แนะศธ.เร่งสอบสวน จี้ สตช.ปรับปรุงระเบียบสืบสวนกรณีร้องทุกข์ซ้ำหลายพื้นที่

วันนี้ (9 มิ.ย.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และ นายภาณุวัฒน์ ทองสุข ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงาน กสม. แถลงกรณีได้รับร้องเรียนจากผู้ปกครอง (ผู้ร้อง) โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งที่เกิดเหตุครูพี่เลี้ยงทำร้ายร่างกายเด็กเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2563 และผู้ร้องจึงได้จัดตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กสมาคมผู้ปกครองเพื่อเป็นช่องทางในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มผู้ปกครองด้วยกัน และเพื่อรวบรวมประเด็นความคิดเห็นเสนอต่อโรงเรียนนำไปพิจารณาแก้ไขปัญหา โดยผู้ร้องได้นำเอกสารชี้แจงเกี่ยวกับการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งให้กับสื่อมวลชนของโรงเรียนแห่งดังกล่าวเผยแพร่ในกลุ่มเฟซบุ๊กสมาคมผู้ปกครอง เป็นเหตุให้โรงเรียนมีหนังสือเมื่อเดือนธันวาคม 2563 แจ้งให้ผู้ร้องหาโรงเรียนใหม่ให้กับบุตรสาวของผู้ร้องภายใน 90 วัน พร้อมกับได้แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ร้องด้วยฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ต่อสถานีตำรวจภูธรกาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีตำรวจภูธรชัยพฤกษ์ จ.นนทบุรี (ผู้ถูกร้องที่ 2 และ 3) และสถานีตำรวจในพื้นที่ จ.สุโขทัย และเชียงใหม่ กสม. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายแล้วเห็นว่า แม้การแจ้งให้ผู้ร้องหาโรงเรียนใหม่ให้แก่บุตรภายใน 90 วัน จะไม่ใช่การให้บุตรสาวของผู้ร้องพ้นสภาพการเป็นนักเรียนโดยตรง แต่ก็เป็นการสร้างความกดดันแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ปกครองของบุตร กรณีที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการกระทำอันเกิดจากความผิดทางวินัยหรือความรับผิดอื่นที่สถานศึกษาสามารถสั่งลงโทษได้ แต่เป็นกรณีการพิพาทกันระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง ประกอบกับการที่โรงเรียนได้มีหนังสือแจ้งผู้ร้องในช่วงระหว่างปีการศึกษา ย่อมสร้างภาระแก่ผู้ร้องในการหาสถานศึกษาใหม่ในระหว่างภาคปีการศึกษา ซึ่งย่อมส่งผลต่อการเรียนของเด็กและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้มีหนังสือเมื่อเดือนธันวาคม 2563 แจ้งไปยังผู้ร้องและโรงเรียนแห่งดังกล่าว โดยยืนยันว่าโรงเรียนไม่สามารถให้เด็กออกจากสถานศึกษาได้ เว้นแต่ผู้ปกครองจะย้ายสถานศึกษาเอง และขอให้โรงเรียนเจรจากับผู้ร้องเพื่อไม่ให้กระทบถึงสิทธิเด็ก แต่โรงเรียนไม่ได้ดำเนินการใด อันถือเป็นการเพิกเฉยต่อคำสั่งของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และเมื่อพิจารณาเหตุผลที่ผู้ร้องได้ตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กแลกเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนรวมถึงสอดส่องเฝ้าระวังพฤติกรรมของบุคลากรของโรงเรียนเพื่อไม่ให้เกิดกรณีการทำร้ายร่างกายเด็กอีก พร้อมขอให้มีการจัดตั้งสมาคมผู้ปกครองนักเรียน นั้น ก็ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการรวมกลุ่มกันในรูปแบบหนึ่ง อันสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 42 และข้อเสนอแนะตามรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ กสม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 อันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่บุคลากรของโรงเรียนแห่งดังกล่าวได้กระทำความรุนแรงต่อเด็กนักเรียนปฐมวัย ซึ่ง กสม. มีข้อเสนอให้โรงเรียนสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองหรือชุมชน เช่น การจัดตั้งชมรมหรือสมาคมผู้ปกครองเพื่อช่วยเฝ้าระวังปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ด้วย การกระทำดังกล่าวของโรงเรียน จึงกระทบต่อสิทธิในการได้รับการศึกษาของบุตรสาวของผู้ร้อง อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ส่วนการที่ ร.ร.แจ้งความเอาผิดผู้ร้องต่อสถานีตำรวจต่างๆ โดยอ้างว่า เป็นสถานที่พบเจอการกระทำความผิดของผู้ร้องตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และนำไปสู่การจับกุมผู้ร้องต่อหน้านักเรียน บุคลากรของโรงเรียน และผู้ปกครองอื่น นั้น เมื่อพิจารณาเจตนาการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของผู้ร้องซึ่งเป็นการตั้งคำถามและข้อร้องเรียนต่อการคัดสรรบุคลากรของโรงเรียนที่ส่งผลกระทบต่อการใช้กำลังทำร้ายเด็กนักเรียนเพื่อจะได้ป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกนั้นการกระทำของโรงเรียนจึงเข้าข่ายเป็นการดำเนินคดีโดยไม่สุจริตอันเป็นการปิดกั้นไม่ให้ผู้ร้องกล้าแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ ซึ่งกระทบต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและเสรีภาพในการแสดงความเห็น จึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน สำหรับการกระทำของสถานีตำรวจภูธรกาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีตำรวจภูธรชัยพฤกษ์ จ.นนทบุรี ในการดำเนินการจับกุมผู้ร้องตามหมายศาล มีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ในชั้นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม กสม.ได้มีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดย 1. ให้โรงเรียนเอกชนแห่งดังกล่าวดำเนินการเยียวยาต่อผลที่เกิดจากการกระทำของตนและให้เร่งจัดทำมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง และตามหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNGPs) 2. ให้กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ดำเนินการสอบสวนกรณีดังกล่าว และกรณีอื่นๆ ที่สถานศึกษาดำเนินการกดดันหรือให้นักเรียนหรือนักศึกษาออกจากสถานศึกษา ทั้งนี้ ขอให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้ 3. ให้สถานีตำรวจภูธรกาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีตำรวจภูธรชัยพฤกษ์ จ.นนทบุรี พิจารณารวบรวมและเร่งรัดการดำเนินคดีต่อผู้ร้องในประเด็นข้อพิพาทกับโรงเรียนเอกชนแห่งดังกล่าว โดยไม่สร้างภาระแก่ผู้ร้องในการเดินทางและการต่อสู้คดีที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องเกินสมควร 4. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาปรับปรุงแนวปฏิบัติของพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่เป็นลักษณะกรรมเดียวที่มีการร้องทุกข์ในหลายพื้นที่ ในทางที่ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ 5. ให้คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาเร่งผลักดันการออกกฎหมายที่มีหลักการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก หรือการดำเนินคดีโดยไม่สุจริต เพื่อเป็นการปิดปากการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยขอให้พิจารณาให้มีความครอบคลุมถึงกรณีเอกชนฟ้องเอกชนด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น