xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชี้ คลับเฮาส์บูลลี่คนอีสานละเมิดสิทธิ ชงหาทางควบคุม ดันยกร่าง กม.คุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม. เคาะผลตรวจสอบ ชี้ บูลลี่คนอีสานในคลับเฮาส์ละเมิดสิทธิฯ ชงหน่วยงานรัฐกำหนดมาตรการควบคุม สร้างค่านิยมใช้สื่อสร้างสรรค์ ดันยกร่าง กม. กฎหมายคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์

วันนี้ (5 พ.ค.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงผลการตรวจสอบกรณีเมื่อเดือน พ.ย. 64 บุคคลในสื่อสังคมออนไลน์กลุ่มคลับเฮาส์ คำพูดที่มีลักษณะเป็นการจงใจดูหมิ่น เหยียดหยาม และด้อยค่าคนอีสาน โดย กสม.เห็นว่า กรณีที่ผู้ถูกร้องได้ตั้งกลุ่มในสื่อสังคมออนไลน์ และมีการพูดคุยในลักษณะดังกล่าว รวมถึงยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น นักร้อง นักแสดง ถูกกล่าวถึงและวิพากษ์วิจารณ์ด้วย เป็นการทำให้คุณค่าในฐานะที่เกิดเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่นต่ำลง ทั้งยังมีผลกระทบต่อสิทธิในชื่อเสียงและเกียรติยศของบุคคล เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพที่เกินขอบเขตและละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ในชั้นนี้จึงเห็นว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ส่วนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับคำร้องทุกข์จากกรณีที่เกิดขึ้น ดำเนินการตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจ แต่เนื่องจากการตรวจสอบมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ทำให้ยังไม่อาจดำเนินคดีกับผู้ใดได้ ขณะที่หน่วยงานของรัฐอื่น เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงาน กสทช. ได้ก็ดำเนินการไปตามหน้าที่และอำนาจของแต่ละหน่วยงาน เพื่อตรวจสอบและหาแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก จึงเห็นว่า หน่วยงานได้ทำหน้าที่เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ถูกละเมิดตามสมควรแก่กรณีแล้ว อย่างไรก็ตาม สภาพปัญหาของภัยจากสื่อออนไลน์ในปัจจุบันมีความสำคัญและน่ากังวลมาก โดยเฉพาะการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ และประทุษวาจา เพื่อทำให้ผู้อื่นเสียหาย รู้สึกอับอาย และได้รับผลกระทบทางจิตใจ อันอาจนำไปสู่การกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีอื่นๆ โดยการกระทำลักษณะนี้มีแนวโน้มที่สูงขึ้น ประกอบกับเมื่อพิจารณามาตรการป้องกันหรือแก้ไข ทั้งในรูปแบบของข้อกฎหมาย หรือแนวปฏิบัติต่าง ๆ พบว่ายังมีข้อจำกัดและอาจไม่ทันต่อภาวะลุกลามของปัญหาที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาทางวิชาการหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยยังอุดมไปด้วยอคติต่อบุคคลที่มีความแตกต่าง โดยเฉพาะทางเชื้อชาติ เพศ และศาสนา หากไม่ได้รับการขจัดอคติดังกล่าว อาจนำไปสู่การกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ในการประชุม กสม. เมื่อวันที่ 2 พ.ค. จึงเห็นควรมีเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หารือร่วมกับสำนักงาน กสทช. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดมาตรการควบคุม ตรวจสอบ ดำเนินการทางการกฎหมาย กับผู้ทำผิดหรือทำไม่เหมาะสมทางออนไลน์ โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น การรายงานการกระทำที่ไม่เหมาะสม การสร้างค่านิยมที่ดีในการใช้งาน การพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อควบคุมการใช้งาน การบังคับให้ผู้ใช้งานยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้งาน การติดตามผู้กระทำความผิดเพื่อดำเนินคดี เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานข้อเสนอแนะนี้

ส่วนแนวทางการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา เพื่อให้นักเรียนและนักศึกษาได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการเคารพสิทธิมนุษยชน และร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม กรมกิจการเด็กและเยาวชน สร้างความรู้เท่าทันและความตระหนักในการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ เคารพในความเป็นส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงของผู้อื่น รวมถึงการรู้เท่าทันภัยจากสื่อออนไลน์ ให้กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมสร้างการตระหนักรู้ในประเด็นการเคารพสิทธิมนุษยชน และยอมรับความแตกต่างทางความคิด และความหลากหลายในสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันให้มีกฎหมาย หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้วให้มีเนื้อหาครอบคลุมการคุ้มครองเด็กจากภัยในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศหรือความผิดเกี่ยวกับเพศ




กำลังโหลดความคิดเห็น