กระทรวงสาธารณสุข เปิดตัว โครงการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาและกลไกพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็ก เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ให้กับบุคลากรศูนย์พึ่งได้
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน แถลงข่าว เปิดตัวโครงการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาและกลไกพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็กของกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายซึ่งกองบริหารการสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก(FACE Foundation-Fight Against Child Exploitation) จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ให้กับบุคลากรศูนย์พึ่งได้ หรือ ศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง (One Stop Crisis Center, OSCC) กระทรวงสาธารณสุข ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
นายแพทย์เกียรติภูม กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาและกลไกพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็กของกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่าย มีจุดประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองเด็กของกระทรวงสาธารณสุข และผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนารูปแบบของการให้ความรู้การฝึกทักษะ ผ่านรูปแบบบทความและสื่อชนิดต่างๆ รวมถึงการอบรมระยะสั้น การตอบคำถาม และจัดระบบนัดหมายเพื่อพบกับที่ปรึกษาส่วนตัว ผ่านระบบออนไลน์ เป็นการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็กของกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่าย เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ให้กับบุคลากรศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายทางสังคมต่างๆ
การให้ความช่วยเหลือเด็กที่ถูกทำร้ายและละเลยทอดทิ้ง ในระยะเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลายฉบับ อาทิเช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการสืบพยานเด็ก พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยมุ่งเน้นการกำหนดบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้มีหน้าที่ดูแลเด็กในทุกระดับ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้รับการดูแลตามมาตรฐานขั้นต่ำที่เหมาะสมกับวัย โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่มีโอกาสพบเจอกลุ่มเด็กที่เข้ารับความช่วยเหลือจากการถูกทำร้ายและละเลยทอดทิ้ง
นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อไปว่า การกระทำรุนแรงกับเด็กและสตรีนั้นมีมานานมีความพยายามที่จะแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องเป็นปัญหาที่มีตวามซับซ้อน ดังนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะเกี่ยวกับกระบวนการปฏิบัติงานคุ้มครองเด็ก โครงการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาและกลไกพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองเด็กของกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่าย จึงเป็นช่องทางเพื่อให้บุคลากรผู้รับผิดชอบงานศูนย์พึ่งได้ ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และเครือข่ายทางสังคม ได้มีองค์ความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิในการให้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งมีความเข้าใจ ในการดำเนินงานด้านการคุ้มครองเด็กและสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานทางด้านอารมณ์จิตใจในการปฏิบัติงาน ปัญหาความเครียด ความกังวล และปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"แต่คนให้คำปรึกษาเองเมื่อฟังปัญหามากๆก็อาจเกิดความเครียด จำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน จึงมีโครงการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาและกลไกพัฒนาเพื่อช่วยเหลือพัฒนาเจ้าหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษา" นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าว
สำหรับท่านที่ประสบปัญหาการใช้ความรุนแรงในเด็กและสตรีสามารถขอรับคำปรึกษาจาก "ศูนย์พึ่งได้" ที่เว็บไซต์ OSCC.Consulting .