xs
xsm
sm
md
lg

ลาวฉุนขาด! อัดยับ NBT สื่อ รบ.ไทย "โง่ อวดฉลาด" ดูหมิ่นคนลาวไม่มีเงินซื้อตั๋วรถไฟ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หน้าของบทความของหนังสือพิมพ์ลาวพัฒนา “กินข้าวเฮือนโต โสเรื่องเฮือนอื่น” (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.laophattananews.com/archives/120279)
MGR Online - ปมความเห็นขัดแย้งเรื่องรถไฟลาว-จีนยังไม่สงบ สื่อรัฐบาลลาวอัดยับสื่อไทย “บางคน” ไร้มารยาท-จรรยาบรรณ เสนอข่าวบิดเบือนเบือน ดูถูกคนลาวว่าไม่มีเงินซื้อตั๋ว ถามไม่ได้มาช่วยใช้หนี้แล้วเดือดร้อนอะไรด้วยถ้าลาวเป็นหนี้จีน แนะหัดใช้สมองส่วนที่ฉลาดที่สุดคิดก่อนถ้าจะวิจารณ์ประเทศอื่น

วานนี้ (19 ธ.ค.) สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอบทความยาว 12.30 นาที ในหัวข้อ “สายตาอคติของนักข่าวไทยบางคนต่อรถไฟลาว-จีน” เนื้อหาพูดถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในประเทศไทยบางแห่งเกี่ยวกับทางรถไฟสายนี้ ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม โดยมีคำพูดบางคำที่ค่อนข้างแรง เนื้อหาคร่าวๆ ของบทความมีดังนี้

บทความของสถานีวิทยุแห่งชาติลาวที่นำเสนอไว้ตั้งแต่เมื่อวานนี้ คำบรรยายคลิปเขียนว่า “ไวปากเสียสิน ไวตีนตกต้นไม้” นำเสนอข้อมูลข่าวสารออกสู่สังคมต้องมีมูลความจริง จึงจะสามารถสร้างความเชื่อถือจากสังคมได้
โครงการทางรถไฟลาว-จีน ได้รับความสนใจจากสื่อในประเทศไทย นำเสนอความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่มีสื่อบางสำนักที่ขาดความรู้ ความสามารถ และเป็น “สื่อที่ปากบ่ดี” ได้ออกข่าวและวิพากษ์วิจารณ์ทางรถไฟลาว-จีน ในด้านลบ และเป็นการบิดเบือนความจริง

ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ มีนักข่าวจาก "สถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นของรัฐบาลไทย" แห่งหนึ่งได้ออกข่าวว่า หลังทางรถไฟสายนี้เปิดใช้แล้ว “คนลาวจะไม่มีปัญญาได้ขี่ เพราะคนลาวมีเงินเดือนน้อย แต่ราคาตั๋วรถไฟแพง จะทำให้รถไฟขาดทุนเพราะมีผู้โดยสารน้อย และรัฐบาลลาวจะไม่สามารถใช้หนี้ที่กู้ยืมมาจากจีนได้”

นี่ถือเป็นการออกข่าวที่ขาดการวิเคราะห์อย่างรอบด้าน ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทั้งเป็นการดูถูกกำลังซื้อของคนลาวและรัฐบาลลาวอย่างยิ่ง

คำพูดของสื่อแห่งนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนลาวผ่านสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง ถึงการขาดจรรยาบรรณของผู้จัดรายการจากไทยคนนี้ และแสดงให้เห็นถึงความ “โง่ อวดฉลาด” เป็นการสร้างกระแสเพื่อให้คนมาชมรายการของตนเองด้วยวิธีสกปรก

จะด้วยเป็นการอิจฉาคนลาว หรือจะมีจุดประสงค์ทางการเมืองหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ เพราะสถานีโทรทัศน์ที่นักข่าวไทยคนนี้ทำงานอยู่เป็นของรัฐ ซึ่งต้องรับใช้ผลประโยชน์ของรัฐอยู่แล้ว แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม การนำเสนอข่าวของนักข่าวไทยคนนี้เป็นการเสนอที่ผิดพลาด ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน และขาดจรรยาบรรณของสื่อมวลชนอย่างหนัก

