สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมขับเคลื่อน จัดการสัมมนาเสนอผลการศึกษาต้นแบบการสร้างเครื่องมือป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมการข่มขืนกระทำชำเราทางสังคม
วันนี้ (3 พ.ค.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการสัมมนาเสนอผลการศึกษาต้นแบบการสร้างเครื่องมือป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมการข่มขืนกระทำชำเราทางสังคม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานกล่าวเปิด และร่วมปาฐกถาพิเศษ “บทบาทสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ต่อการสนับสนุนการวิจัยในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย” รศ.ดร.สุณี กัลป์ยะจิตร หัวหน้าโครงการวิจัย และทีมนักวิจัยได้นำเสนอสรุปผลการวิจัย “ต้นแบบการสร้างเครื่องมือป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน” พร้อมทั้งร่วมกันเสวนาหัวข้อ “เมื่อสังคมไทยปลอดภัยจาก (ภัย) ข่มขืน” โดย คุณปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณา หงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ณ โรงแรมเอสดี อเวนิว ปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการวิจัยในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย ซึ่งการสัมมนาเสนอผลการศึกษาโครงการ ต้นแบบการสร้างเครื่องป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา เป็นการนำเสนอผลการวิจัยจากแผนงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จาก วช. ซึ่ง เป็น 1 ในมิติของการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคมไทย ภายใต้ สังคมคุณภาพและความมั่นคง ในแผนงานหลัก ทุนท้าทายไทยเพื่อสังคมและความมั่นคงของชีวิต แผนงานย่อย สังคมไทยไร้ความรุนแรง ความรุนแรงในสังคมไทยถือเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่สามารถเกิดขึ้นได้กับประชาชนทุกกลุ่มเพศ และทุกวัย ดังนั้นการลดความรุนแรงในสังคมไทยจึงถือเป็นโจทย์ท้าทายหนึ่งที่สำคัญสำหรับการวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ทางสังคมให้กับคนไทยได้อย่างมั่นคง และสามารถนำไปสู่การลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย วช. มุ่งหวังว่าแผนงานวิจัย “ต้นแบบการสร้างเครื่องมือ ป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน” รวมถึงการศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับบทบัญญัติในคดีทางเพศ กฎหมาย ที่จะต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมให้ทันต่อเหตุการณ์ และในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เพื่อช่วยลดปัญหาความรุนแรงทางเพศและยกระดับคุณภาพชีวิต และความปลอดภัยให้แก่คนไทย ช่วยสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมไร้ความรุนแรงต่อไป
รศ.ดร.สุณี กัลป์ยะจิตร แห่ง มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า การศึกษาโครงการวิจัย จากการสร้างเครื่องมือป้องกันเพื่อลดปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เป็นการให้ความรู้ มาตรการ รูปแบบ แนวทางปฏิบัติ โดยผ่านสื่อวีดิทัศน์ แอปพลิเคชัน แผ่นพับความรู้ โดยแนวทางการสร้างเครื่องมือป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา โดยการจัดทำสื่อเพื่อป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โรงเรียนต้องส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกทักษะวิธีการรับมือเบื้องต้น ภายใต้สถานการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน ทั้งในกลุ่มครู อาจารย์ และนักเรียน เพื่อให้เกิดการรับมือหากกรณีที่ต้องพบเจอกับสถานการณ์จริง อีกทั้งสามารถหลบหลีกจากสถานการณ์เหล่านั้นได้อย่างปลอดภัย โรงเรียนต้องปลูกฝังค่านิยมที่ดีแก่นักเรียน การเคารพสิทธิความเสมอภาคระหว่างเพศ การแสดงพฤติกรรมทางเพศอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย ผู้นำชุมชนร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะ มีไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่อลดจุดเปลี่ยวในชุมชน ติดตั้งกล้อง CCTVในชุมชนเพื่อยกระดับมาตรการการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นและปัจจัยเสี่ยงในการถูกล่วงละเมิดทางเพศเพื่อเป็นการสอดส่องดูแลบุตรหลานเพิ่มความตระหนักรู้แก่คนในชุมชน ชุมชนปลอดภัยจากภัยอาชญากรรม
สำหรับช่วงการเสวนา “เมื่อสังคมไทยปลอดภัยจาก (ภัย) ข่มขืน คุณปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณา หงสกุลเพื่อเด็กและสตรี เปิดเผยว่า ปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนเป็นส่วนใหญ่เป็นปัญหาใหญ่ ที่จะต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โครงการจู่โจมเซฟตี้ ทีน โซน (Safety teen zone) ที่ได้ดำเนินการมาแล้วนั้นเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน โดยความร่วมมือกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกตรวจคุมเข้มในพื้นที่ล่อแหลมไม่ให้เกิดแหล่งมั่วสุมของเด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันเหตุร้ายภัยรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นทุกคนในสังคมจึงมีส่วนร่วมกันสอดส่องดูแลบุตรหลานในสังคมไทยให้ปลอดภัยจากภัยข่มขืน
ทั้งนี้ ครอบครัว โรงเรียน และชุมชนจึงเป็นกำลังที่สำคัญในการให้ความรู้เรื่องพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสมให้กับเยาวชนไทย งานวิจัยโครงการดังกล่าวจึงมีส่วนช่วยในการลดปัญหาภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นหากพิจารณาสภาพสังคมการทำให้ประชาชนอยู่อย่างปลอดภัยและสงบสุข ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน งานวิจัยต้นแบบชุดความรู้เครื่องมือป้องกันปัญหาการข่มขืนกระทำชำเรา และการศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติในคดีทางเพศกฎหมายการข่มขืนกระทำชำเราในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์และยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยผลลัพธ์ที่ได้จากนวนวัตกรรมตกรรมจะนำไปสู่การลดปัญหาอาชญากรรมทางเพศที่จะเกิดในอนาคต มีเป้าหมายของผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก้ปัญหาของประเทศได้อย่างแท้จริง