xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เป็นประธานงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงคมนาคม ครบรอบ 110 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงคมนาคม จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงคมนาคม ครบรอบ 110 ปี เดินหน้าพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ ให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา มีประสิทธิภาพ ลดค่าครองชีพ ประชาชนทุกระดับ เข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทุกระบบ
วันนี้ (1 เม.ย.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงคมนาคม ครบรอบ 110 ปี โดยมี นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมในพิธี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ณ อาคารสโมสรและหอประชุม กระทรวงคมนาคม
กระทรวงคมนาคม ได้ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนชื่อจากกระทรวงโยธาธิการ เป็นกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2455 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์) ดำรงตำแหน่งเสนาบดี มีหน้าที่กำกับดูแลคมนาคมบก ทางน้ำ ทางรางและไปรษณีย์ โทรเลขในยุคสมัยแรก

ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม ได้เข้าสู่ปีที่ 110 ภายใต้การนำของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินหน้าพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ ให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา มีประสิทธิภาพ ลดค่าครองชีพ ทำให้ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทุกระบบ โดยกระทรวงคมนาคมมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งที่เป็นแผนระยะกลางและแผนระยะยาว ดังนี้ 1. การคมนาคมขนส่งทางบก ได้แก่ 1) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 สายทาง คือ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) 2) โครงการก่อสร้างทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก 3) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (ยกระดับ) สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย และช่วงที่ 2 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว และ 4) โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 3 สายทาง คือ M5 ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง และ M7 ต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา พร้อมทั้งเปิดใช้ระบบผ่านทางพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่าน เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางบนท้องถนน

2. การคมนาคมขนส่งทางราง ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจะมีระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร 2) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปการขนส่งระบบรถไฟทั่วประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง 3) โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค โดยเร่งดำเนินการ 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และช่วงที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย และ 4) โครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

3. การคมนาคมขนส่งทางน้ำ ได้แก่ โครงการท่าเรือบก (Dry Port) จะเป็นศูนย์กลางในการขนถ่ายสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งต่อไปทางรถไฟได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงเวลา ซึ่งตามแผนแม่บท การพัฒนาท่าเรือบกได้กำหนดพื้นที่ไว้ 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ และฉะเชิงเทรา

4. การคมนาคมขนส่งทางอากาศ ด้วยประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของผู้คนทั่วโลก กระทรวงคมนาคมจึงมีความมุ่งมั่นที่จะรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ โดยมีโครงการพัฒนาท่าอากาศยานต่างๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้กำหนดแผนงานสำหรับอนาคตของประเทศ โดยได้เริ่มดำเนินการศึกษาจัดทำแผนและพร้อมเดินหน้าโครงการที่สำคัญ เช่น การศึกษาจัดทำแผนแม่บท MR-Map เป็นการพัฒนาแนวโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ ประกอบด้วย 10 เส้นทางทั่วประเทศ และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ เป็นการพัฒนาท่าเรือเชื่อมอ่าวไทย และอันดามัน พร้อมกับบูรณาการการขนส่งทางถนน ทางท่อ และทางราง เชื่อมต่อเป็นโครงข่ายเพื่อเปิดประตูการค้าและเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของประเทศไทย ไปยังประเทศในฝั่งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม รูปแบบการพัฒนา การลงทุนโครงการ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

กระทรวงคมนาคม มีความมุ่งมั่นในการเดินหน้าภารกิจเพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและจราจรในภูมิภาค กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รวมทั้งดำเนินโครงการพัฒนาเชิงรุกโดยยึดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง






กำลังโหลดความคิดเห็น