กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยกปมเด็ก 14 ฆ่าตัวตาย ขึ้นตรวจสอบ หวังหาแนวทางแก้ไข-ป้องกันปัญหาเชิงระบบ ไปยังรัฐบาล หน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
วันนี้ (19 พ.ค.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงกรณีเด็กนักเรียนหญิงอายุ 14 ปี ที่ประสบปัญหาครอบครัวและการเรียน ฆ่าตัวตาย ว่า กสม. มีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะสะท้อนให้เห็นว่ายังมีเด็กและเยาวชนที่ถูกละเลยจากสังคม ขาดความเข้าใจ การคุ้มครองทางร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการ จนเกิดปัญหาสุขภาพจิต และโอกาสในการศึกษา กสม. ขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวและญาติมิตรของเด็กหญิงรายดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ กสม. ได้พิจารณากรณีที่เกิดขึ้นแล้วเห็นในเบื้องต้น ว่า เด็กทุกคนควรได้รับการดูแลปกป้องจากทุกภาคส่วนในสังคม เด็กต้องมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด มีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง และมีสิทธิที่จะได้รับการพัฒนา อันสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ซึ่งได้ให้หลักประกันไว้ในข้อ 3 ว่า “ในการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันทางสังคมสงเคราะห์ของรัฐ หรือเอกชน ศาลยุติธรรม หน่วยงานฝ่ายบริหาร หรือองค์กรนิติบัญญัติ ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก” โดยเฉพาะข้อ 19.1 ที่กำหนดว่า “รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง ในด้านนิติบัญญัติ ด้านบริหาร สังคมและการศึกษา ในอันที่จะคุ้มครองเด็กให้พ้นจากการใช้ความรุนแรงในรูปแบบทั้งปวงทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระทำทารุณกรรม การทอดทิ้งหรือการเลี้ยงดูโดยมิชอบ การปฏิบัติโดยมิชอบหรือการแสวงประโยชน์ รวมถึงการล่วงเกินทางเพศ ขณะอยู่ในความดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองตามกฎหมาย หรือบุคคลอื่นใดซึ่งเด็กนั้นอยู่ในความดูแล”
ขณะที่การเข้าถึงและได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก็เป็นสิทธิตามกฎหมายที่เด็กทุกคนต้องได้รับตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 54 และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 บัญญัติรับรองไว้ โดย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 มาตรา 23 บัญญัติให้ผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามควร แต่ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำและต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ และในกรณีที่ผู้ปกครองตกอยู่ในสภาพไม่อาจให้การอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 28 พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้การสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก และเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนในเชิงโครงสร้างและป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเศร้าสลดที่ไม่สมควรเกิดขึ้นอีกในอนาคต กสม. จึงมีมติเห็นควรให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว เพื่อศึกษา วิเคราะห์ปัญหา และหามาตรการแก้ไข โดยจะจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงระบบเสนอไปยังรัฐบาล หน่วยงาน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“เราทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลและให้ความคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ด้วยมาตรฐานการดำรงชีพที่เพียงพอสำหรับการพัฒนาด้านร่างกาย สมอง จิตใจ ศีลธรรม และสังคมของเด็กตามที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กระบุ กรณีเศร้าสลดที่เกิดขึ้นนี้ จะต้องเป็นบทเรียนให้ผู้ใหญ่ได้หันมาตระหนักถึงสิทธิและคุณค่าของเด็กทุกคน รวมถึงหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา เพราะการคุ้มครองดูแลของผู้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อพัฒนาการของเด็กทุกคน ซึ่งจะเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีค่าของสังคมในวันข้างหน้า”