xs
xsm
sm
md
lg

เร่งเคลียร์ปมมรดกโลกระนองดัน "แลนด์บริดจ์" "คมนาคม" ถกร่วม ทส.หาทางออกก่อนชง "นายกฯ" ชี้ขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คมนาคมเร่งถก ทส.เคลียร์ปมมรดกโลกป่าชายเลนระนอง ดันเดินหน้าท่าเรือน้ำลึก "แลนด์บริดจ์" ชุมพร-ระนอง เตรียมชง "นายกฯ" ชี้ขาด เลือกอนุรักษ์เพื่อท่องเที่ยวหรือพัฒนาเศรษฐกิจ 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ชุมพร-ระนอง ว่า  ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โดยเบื้องต้นได้คัดเลือกทำเลที่จะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยแล้ว เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม และนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป  

ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดระนองมีพื้นที่อุทยานและมีประเด็นเรื่องการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ดังนั้น จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงคมนาคม กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  (ทส.) ขึ้นมาหารือในประเด็นดังกล่าวร่วมกันก่อน เพราะคงไม่สามารถดำเนินการเรื่องมรดกโลกไปพร้อมกับการพัฒนาแลนด์บริดจ์ได้ โดยต้องประเมินว่าหากจะเดินหน้าแลนด์บริดจ์ไปก่อนเพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ จากการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก ระบบการขนส่งเชื่อมต่อมายังอ่าวไทยและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ก็จำเป็นต้องชะลอเรื่องมรดกโลกออกไป 

แต่หากต้องการเดินหน้าเรื่องมรดกโลกตามแผนเดิม เพื่อพัฒนาและสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยว จะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์อาจต้องล่าช้าออกไป หรืออาจจะเกิดได้ยากเนื่องจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่มรดกโลกจะต้องมีการประสานกับหน่วยงานต่างประเทศ อีกทั้งจะต้องมีการศึกษาเรื่อง HIA (Heritage Impact Assessment) ผลกระทบมรดกวัฒนธรรม เหมือนกรณีก่อสร้างสถานีอยุธยา ในโครงการรถไฟความเร็วสูง "ไทย-จีน"

"กระทรวงคมนาคมและ ทส.ต้องร่วมกันพิจารณาว่าจะเดินหน้าแลนด์บริดจ์ก่อน หรือจะเอามรดกโลกก่อน แนวโน้มที่คาดว่าจะเหมาะสมคือ ให้เดินหน้าแลนด์บริดจ์และชะลอเรื่องมรดกโลกไว้ก่อน ซึ่งต้องให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจ"

รายงานข่าวแจ้งว่า ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่จ.ระนองให้ความสนใจในการศึกษาโครงการท่าเรือน้ำลึกระนองเป็นอย่างมาก โดยเบื้องต้นพบว่าท่าเรือน้ำลึกจะอยู่ที่บริเวณอ่าวอ่าง รอยต่อของ อ.เมือง กับ อ.กะเปอร์ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง กับอุทยานแห่งชาติแหลมสน เป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่กำลังดำเนินการนำเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ขณะที่โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงต้องประเมินความคุ้มค่า ผลดีผลเสีย 

 อย่างไรก็ตาม คาดว่ากระทรวงคมนาคมอาจจะเสนอให้ทาง ทส.ปรับโซนพื้นที่มรดก เช่น ถอดพื้นที่บางส่วนออก หรือกำหนดขอบเขตพื้นที่มรดกโลกได้หรือไม่ เนื่องจากหากมรดกโลกครอบคลุมอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง กับอุทยานแห่งชาติแหลมสน จะมีระยะบับเบิลโซนประมาณ 3 กม. ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกได้ 

สำหรับกรอบการศึกษาสะพานเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนองในปี 2564 สนข.ได้ทบทวนยุทธศาสตร์การค้าและการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงสองฝั่งทะเล การเชื่อมสินค้าระหว่างอ่าวไทยกับอันดามันในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และศึกษาทำเลที่ตั้งท่าเรือทั้งสองฝั่ง 

ส่วนในปี 2565 จะศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมออกแบบ Conceptual design ของท่าเรือ จากนั้นจึงเป็นการจัด Market Sounding ทดสอบความสนใจนักลงทุนเพื่อหารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม จากนั้นจะมีการจัดโรดโชว์ตั้งแต่ช่วงเดือนมิ.ย. 2565 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้มีทูตจากหลายประเทศเข้าพบและแสดงความสนใจโครงการแลนด์บริดจ์นี้อย่างมาก 

ส่วนในปี 2566 จะเป็นการ Business Model และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือน ต.ค. 2566 คาดว่าจะเปิดประมูลหาเอกชนผู้ร่วมทุนในปี 2567-2568 ได้ตัวผู้ร่วมทุนและเริ่มก่อสร้างโครงการในปี 2568 และคาดหมายเปิดให้บริการในปี 2573 

รายงานข่าวระบุว่า การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่จ.ชุมพร และ จ.ระนอง พร้อมระบบขนถ่ายสินค้าที่เป็นระบบออโตเมชัน จะมีเส้นทางรถไฟและมีมอเตอร์เวย์และระบบท่ออยู่ด้านข้าง เชื่อมท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันกับอ่าวไทยเข้าด้วยกัน โดยใช้เวลาวิ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมง 

โดยตำแหน่งท่าเรือฝั่งอ่าวไทย จ.ชุมพร มีจุดเหมาะสม 2 ตำแหน่ง คือ บริเวณแหลมริ่ว และบริเวณแหลมคอเขา ส่วนท่าเรือฝั่งอันดามัน จ.ระนอง มีจุดเหมาะสม 1 ตำแหน่งที่แหลมอ่าวอ่าง




กำลังโหลดความคิดเห็น