xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ชี้ กรมทางหลวงละเมิดสิทธิ ปชช.ออกแบบแยกต่างระดับ เวทีบริหารจัดการน้ำ มองท้องถิ่นขาดการมีส่วนร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กสม.ชี้ กรมทางหลวงละเมิดสิทธิในการมีส่วนร่วมชุมชน เมินความเห็นผู้ว่าฯ และชาวสุราษฎร์ ในการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ ด้านเวทีบริหารจัดการน้ำ ชี้ชุมชนท้องถิ่นยังขาดการมีส่วนร่วม แนะเร่งแต่งตั้ง คกก.ลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำ

วันนี้ (28 เมษายน 2565) เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 15/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

1. กสม. ชี้ กรมทางหลวงละเมิดสิทธิในการมีส่วนร่วมของชุมชนที่สุราษฎร์ธานี เสนอรับฟังอย่างจริงจัง ตั้งคณะทำงานหาข้อยุติร่วมกัน

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องสิบเอ็ดราย ในนามตัวแทนประชาชนชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ระบุว่า กรมทางหลวง ผู้ถูกร้อง ได้ว่าจ้าง บริษัทที่ปรึกษาเพื่อสำรวจและออกแบบโครงการทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 420 กับทางหลวงหมายเลข 401 (แยกท่ากูบ) และจุดตัดถนนเทศบาล (แยกตาปาน) ในพื้นที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่หลายครั้ง ในแต่ละครั้งประชาชน ได้แสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยให้มีการออกแบบก่อสร้างในรูปแบบอุโมงค์ทางลอด ซึ่งจะมีความเหมาะสมมากกว่าการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวถือว่าเป็นประตูเข้าสู่เมืองสุราษฎร์ธานี ที่เรียกว่า “ปากมังกร” และเป็นเส้นทางหลักสู่ถนนเฉลิมพระเกียรติ จึงไม่ควรมีสิ่งก่อสร้างสูงมาบดบังทัศนียภาพ แต่กรมทางหลวงและบริษัทที่ปรึกษาได้สรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นว่า ประชาชนเห็นด้วยในรูปแบบการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ ซึ่งไม่ตรงตามข้อเท็จจริงและความประสงค์ของประชาชน จึงขอให้ตรวจสอบ กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิของชุมชนที่สามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐ

ให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชนได้ ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 รับรองไว้ ประกอบกับมาตรา 58 ได้กำหนดหน้าที่ของรัฐว่าในการดำเนินการของรัฐหรือที่รัฐอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียของประชาชนหรือชุมชน รัฐต้องดำเนินการให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย กรณีนี้ แม้ผู้ถูกร้องและบริษัทที่ปรึกษาได้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อนำข้อมูลไปประกอบการสำรวจและออกแบบทางเลือกแล้ว แต่ในการพิจารณานำทางเลือกไปรับฟังความคิดเห็นกลับมิได้นำทางเลือกที่ประชาชนได้เสนอไปรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย และแม้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีหนังสือแจ้งยืนยันรูปแบบการก่อสร้างในแนวทางเดียวกับประชาชนในพื้นที่ไปยังกรมทางหลวงถึงสองครั้ง เพื่อให้การออกแบบและก่อสร้างสอดคล้องกับอัตลักษณ์ และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และสอดรับกับแผนพัฒนาของจังหวัด แต่ผู้ถูกร้องและบริษัทที่ปรึกษาไม่ได้นำความเห็นของทางจังหวัดและผู้ร้องมาดำเนินการรับฟังความเห็นของประชาชน
เรื่องนี้ กสม. เห็นว่า สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และหนังสือสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ไม่ได้รับรองและคุ้มครองเพียงแต่การมีส่วนร่วมในเชิงกระบวนการเท่านั้น แต่ข้อเสนอแนะและความเห็นของประชาชน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน จะต้องได้รับการพิจารณาอย่างมีนัยสำคัญจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ในการรับรองสิทธิในเชิงเนื้อหาด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 จึงมีมติว่า การจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 420 กับทางหลวงหมายเลข 401 (แยกท่ากูบ) และจุดตัดถนนเทศบาล (แยกตาปาน) ยังไม่สอดคล้องกับสิทธิในการมีส่วนร่วมของบุคคลและชุมชนอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมมีข้อเสนอแนะมาตรการในการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกรมทางหลวงในฐานะผู้ถูกร้อง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยให้ผู้ถูกร้องจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารูปแบบที่เหมาะสมในการสำรวจและออกแบบการก่อสร้างทางแยกต่างระดับของจุดตัดบริเวณแยกท่ากูบและแยกตาปานให้เชื่อมโยงกับการจัดการจราจรทั้งระบบในอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี โดยให้มีผู้แทนจังหวัดสุราษฎร์ธานี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงนักวิชาการด้านผังเมือง สถาปัตยกรรม สังคมและวัฒนธรรม หรือผู้ทรงคุณวุฒิในด้านที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อหารือและออกแบบการแก้ไขปัญหาแยกท่ากูบและแยกตาปานให้ได้ข้อยุติร่วมกัน โดยให้คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ แผนพัฒนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี และการบูรณาการการแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่ในภาพรวม และเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จให้นำรูปแบบที่เป็นข้อยุติร่วมกันดังกล่าว เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ ทั้งนี้ ให้จัดตั้งคณะทำงานดังกล่าวภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบของ กสม. และแจ้งความคืบหน้าผลการดำเนินการทุก 3 เดือน จนกว่าจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันทุกฝ่าย

2. เวทีบริหารจัดการน้ำ ชี้ชุมชนท้องถิ่นยังขาดการมีส่วนร่วม แนะเร่งแต่งตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์จัดการและบริการข้อมูลสาธารณะ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดเวทีเสวนา “Policy Dialogue ก้าวสู่ปีที่ 5 พระราชบัญญัติน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 : สิทธิมนุษยชนในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรม เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์น้ำ ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนระดมความคิดเห็นต่อแนวทางการบริหารจัดการน้ำบนฐานสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ ห้องประชุม 709 สำนักงาน กสม. และผ่านระบบออนไลน์ในประเด็นปัญหาการบริหารจัดการน้ำ นักวิชาการและภาคประชาสังคมได้ร่วมกันสะท้อนว่า แม้ปัจจุบันจะมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาเป็นระยะเวลาเกือบ 5 ปี

โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ตลอดจนจัดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำที่สะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำในประเทศตามกฎหมายฉบับนี้ยังมีลักษณะเป็นการรวมศูนย์อำนาจตัดสินใจโดยรัฐ เนื่องจากแม้กฎหมายจะกำหนดให้มีคณะกรรมการลุ่มน้ำอันมีองค์ประกอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่ แต่กลไกดังกล่าวยังจัดตั้งขึ้นอย่างล่าช้าและขาดการถ่วงดุลอำนาจในสัดส่วนที่เหมาะสม ทำให้ชุมชนยังไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ภาครัฐยังคงวางบทบาทเป็นผู้กุมอำนาจตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำซึ่งไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ ที่แท้จริงของการบัญญัติกฎหมายที่ต้องการสร้างมิติใหม่ในการมีส่วนร่วมของประชาชน

