xs
xsm
sm
md
lg

ทล.ฟังเสียงชาวบุรีรัมย์ เร่งออกแบบทางเลี่ยงเมืองนางรอง(ด้านใต้) ตัดแนวใหม่ผ่านพื้นที่ 6 ตำบล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทางหลวง ฟังเสียงชาวบุรีรัมย์ เดินหน้าออกแบบทางเลี่ยงเมืองนางรอง (ด้านใต้) 4 เลน ยาว 20กม.เปิดแนวถนนใหม่ ผ่าน 6 ตำบล เวนคืนกว้าง 60 เมตร แก้รถติดตัวเมือง รองรับการคมนาคมขนส่งในอนาคต

วันที่ 26 เม.ย. 2565 ณโรงแรมเอกลดา อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่ ครั้งที่ 1 (การประชุม ครั้งที่ 1) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจรทางเลี่ยงเมืองนางรอง(ด้านใต้)เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ วัตถุประสงค์ ขอบเขตขั้นตอนการศึกษา และแนวคิดการพัฒนาโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม

สำหรับ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเมืองที่มีอัตราการขยายตัวด้านเศรษฐกิจสูง เนื่องจากมีการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้ความต้องการเดินทางในเขตเมืองนางรองสูงมากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านโครงข่ายถนนเพื่อรองรับปัญหาการจราจรและขนส่งในอนาคต จากการสำรวจสภาพพื้นที่ปัจจุบันของเมืองนางรองพบว่า มีเพียงทางหลวงหมายเลข 24 เป็นถนนสายหลักเพียงเส้นทางเดียว โดยทั้งสองฝั่งถนนมีกิจกรรมการค้า และสถานที่ราชการจำนวนมาก อีกทั้งมีการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบริเวณจุดตัดทางแยกในระยะห่างเพียง 1-2 กิโลเมตร จำนวน 5 ทางแยก จึงทำให้การจราจรในตัวเมืองนางรองติดขัด

กรมทางหลวง จึงได้ดำเนินการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอ 21 คอนซัลแตนท์ จำกัด สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง และบริษัท ลูเซ่ ครีเอชั่น จำกัด ดำเนินการศึกษาโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองนางรอง (ด้านใต้) โดยมีวัตถุประสงค์โครงการ เพื่อดำเนินการออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) ประมาณราคาค่าก่อสร้าง และเพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ตลอดแนวเส้นทางโครงการ โดยมีระยะเวลาการศึกษาโครงการทั้งหมด 450 วัน

สำหรับแนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ทางหลวงหมายเลข 24 และมีจุดสิ้นสุดโครงการที่ ทางหลวงหมายเลข 218 ระยะทางรวมประมาณ 20 กิโลเมตร โดยแนวเส้นทางโครงการอยู่บริเวณ ตอนใต้ของเมืองนางรอง
มีลักษณะเป็นพื้นที่สูงสลับกับภูเขาทางตอนใต้ มีการกระจายตัวของชุมชนบริเวณริมทางหลวง สลับกับพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่โล่งเป็นส่วนมาก ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาเส้นทางโครงการตามแนวสายทางในอำเภอนางรองทั้ง 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลนางรอง ตำบลหนองโบสถ์ ตำบลสะเดา ตำบลถนนหัก และ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ทั้ง 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลเจริญสุข และตำบลอีสานเขต

ส่วนแนวคิดในการออกแบบทางเลี่ยงเมืองนางรอง จะให้ความสำคัญแก่การปรับแนวเส้นทางหลักเพื่อเลี่ยงเมือง ลดปัญหาจุดตัดระหว่างแนวเส้นทางโครงการกับถนนขนาดเล็ก เชื่อมต่อพื้นที่ชุมชนด้วยการยกระดับทางหลักเป็นสะพานบก และเกาะกลางแบ่งทิศทางการจราจร เพื่อให้ชุมชนโดยรอบสามารถเดินทางเชื่อมต่อระหว่าง 2 ฝั่งของโครงการได้ และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยดำเนินการในพื้นที่เวนคืนเขตทางกว้างประมาณ 60 เมตร โดยกำหนดเส้นทางเลี่ยงเมืองให้เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร มีความกว้างช่องละ 3.50 เมตร

 นอกจากนี้ จัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ตั้งแต่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด จะดำเนินการศึกษาจากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการข้างละ 500 เมตร สำหรับแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี จะศึกษาในระยะ 1 กิโลเมตร

ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาและออกแบบรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง












กำลังโหลดความคิดเห็น