บทความอธิบายว่า ทางรถไฟลาว-จีนเป็นโครงการยุทธศาสตร์ เพื่อเปลี่ยนจากประเทศจากที่ไม่มีทางออกทะเล ไปสู่การเป็นประเทศเชื่อมโยงกับภูมิภาค และสอดรับกับข้อริเริ่ม 1 แถบ 1 เส้นทางของจีน

“ถ้ารัฐบาลลาวไม่คิดละเอียด รอบคอบ คงจะไม่กล้าตัดสินใจลงทุนร่วมกับรัฐบาลจีน สร้างทางรถไฟสายนี้ขึ้น” เนื้อหาในบทความระบุ

การสร้างทางรถไฟไม่เพียงเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเดินทางของประชาชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว ส่งเสริมการลงทุน การเชื่อมโยงกับภาคพื้น และอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแบบยั่งยืน ที่ไม่เฉพาะสำหรับลาวและจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศรอบข้างที่อยู่ติดกับลาว โดยเฉพาะประเทศไทยก็จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้อย่างมากด้วยเช่นกัน

ในบทความได้นำคลิปการให้สัมภาษณ์ของพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ที่กล่าวกับสถานีวิทยุสากลแห่งประเทศจีน (CRI) ประจำลาว ไม่กี่วันก่อนเปิดใช้ทางรถไฟ โดยนายกรัฐมนตรีลาวกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีสื่อมวลชนบางประเทศพยายามบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งถือเป็นการไม่หวังดีต่อประชาชนลาว และรัฐบาลลาว

“เขาบอกว่าจีนเข้ามายึดลาวหมดแล้ว ลาวเป็นหัวเมืองขึ้นทางด้านเศรษฐกิจของจีนหมดแล้ว อันนี้คือข่าวบิดเบือน เพราะจริงแล้ว นี่เป็นความต้องการของประชาชนลาว ข้าพเจ้าเคยบอกว่า เอามั้ย 5 ประเทศที่อยู่รอบๆ ลาว ถ้าเส้นทางรถไฟสายนี้สำเร็จ ก็จะเป็นทางรถไฟสายแรกที่เกิดอยู่ใน 5 ประเทศ ซึ่งได้รับความสำเร็จไปด้วย และเป็นความมุ่งมาดปรารถนาของประชาชนลาวที่อยากมี แล้วถ้าเราอยากมีทางรถไฟ แล้วมันผิดตรงไหน เพราะทางรถไฟนั้นรับใช้มนุษย์ รับใช้การขนส่งสินค้า รับใช้ผลประโยชน์ทางด้านการค้า การท่องเที่ยว”

“ก็ยังมีผู้มาโจมตีอีก บอกว่ารัฐบาลลาวจะเป็นหนี้สินจีนมหาศาลจากทางรถไฟ ซึ่งก็ไม่ถูก ผู้ที่เป็นหนี้คือบริษัททางรถไฟลาว-จีน เมื่อบริษัทเป็นผู้ติดหนี้ บริษัทก็ต้องเป็นผู้หาเงินมาใช้หนี้ โดยได้รับการอุ้มชู สนับสนุนของ 2 รัฐบาล ลาว จีน” เป็นคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว

บทความยังระบุต่อไปว่า รายงานข่าวที่ขาดจรรยาบรรณของนักข่าวคนหนึ่งจากสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลไทย ซึ่งได้วิเคราะห์ว่าคนลาวจะไม่สามารถขึ้นรถไฟลาว-จีนได้ เพราะค่าตั๋วแพงนั้น ถือเป็นการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดที่สุด เพราะเป็นการนั่งมโนภาพของตนเองอยู่ในห้องทำงานคนเดียว โดยไม่ได้ออกมาเปิดหู เปิดตา ดูโลกภายนอกเลย

เพราะจากรายงานของหัวหน้าสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ ทำให้ทราบว่าเพียง 5 วันหลังจากทางรถไฟเปิดใช้ มีผู้ซื้อตั๋วรถไฟแล้วถึง 5,500 กว่าคน ทั้งๆ ที่เปิดเดินรถเพียง 2 เที่ยวต่อวันเท่านั้น และก็ยังมีผู้โดยสารมาซื้อตั๋วอย่างหนาแน่นต่อในวันต่อมาอีกทุกวันด้วย