สำหรับการประเมินสถานการณ์น้ำในประเทศ กสม. ได้รับเสียงสะท้อนและข้อมูลทางวิชาการ ว่า ประเทศไทยอาจมิได้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยแต่ละลุ่มน้ำมีปริมาณน้ำพอเพียงที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทั้งภาคเกษตรกรรม ครัวเรือน และอุตสาหกรรม และแม้ในภาคอีสานก็ยังมีปริมาณน้ำฝนในระดับที่เพียงพอ แต่ปัญหาคือ ประเทศไทยยังขาดการวางแผนกักเก็บและบริหารจัดการน้ำ ในภาพรวม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้เข้าใจธรรมชาติของน้ำในพื้นที่โดยจะสามารถรายงานข้อมูลตลอดจนวางแผนและออกแบบการใช้และกักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ การกระจายอำนาจในการบริหารจัดการน้ำให้ลงไปในระดับพื้นที่โดยหน่วยงานรัฐส่วนกลางมีบทบาทเป็นเพียงผู้ติดตามกำกับดูแล จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายสะท้อนว่าต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ดี ชุมชนควรได้รับการส่งเสริมให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลปริมาณแหล่งน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ที่หน่วยงานรัฐรวบรวมไว้เพื่อออกแบบและจัดทำแผนที่น้ำระดับชุมชนของตนด้วย

“การบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืนในแต่ละลุ่มน้ำนั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับท้องที่ ชุมชน และร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำและองค์กรผู้ใช้น้ำ เพื่อให้การจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำและการพิจารณาจัดทำโครงการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆ สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ในลุ่มน้ำ การดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของชุมชนในแต่ละพื้นที่ และความต้องการใช้น้ำของแต่ละกลุ่ม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Impact Assessment : SEA) ของแผนแม่บทลุ่มน้ำ และมีการประเมินความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือน้ำเสีย เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้งการเยียวยาความเสียหาย โดยบูรณาการการทำงานของหน่วยงานของรัฐที่ใช้น้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนจังหวัด จึงจะเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน อันสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

3. กสม. เผยผลการประสานการคุ้มครองกรณีชาวบ้านปิล๊อกคี่ถูกขับไล่ออกจากอุทยาน ฐานล่าเสือโคร่ง อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ปรับแก้คำสั่งและกำหนดแนวทางแก้ปัญหาร่วมกันแล้วตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมกราคม 2565 จากชาวบ้านหมู่บ้านปิล๊อกคี่ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 5 ราย ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือโคร่ง) ที่ใกล้สูญพันธุ์ และข้อหาอื่น ๆ รวม 11 ข้อหา โดยชาวบ้านระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อป้องกันอันตรายจากเสือโคร่งที่จะเข้ามากัดกินฝูงปศุสัตว์ในหมู่บ้าน และเป็นผลให้อุทยานแห่งชาติเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี ผู้ถูกร้อง มีคำสั่งขับไล่ผู้ร้องกับพวกทั้ง 5 ราย รวมถึงญาติพี่น้องออกจากบ้านพักอาศัยและให้รื้อถอนบ้านพักหรือโรงเรือนออกไปให้พ้นเขตอุทยานแห่งชาติฯ ภายใน 30 วัน ซึ่งเรื่องนี้ กสม. เห็นว่า เป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และควรได้รับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน จึงได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคำร้องและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565

ต่อมา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 กสม. ได้รับการแจ้งผลการดำเนินงานจากอุทยานแห่งชาติเขาแหลม และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) สรุปว่า ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้ว พบว่า ชาวบ้านผู้ร้องกับพวกเป็นเพียงผู้อาศัยในบ้านเท่านั้น มิได้เป็นเจ้าของบ้าน อีกทั้งบุคคลอื่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นในการกระทำความผิดของผู้ร้องกับพวกจึงแก้ไขคำสั่งเดิมที่กำหนดให้ผู้ร้องกับพวก รวมถึงญาติหรือบริวารออกไปให้พ้นจากเขตอุทยานแห่งชาติฯ เป็นกำหนดให้เฉพาะผู้ร้องกับพวกรวม 5 คน ออกไปให้พ้นจากเขตอุทยานแห่งชาติฯ

นอกจากนี้ กสม.ยังได้รับแจ้งด้วยว่า อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเสือที่มากัดกินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน ร่วมกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายแล้ว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ได้พิจารณาผลการแก้ไขปัญหาของหน่วยงาน และเห็นว่าปัญหาได้รับการแก้ไขตามสมควรแล้ว จึงมีมติเห็นชอบผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน






กำลังโหลดความคิดเห็น