ทางหลวงชนบทเข้าพื้นที่เริ่มก่อสร้างถนนสาย ข1 ผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ เกือบ 2 กม. คาดแล้วเสร็จต้นปี 2567 เพิ่มประสิทธิภาพเชื่อมการคมนาคมขนส่งสินค้า กรุงเทพฯ-จ.สมุทรปราการ และสนามบินสุวรรณภูมิ สมบูรณ์
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบทได้เริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย ข1 ผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 1.925 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 157.85 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการให้มีความสมบูรณ์ สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้นจากชุมชนเมืองในอนาคตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้ประชาชนใช้งานในช่วงต้นปี 2567
ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรปราการเป็นจังหวัดที่ได้รับอิทธิพลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของชุมชนเมือง เนื่องจากมีพื้นที่ตั้งอยู่ติดกรุงเทพมหานครจึงเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางน้ำและทางอากาศ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาโครงข่ายเส้นทางในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคมให้สมบูรณ์และสามารถรองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ประกอบกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้กรมทางหลวงชนบทสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างและขยายถนนสายกิ่งแก้ว-คลองสิงห์โต
ดังนั้น ทช.จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสาย ข1 ผังเมืองรวมเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ กับเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร (ระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3256 หรือถนนกิ่งแก้ว กับถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก) ช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางระหว่างจังหวัดได้อย่างสะดวกปลอดภัย พร้อมกับเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกสู่สนามบินสุวรรรณภูมิให้มีความต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น
โครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม.ที่ 0+000 เชื่อมจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3256 (ถนนกิ่งแก้ว) ประมาณ กม.ที่ 17+090 ด้านซ้ายไปทางทิศตะวันตกตามแนวถนนคอนกรีตเดิม (สป.4008 หรือ ซอยกิ่งแก้ว 25/1) ตัดผ่านคลองชวด-ลากข้าว และคลองสิงห์โต มีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.ที่ 1+925 บรรจบกับถนนของเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร และเชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกตะวันออก รวมระยะทาง 1.925 กิโลเมตร
โดยมีรูปแบบการก่อสร้างเป็นผิวจราจรขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.25 เมตร ทางเท้ากว้างข้างละ 3 เมตร ซึ่งตั้งแต่ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 0+100 ก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และช่วง กม.ที่ 0+100 ถึง กม.ที่ 1+925 ก่อสร้างเป็นผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต พร้อมก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 2 แห่ง ติดตั้งระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยตลอดสายทาง
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2565 ได้มีการจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อนการดำเนินงาน เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดและแนวทางการดำเนินงาน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ พร้อมลงนามบันทึกความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างเจ้าหน้าที่โครงการ ผู้รับจ้าง และผู้นำชุมชน เพื่อให้โครงการมีความสอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่าย