ในบทความยังได้สัมภาษณ์ตัวแทนประชาชนลาว สื่อมวลชนลาว และประชาชนไทย ทั้งหมด เห็นตรงกันว่าการกระทำของสื่อมวลชนไทยรายนี้เป็นการผิดมารยาทอย่างยิ่งที่ไปยุ่งเรื่องของคนอื่น วิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวของประเทศอื่นโดยไม่รู้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และเนื้อหาที่วิจารณ์ก็ยังเป็นการดูถูกคนลาวอย่างมาก

“เรายังไม่เคยไปยุ่งเรื่องของประเทศไทย ไม่เคยพูดดูถูกคนไทย แต่ทำไมจึงมาดูถูกคนลาว ไม่มีมารยาท”เป็นความเห็นของชาวลาวคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์ในบทความนี้

“แล้วถ้าลาวเป็นหนี้จีน เขาเดือดร้อนอะไรด้วย เขาก็ไม่ได้มาช่วยลาวใช้หนี้ให้ด้วยนี่” เป็นอีกความเห็นหนึ่ง

ตัวแทนสื่อมวลชนลาวเรียกร้องให้สื่อมวลชนไทยที่ทำข่าวเกี่ยวกับรถไฟลาว-จีน ต้องเดินทางเข้ามาสัมผัสกับรถไฟขบวนนี้จริงๆ เมื่อลาวเปิดประเทศ จะได้นำเสนอข่าวได้อย่างถูกต้อง

ช่วงท้ายบทความใช้คำพูดค่อนข้างแรง บอกว่าการเสนอข่าว วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับทางรถไฟลาว-จีน ที่เป็นการบิดเบือนความจริง ทั้งเป็นการดูหมิ่นคนลาว รัฐบาลลาว ของนักข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยในครั้งนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรก ที่ผ่านมามีสื่อบางสำนักของไทย เคยเสนอข่าวเกี่ยวกับทางรถไฟลาว-จีนลักษณะเดียวกันนี้ รวมถึงเสนอข่าวปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมลาวที่เป็นการบิดเบือนความจริง และเป็นการใส่ร้ายป้ายสีคนลาวและรัฐบาลลาวมาแล้วหลายครั้ง จนนับครั้งไม่ถ้วน

เมื่อถูกคนลาวทักท้วงและรู้ตัวว่าทำผิด บางสื่อถึงขั้นเข้าไปขอโทษสถานทูตลาวประจำประเทศไทย หรือขอโทษผ่านรายการของตนเอง ซึ่งคำพูดที่คนลาวได้ยินและคุ้นหูเป็นประจำก็คือ “ขอโทษ ไม่ได้ตั้งใจ” หรือ “ขอโทษ รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ทั้งๆ ที่ทำงานด้านสื่อมาจนจะเกษียณอายุ หรือพูดแบบชาวบ้านคือ “ทำงานมาจนกระดูกจะเข้าหม้ออยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม ถึงเคยมีการขอโทษมาซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า แต่การนำเสนอข่าวของสื่อไทยบางสำนักเกี่ยวกับประเทศลาว ก็ยังมีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ บิดเบือนความจริง ดูหมิ่น และเป็นการใส่ร้ายป้ายสีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือปัญหานี้จะเป็นการเสี้ยมสอนกันจากรุ่นต่อรุ่นของสื่อไทยบางสำนัก และอาจถือเป็นมาตรฐานไว้ว่า ใครเสนอข่าวแตะต้องประเทศเพื่อนบ้านได้มาก คนนั้นคือนักข่าวดีเด่นอันดับต้นๆ ในวงการ

เรื่องนี้ประชาชนไทยจำนวนไม่น้อยต่างรู้ดี และพวกเขาก็เสียใจต่อการกระทำอัน “อัปรีย์” และ “จัญไร” ของสื่อเพียงหยิบมือเดียว ที่พาให้พวกเขาต้องเสียหาย เสียหน้า เสียตาไปด้วย หรือกล่าวได้ว่า “ปลาตัวเดียว เน่าไปทั้งข้อง”

ดังนั้น จากความผิดพลาดเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวทางรถไฟลาว-จีน ของนักข่าวคนหนึ่งในสถานีโทรทัศน์ของไทย ซึ่งเป็นสถานีของรัฐในครั้งนี้ ขอให้เป็นบทเรียนสำคัญที่สุดสำหรับสื่อมวลชนไทยที่ยังมีแนวคิดอคติ มักวิพากษ์วิจารณ์ นำเสนอข่าวที่ไม่มีมูลความจริง หรือข่าวบิดเบือนของประเทศอื่น ทั้งเป็นนิสัยที่พูดเพื่อยกตนข่มท่าน หรือเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ผู้อื่น

การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเทศอื่นต้องเกิดขึ้นจากการใช้สมองส่วนที่ฉลาดที่สุด มีความละเอียดรอบคอบที่สุด และมีจรรยาบรรณของสื่อมวลชน ถ้าคิดว่าประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่นั้นพัฒนาแล้ว ตนเองก็ต้องพัฒนาไปด้วย เพราะว่าการนำเสนอข่าวแบบยกตนข่มท่าน ใส่ร้ายป้ายสีประเทศอื่น เป็นแนวคิดของคนโง่ ล้าหลัง ที่ไม่ได้เคยได้รับการพัฒนา และหากยังคงกระทำแบบนี้ต่อไป นับวันก็จะไร้ญาติขาดมิตร...

เนื้อหาในบทความนี้ไม่ได้ระบุว่านักข่าวโทรทัศน์ที่กล่าวถึงเป็นใคร แต่แทบตลอด 12 นาทีของคลิปบทความ ได้ใช้ภาพของรายการ “ฟังชัดๆ ถนอมจัดให้” ที่จัดโดยนายถนอม อ่อนเกตุพล ทางสถานีโทรทัศน์ NBT เป็นภาพแบ็กกราวนด์

รถไฟโดยสารและรถไฟขนส่งสินค้า ของโครงการรถไฟลาว-จีน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม หนังสือพิมพ์ “ลาวพัฒนา” ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของรัฐ ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “บางสำนักข่าวของไทย กินข้าวเฮือนโต โสเรื่องเฮือนอื่น นำเสนอข่าวขาดมูลความจริง” ถอดเนื้อหาบทความคร่าวๆ ได้ดังนี้...

ไม่มีคนชาติใดบังคับให้คนชาติอื่นมาทำตามแบบของชาติตนได้ ชีวิตของคนชาติใด ชาติหนึ่ง ก็เป็นเรื่องของชาตินั้น การไม่ก้าวก่าย ไม่ล่วงล้ำ ไม่พูดถึงผู้นั้น ผู้นี้ คือมารยาทของคนดี ของคนมีสกุล

ยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้คนชาติอื่น โดยเฉพาะบางสำนักข่าวของไทยที่ได้ก้าวก่ายถึงจรรยาบรรณ ความรับผิดชอบ หรือแตะต้องถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวพันกับตนเอง หรือ “กินข้าวโต ไปโสผู้อื่น” สร้างกระแสโจมตี บิดเบือนความจริงของพวกเขาก็เป็นได้ ซึ่งคนลาวเรา รวมทั้งคนไทยส่วนมากได้เห็นการเสนอข่าวเกี่ยวกับโครงการทางรถไฟลาว-จีน ที่ขาดข้อมูลความเป็นจริง ขาดจรรยาบรรณของสื่อ ก้าวก่ายกิจการภายในระหว่างประเทศแบบเจาะจง

ขอยกปัญหาการกิน “ข้าวเฮือนโต โสเรื่องเฮือนอื่น” ของสื่อสำนักนั้น คือการกล่าวถึงหนี้สินที่ สปป.ลาว กู้จาก สป.จีน ว่าจะเอาความสามารถ หรือหาเงินจากไหนเพื่อมาใช้หนี้ รวมทั้งราคาตั๋วโดยสารรถไฟลาว-จีน เมื่อเทียบกับรายรับของประชาชนลาวแล้ว คงจะไม่มีปัญญาซื้อตั๋วด้วยราคาแพงขนาดนี้ได้

ในนามคนลาวผู้หนึ่ง เมื่อเห็นข่าวแบบนี้แล้ว ก็เห็นว่าคลังปัญญาของผู้เสนอข่าวและบรรณาธิการของบางสำนักข่าวนั้นมีน้อยจริงๆ เป็นการได้รับข้อมูลจาก “การเจาะรู เป่าเข้ามาใส่หู” หรือว่าเจตนาใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นนั้น ไม่สมควร

การสร้างประเด็นบิดเบือน และยกตนเองทำนองว่าเป็นห่วงและเดือดร้อนแทนคนลาว ซึ่งเป็นการปั่นป่วน โดยหวังให้คนลาวเกิดความไม่พอใจต่อโครงการทางรถไฟนี้ คือการอิจฉา เบียดบัง ไม่ยอมรับความจริงที่เห็นว่าประเทศลาว มีการพัฒนา เจริญ ศิวิไลซ์ ดีขึ้น

ความจริงแล้ว การพัฒนาทางรถไฟลาว-จีน ตั้งแต่นครหลวงเวียงจันทน์-หลวงพระบาง-บ่อเต็น (สปป.ลาว)-คุนหมิง (สป.จีน) ในตอนแรก ใช้ทุนก่อสร้างถึง 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการลงทุนตามกลไกความร่วมมือรัฐต่อรัฐ (G-to-G) ขณะที่จีนได้เซ็นสัญญาร่วมชะตากรรมกับลาวแล้ว จะไม่ปล่อยให้คู่ร่วมเสียผลประโยชน์หรอก

ภายหลังเปิดบริการในวันที่ 4 ธันวาคมถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคนลาว หรือคนต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในลาว ต่างก็ต่อแถวซื้อตั๋วขึ้นรถไฟไปปฏิบัติภารกิจ ไปท่องเที่ยว บางวันถึงกับต้องปิดขายตั๋วเร็วขึ้น เนื่องจากผู้โดยสารมีมากเกินไป และเป็นการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อีกด้วย

ตั๋วโดยสารมีหลายราคา ขึ้นกับที่นั่งของแต่ละชั้นบนรถไฟ สูงที่สุดคือตั๋วโดยสารจากสถานีโพนโฮง (นครหลวงเวียงจันทน์)-บ่อเต็น ตั๋วชั้น 1 ราคา 529,000 กีบ หรือ 294 หยวน จากนครหลวงเวียงจันทน์-เมืองไซ แขวงอุดมไซ ชั้น 1 ราคา 443,000 กีบ หรือ 246 หยวน และราคาต่ำสุดจากสถานีโพนโฮง-เมืองวังเวียง 38,000 กีบ หรือ 21 หยวน

การจ้องหาจุดอ่อนของประเทศอื่นมาวิพากษ์วิจารณ์ กล่าวโจมตี เป็นการกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะลาว-ไทย ซึ่งเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่ดีต่อกันมานาน ซึ่งสื่อมวลชนไทยต้องเข้าใจให้ลึกและมากขึ้น

การพัฒนาเส้นทางรถไฟลาว-จีน เป็นหนึ่งในโครงการ 1 แถบ 1 เส้นทาง ทั้งอยู่ในเส้นทางรถไฟสิงคโปร์-คุนหมิง ของอาเซียน และเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมต่อถึงรัสเซีย และยุโรป เป็นโครงการสำคัญลำดับต้นๆ ของการเชื่อมโยงอาเซียน-คุนหมิง ตามข้อตกลงของรัฐมนตรีคมนาคมและขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 7 ที่รับประกันความปลอดภัย ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อสนองต่อการค้า การท่องเที่ยว และเป็นโครงการที่ประชาชนลาวภาคภูมิใจที่สุด

ตอนท้ายของบทความ เขียนว่า ระบบการเมืองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีเนื้อแท้คือประชาธิปไตยและประชาชน โดยไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ไม่สร้างความปั่นป่วน หรืออยู่เบื้องหลังความไม่สงบในต่างประเทศ.

คลิปบทความของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว





กำลังโหลดความคิดเห็น