“คมนาคม” เร่งพัฒนา 77 โครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด ภาพรวมคืบหน้า 80% พร้อมวางแนว MR-MAP เชื่อมกับพื้นที่ 4 เขต ศก.พิเศษ และรถไฟทางคู่ ขอนแก่น-หนองคาย เชื่อมท่าเรือบก
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ครั้งที่ 1/2565 ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ กรมชลประทาน กรมป่าไม้ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมวิชาการเกษตร กรมศุลกากร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางราง กรมท่าอากาศยาน การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565
นายชยธรรม์ พรหมศร กล่าวว่า ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดตาก สระแก้ว มุกดาหาร ตราด สงขลา หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส และเชียงราย โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและบริเวณใกล้เคียงให้มีคุณภาพมาตรฐาน และสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายหลักของประเทศ พัฒนาด่านศุลกากรและจุดผ่านแดนให้เกิดความสะดวกและได้มาตรฐานสากล รวมทั้งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้มีความสอดคล้องกับศักยภาพและความต้องการของประชาชนในพื้นที่
สำหรับการดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2558-2565 มีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 39,910 ล้านบาท มีแผนงาน/โครงการจำนวน 203 โครงการ ประกอบด้วย ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม จำนวน 77 โครงการ ด้านสาธารณูปโภค (ชลประทาน/ไฟฟ้า/ประปา/นิคมอุตสาหกรรม) จำนวน 62 โครงการ และด้านด่านศุลกากรและด่านชายแดน จำนวน 42 โครงการ คิดเป็นความก้าวหน้าการดำเนินงาน 89.16% คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี พ.ศ. 2570
ทั้งนี้ ในส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะด้านคมนาคมใน 10 พื้นที่ ครอบคลุมทั้งในด้านการคมนาคมขนส่งระบบสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ การพัฒนาด่านพรมแดน/ด่านศุลกากร การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคม ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามแผน มีผลการดำเนินงานที่ 80%
โดยมีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ เช่น ทางหลวงหมายเลข 12 ตาก-แม่สอด อาคารท่าอากาศยานแม่สอด สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ด่านพรมแดนแม่สอดแห่งที่ 2 (เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก) ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ (เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา) ด่านบ้านพุน้ำร้อน (เขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี) ทางหลวงหมายเลข 3 ตราด-หาดเล็ก ตอนแยก ต.ไม้รูด-บ.คลองจาก (เขตเศรษฐกิจพิเศษตราด) ทล.22 สกลนคร-นครพนม (เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม) อาคารที่ทำการด่านศุลกากรเชียงแสนแห่งใหม่ และศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบ การขนส่งสินค้าเชียงของ (เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย) นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว (เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว) และนิคมอุตสาหกรรมสงขลา (เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา) เป็นต้น นอกจากนี้ มีการพัฒนาและบริหารจัดการการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว (เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย)
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เร่งรัดดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญตามมติ กพศ. ครั้งที่ 1/2564 ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท) การก่อสร้างถนนแยก ทล.4-ด่านสะเดา แห่งที่ 2 การพัฒนาถนนเข้าพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย และการพัฒนาถนนเข้าพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ ทช.เร่งดำเนินการพัฒนาโครงการถนนสาย ทล.2-สถานีรถไฟนาทา อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย โดยให้จัดทำแผนงานสอดคล้องกับการพัฒนาย่านขนส่งสินค้าทางรถไฟนาทา (Transshipment Yard) ของ รฟท. รวมทั้งการดำเนินงานปรับปรุงถนนเชื่อมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารให้สอดคล้องกับการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจของพื้นที่
สำหรับความเชื่อมโยงแผนด้านโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการดำเนินงานในระยะต่อไป ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการการเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชายแดน 10 แห่ง ระเบียงเศรษฐกิจ 4 พื้นที่-พื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ โดยบรรจุแผนแม่บท MR-MAP ในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเร่งรัดการพัฒนารถไฟทางคู่ ช่วงโคราช-หนองคาย ควบคู่กับการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port)
รวมทั้งที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าและแผนการดำเนินงานด้านด่านศุลกากร และด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการดำเนินงานในอนาคต ทั้งนี้ ได้มอบหมาย สนข.ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายละเอียดโครงการ รวมทั้งจัดทำสรุปความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน นำเสนอในที่ประชุม กพศ. ครั้งที่ 1/2565 ในคราวประชุมครั้งต่อไป