xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมเปิด พ.ย.นี้! สนามบิน “สามเหลี่ยมทองคำ” คืบหน้า 75%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ความคืบหน้าล่าสุดของการก่อสร้างสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ
MGR Online - สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ตรงข้ามเชียงแสน คืบหน้าแล้ว 75% คาดจะแล้วเสร็จ เปิดรับสายการบินในประเทศที่จะพานักเสี่ยงโชคมาเที่ยวได้ในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้

นายหงคำ อุดมจิด หัวหน้าโครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติบ่อแก้ว ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง ตรงข้ามอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เปิดเผยถึงการก่อสร้างโดยรวม ณ วันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมาว่าคืบหน้าแล้ว 75% โดยมี 3 เนื้องานหลักที่สร้างเสร็จแล้ว ประกอบด้วย เส้นทางขึ้น-ลงของเครื่องบิน (runway) เส้นทางเชื่อมระหว่างรันเวย์กับหลุมจอด (taxi way) และลานจอดเครื่องบิน (APRON)

นายหงคำ กล่าวว่า ตามแผนที่กำหนดไว้ หลังเริ่มต้นการก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 สนามบินนานาชาติบ่อแก้วจะใช้เวลาสร้าง 18 เดือน แต่เนื่องจากเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างต้องล่าช้ากว่ากำหนด


สำหรับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หอบังคับการบิน อาคารเทคนิค ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งสร้างให้เสร็จตามแผนในเดือนมิถุนายน จากนั้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงตุลาคมจะเป็นงานวางระบบสื่อสาร ติดตั้งอุปกรณ์วิทยุการบิน รวมถึงสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ คาดว่าการก่อสร้างทั้งหมดจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศได้ก่อนในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

ด้านนายจื่อซง จงย่า 1 ในคณะรับผิดชอบมาตรฐานและความปลอดภัยสนามบิน กรมการบินพลเรือน กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง เปิดเผยรายละเอียดของสนามบินนานาชาติบ่อแก้วว่า ได้รับการออกแบบภายใต้มาตรฐาน CODE : 4C รันเวย์ยาว 2,500 x 45 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินโบอิ้ง 737ER แอร์บัส A320 A321 หรือเครื่องบินที่มีขนาดความจุไม่เกิน 200 ที่นั่ง ส่วนอาคารผู้โดยสารถูกออกแบบให้รองรับผู้โดยสารได้ 600 คนในเวลาเดียวกัน หรือปีละประมาณ 1.5-2 ล้านคน

นายจื่อซง จงย่า บอกว่า สนามบินนานาชาติบ่อแก้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น เชื่อมต่อการคมนาคมระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำกับพื้นที่ต่างๆ อำนวยความสะดวกในการลงทุน ท่องเที่ยว ทั้งภายในและต่างประเทศ

สนามบินนานาชาติบ่อแก้วถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ 300 เฮกตาร์ หรือ 1,875 ไร่ ในเขตบ้านสีเมืองงาม เมืองต้นผึ้ง ตรงข้ามกับตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน ห่างจากย่านพาณิชย์และเขตเมืองของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 5 กิโลเมตร สัมปทานก่อสร้างเป็นแบบ BOT อายุสัมปทาน 50 ปี ใช้งบประมาณก่อสร้าง 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ.




กำลังโหลดความคิดเห็น