“คมนาคม”ครบ110 ปี เดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งและจราจร ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งมอเตอร์เวย์ ทางด่วน รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า สนามบินและทางน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพบริการ ประชาชนเข้าถึงสะดวก ลดค่าครองชีพ และลดต้นทุนโลจิสติกส์ประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค
วันที่ 1 เม.ย. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงคมนาคม ครบรอบ 110 ปี โดยมี นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมในพิธี ณ อาคารสโมสรและหอประชุม กระทรวงคมนาคม
กระทรวงคมนาคม ได้ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนชื่อจากกระทรวงโยธาธิการ เป็นกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2455 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว. สท้าน สนิทวงศ์) ดำรงตำแหน่งเสนาบดี มีหน้าที่กำกับดูแลคมนาคมบก ทางน้ำ ทางรางและไปรษณีย์ โทรเลขในยุคสมัยแรก
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ ให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา มีประสิทธิภาพ ลดค่าครองชีพ ทำให้ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทุกระบบ โดยกระทรวงคมนาคมมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยมีโครงการสำคัญ
ด้านการขนส่งทางบก ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) 2 สายทาง คือ สายบางปะอิน - นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่ - กาญจนบุรี (M81) 2. โครงการก่อสร้างทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอก 3. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (หรือทางยกระดับ) สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว ช่วงที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน - เอกชัย และช่วงที่ 2 ช่วงเอกชัย – บ้านแพ้ว
โครงการที่อยู่ในแผนงาน ได้แก่ มอเตอร์เวย์ 3 สายทาง คือ M5 ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) , M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน – บางบัวทอง และ M7 ต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา โดยจะเปิดใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่าน
การขนส่งทางราง ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามแผนแม่บทฯ โดยรถไฟฟ้าทั้งหมด 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร 2. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปการขนส่งระบบรถไฟทั่วประเทศ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง 3. โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ - นครราชสีมา และช่วงที่ 2 นครราชสีมา - หนองคาย และ 4.โครงการถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา)
การขนส่งทางน้ำ ได้แก่ โครงการท่าเรือบก (Dry Port) จะเป็นศูนย์กลางในการขนถ่ายสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งต่อไปทางรถไฟได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงเวลา ซึ่งตามแผนแม่บท การพัฒนาท่าเรือบกได้กำหนดพื้นที่ไว้ 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ และฉะเชิงเทรา
การขนส่งทางอากาศ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ เนื่องจากประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของผู้คนทั่วโลก
นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมได้กำหนดแผนงานสำหรับอนาคตของประเทศ โดยได้เริ่มดำเนินการศึกษาจัดทำแผนและพร้อมเดินหน้าโครงการที่สำคัญ เช่น การศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาแนวโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ (MR-Map ) จำนวน 10 เส้นทางทั่วประเทศ และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ พร้อมกับบูรณาการการขนส่งทางถนน ทางท่อ และทางราง เชื่อมต่อเป็นโครงข่ายเพื่อเปิดประตูการค้าและเส้นทางเดินเรือแห่งใหม่ของประเทศไทย ไปยังประเทศในฝั่งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม รูปแบบการพัฒนา การลงทุนโครงการ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและจราจรในภูมิภาค กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รวมทั้งดำเนินโครงการพัฒนาเชิงรุกโดยยึดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง