xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights: จีนจะได้อะไรกับรถไฟฟ้าจีน-ลาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.ร่มฉัตร จันทรานุกูล


ผู้นำทั้งสองประเทศเป็นประธานเปิดเดินรถจีนลาวทางระบบออนไลน์ (ที่มา Toutiao)
ร่มฉัตร จันทรานุกูล
มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ(UIBE) วิทยาลัยนานาชาติ(SIE) กรุงปักกิ่ง



หนึ่งในข่าวดังในประเทศจีนในช่วงต้นเดือนธ.ค. หนีไม่พ้นเรื่องการเปิดตัวรถไฟความเร็วสูงวิ่งตรงจีน-ลาว โดยจากฝั่งจีนเริ่มเดินทางจากเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนานไปยังเมืองเวียงจันทร์ เมืองหลวงของลาว

ทางรถไฟสายนี้เริ่มสร้างในปี 2010 โดยเริ่มสร้างเป็นช่วง ๆ จากทางแผ่นดินจีนก่อนเริ่มจากคุนหมิง จนในเดือนธ.ค.ปี 2016 ได้มีพิธีเปิดการก่อสร้างทั้งสายระหว่างจีนลาว โดยหลังจากพิธีเปิดการก่อสร้างทั้งสายร่วมกันเพียง 6 ปีเท่านั้น เส้นทางรถไฟระหว่างจีนลาวได้สร้างเสร็จสิ้น พร้อมใช้ และมีพิธีเปิดใช้กันไปแล้วโดยผู้นำประเทศทั้งสองฝ่ายตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันชาติของลาว
ก่อนการเปิดใช้ในเดือนธ.ค.นี้นั้น เส้นทางทั้งหมดได้สร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยพร้อมทั้งระบบตั้งแต่เดือนต.ค. มาถึงเดือนพ.ย.คือการส่งกระแสไฟฟ้าและทดสอบระบบการวิ่งเป็นเวลาหนึ่งเดือน

เส้นทางรถไฟสายนี้จากจีนไปลาวมีความยาวทั้งสิ้น 1,035 กิโลเมตร โดยในฝั่งของลาวมีความยาว 414 กิโลเมตร ในฝั่งของลาวสร้างและเสร็จได้รวดเร็วเพราะทางการลาวอนุญาตให้ทางจีนบริหารจัดการด้านการก่อสร้าง ด้านเทคนิคได้เต็มที่ สำหรับรถไฟสายนี้ถูกออกแบบให้ใช้ในความเร็วระดับ 160 กม./ชั่วโมง ในการวิ่งจริงจะใช้ความเร็วได้ 120-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยจากจีนไปถึงลาวมีสถานีทั้งหมด 27 สถานี และการเดินทางจากคุนหมิงลงไปที่เวียงจันทร์จะใช้เวลาเพียง 10 ชั่วโมงเท่านั้น เส้นทางสายนี้ใช้ช่างและแรงงานจีนกับลาวไปทั้งสิ้น 20,000 กว่าคน

ทางฝั่งของลาวเองก็มีการเตรียมความพร้อมและเรียนรู้ด้านเทคนิคไปพร้อมกัน อย่างสถานีรถไฟฟ้าเวียงจันทร์ใต้ก็ได้เตรียมบริการด้านการขนส่งสินค้าระหว่างลาวจีน จะมีบริการแบบ one stop service ทั้งเรื่องของขนถ่ายและการบริการด้านศุลกากร อีกทั้งยังมีบริการโอนถ่ายขึ้นรถขนส่งมาไปถึงไทยอีกด้วย

ที่สถานีเวียงจันทร์ใต้ปัจจุบันมีช่างเทคนิคจีนประจำการอยู่ 9 ราย มีพนักงานลาว 59 คน นี่แค่เป็นตัวอย่างจากสถานีเดียว จะเห็นได้ว่าการมาของรถไฟจีนลาวสามารถที่จะสร้างตำแหน่งงานในลาวได้มากเลยทีเดียว
โครงการรถไฟจีนลาว ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของจีนจากแนวคิดการร่วมมือด้านยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่ขึ้นมาเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง และดูเสมือนว่าการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาสองปี ไม่ได้ทำให้การก่อสร้างล่าช้ายืดเวลาออกไปมากนัก ทางการจีนเองก็พยายามที่จะดำเนินงานตามแผนและกรอบที่วางเอาไว้

โครงการรถไฟจีนลาวนี้จีนลงทุนลงแรงมหาศาล ตั้งความหวังไว้มากเพราะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ลงใต้ที่สำคัญ ทั้งเส้นทางนี้ยังใช้มาตรฐานรถไฟจีนและเป็นรถไฟความเร็วสูงเส้นแรกที่ต่อออกจากเครือข่ายรถไฟจีนแผ่นดินใหญ่โดยตรง

ในส่วนของการเพิ่งเริ่มเปิดใช้นี้การเดินทางของผู้คนข้ามประเทศน่าจะไม่มีความโด่ดเด่นมากนักเพราะเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีการกักตัวอยู่ แต่น่าสนใจคือเรื่องของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจีนลาวที่การขนส่งทางรถไฟสายใหม่นี้จะช่วยลดเวลาลงได้มาก และที่สำคัญคือประหยัดต้นทุน

ในขณะนี้สถานีรถไฟฟ้าในลาวสามสถานีได้มีบริการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร ทำให้ปัจจุบันมียอดจองสินค้าที่จะเดินทางออกจากสถานีเวียงจันทร์ใต้แล้วกว่า 1 แสนตัน

สำหรับการมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงของลาวที่เปิดใช้จริงในวันชาติปีนี้ก็ถือเป็นของขวัญวันชาติปีที่ 46 ชิ้นใหญ่ของลาวเลยทีเดียว อีกทั้งปีนี้ยังเป็นปีที่จีนกับลาวมีความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 60 ปีอีกด้วย สำหรับความสัมพันธ์จีนลาวแล้ว มีคำกล่าวที่ว่า “เพื่อนบ้านที่ดี เพื่อนที่ดี สหายที่ดีและพวกพ้องที่ดี”

เส้นทางรถไฟจีนลาวถูกถ่ายทอดเป็นสารคดีให้แก่ประชาชนได้ดูกัน (ที่มา Cri.cn)
ในแง่ของผลประโยชน์ร่วมกันของจีนลาว แน่นอนว่าต้องมีและโด่ดเด่น เริ่มต้นที่ลาวเนื่องจากเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ทำให้การพัฒนาค้าขายและโลจิสติกส์มีข้อจำกัด ก่อนหน้านี้ ประเทศลาวมีเส้นทางรถไฟทั้งประเทศเพียง 35 กิโลเมตรเท่านั้น ด้านของเทคโนโลยีและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัด ทำให้ลาวอาจจะขาดโอกาสการแข่งขันในโลกยุคโลกาภิวัฒน์หลายด้าน ลาวมีทรัพยากรธรรมชาติมากมายที่ยังไม่ได้ถูกขุดขึ้นมาและพัฒนา เช่นเรื่องของทองคำใต้พื้นดิน มีการประเมินว่าลาวมีมากกว่า 17 ล้านตัน ทองแดงมีมากกว่า 182 ล้านตันและถ่านหิน 374 ล้านตัน ตรงนี้เองหากถูกขุดเจาะและพัฒนาขึ้นมาก็จะสร้างรายได้ให้กับลาวอีกมหาศาล อีกประเด็นหนึ่งคือผู้เขียนมองว่าจีนอาจจะเห็นโอกาสนี้แล้วก็เป็นได้

อีกทั้งรถไฟฟ้าจีนลาวที่เปิดใช้ช่วงนี้จะกลายเป็น “ตัวอย่างที่สำคัญให้กับอาเซียน” จากการลงนามในกระดาษ แบบแผนในกระดาษออกมาจนเป็นรูปธรรม ทั้งจีนและลาวก็ต่างภูมิใจ ถึงแม้ว่าต้นทุนการก่อสร้างจะสูงลิบแต่หากมองกันในระยะยาวแล้ว รถไฟความเร็วสูงจะกระตุ้นเศรษฐกิจ การเดินทางและโลจิสติกส์ทั้งในประเทศเองและระหว่างประเทศก็ถือว่าคุ้มค่า

ตรงนี้จีนเองก็มีประสบการณ์จากการสร้างสายรถไฟความเร็วสูงผ่านหลายเส้นทางในชนบทก็สร้างความเจริญมาสู่ชุมชน ผู้เขียนสังเกตว่าตั้งแต่รถไฟจีนลาวเริ่มเปิดใช้ทางฝั่งไทยเราก็ดูเหมือนจะตื่นตัวมากขึ้นทีเดียว และแน่นอนว่าเส้นทางสายนี้ไม่ใช่แค่ไทยที่จับตา หลายประเทศในอาเซียนก็กำลังจับตาอยู่เช่นกัน ความตั้งใจต่อไปของจีนคือเส้นทางที่เชื่อมต่อลงใต้อย่างรถไฟไทยจีนที่หนองคายลงไปถึงตอนใต้มาเลย์และสิงคโปร์

การใช้จริงของรถไฟจีนลาวจะสร้างโอกาสอีกมากมายให้กับอาเซียนประเทศอื่น ๆ ด้วย โดยการมีพื้นฐานรถไฟจีนไปที่ลาว ต่อไปจะเชื่อมกับประเทศอื่น ๆ โดยรอบลาวก็จะมีศักยภาพที่ดีมากขึ้น ลาวจะไม่ใช่ประเทศ “Land Lock” อีกต่อไป

กลับมาที่เรื่องที่ว่าจีนจะได้อะไรกับรถไฟสายนี้ ผู้เขียนสรุปประเด็น จากบล็อกเกอร์ต่าง ๆ ของจีนที่ออกมาวิเคราะห์คร่าว ๆ ดังต่อไปนี้

- ทรัพยากรที่ลาวมีอยู่ขณะนี้ก็เป็นสิ่งที่จีนต้องการและเข้าไปพัฒนา โอกาสที่จะช่วยลาวพัฒนาไปด้วยและจีนก็จะได้ประโยชน์จากตรงนี้เช่นกัน
- รถไฟสายนี้ไม่ได้หยุดที่ลาวเท่านั้นต่อไปจะเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ในแง่ของยุทธศาสตร์ชาติระหว่างประเทศจีน หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง กำลังจะค่อย ๆ เป็นจริงขึ้นมา
- ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและชาติอาเซียนจะแน่นแฟ้นขึ้น และหากการเดินทางระหว่างกันทางรถไฟสะดวกก็จะเป็นอีกทางเลือกเสริมขึ้นมาจากการขนส่งทางทะเล
- ลดความเสี่ยงการเดินเรือของจีนในช่องแคบมะละกา จีนเองก็มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาก็มีท่าเรือติดทะเลที่สำคัญหลายแห่ง การขนส่งทางบกลงใต้โดยรถไฟไปขึ้นท่าเรือที่กัมพูชาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีเช่นกัน
- การพยายามสร้างสายรถไฟเดินทางทางบก ไม่ใช่แค่จากจีนลงใต้เท่านั้น แต่จากจีนไปทางยุโรปด้วยจะสร้างความมั่นคงทางโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศของจีนมากขึ้น
- ความเสี่ยงด้านความกดดันทางการค้าและด้านอื่น ๆ จากทางสหรัฐและประเทศพันธมิตร ทำให้จีนต้องหาวิธีการที่จะยืนหยัดอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง การสร้างพันธมิตรใหม่ที่ไว้ใจได้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับจีน

กล่าวได้ว่า รถไฟจีนลาว เป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจอย่างสูงสุดระหว่างจีนและลาว เป็นสัญลักษณ์ของความแน่นแฟ้นด้านการร่วมมือทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศ การร่วมมือแบบ win-win จะเป็นการร่วมมือที่ยั่งยืนไม่มีที่สิ้นสุด  


กำลังโหลดความคิดเห็น