xs
xsm
sm
md
lg

SAC ตั้งอดีต ผอ.ที่ถูก NLD ปลดคุมเขต ศก.ตีละหว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อู ยานไหน่ทูน อดีตผู้อำนวยการทั่วไป กรมการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ถูกรัฐบาลพรรค NLD ปลด เมื่อเดือนมกราคม 2562
MGR Online - SAC เริ่มวางตัวบุคคลที่จะเป็นมือทำงานด้านเศรษฐกิจ การลงทุน ล่าสุด แต่งตั้งอดีต ผอ.กรมการค้า อดีตนายทหารที่เชี่ยวชาญการค้าชายแดนจีน-พม่า แต่ถูกปลดในยุครัฐบาล NLD มาเป็นประธานกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษตีละหว่า

สำนักข่าว BETV Business รายงานเมื่อวานนี้ (28 มิ.ย.) ว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน คณะกรรมการกลางเขตเศรษฐกิจพิเศษ พม่า ได้ปรับโครงสร้างคณะกรรมการบริหาร เขตเศรษฐกิจพิเศษตีละหว่า โดยแต่งตั้ง อู ยานไหน่ทูน เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร อู อ่องตานอู เป็นรองประธานคนที่ 1 และ ดอ โฉ่โฉ่วิน เป็นรองประธานคนที่ 2

อู ยานไหน่ทูน เป็นอดีตนายทหารยศพันโท เคยดูแลการค้าข้ามแดนที่เมืองหมู่เจ้ ภาคเหนือของรัฐชาน ซึ่งเป็นประตูการค้าหลักของพม่าและจีน เป็นเวลาหลายปี ก่อนถูกโอนย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการทั่วไป กรมการค้า สังกัดกระทรวงพาณิชย์ หลังพรรค NLD ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเมื่อต้นปี 2559

การประชุมคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมี พล.ท.โซวิน รองประธาน SAC เป็นประธานการประชุม
อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคม 2562 อู ยานไหน่อู ได้ถูกปลดจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดย อู อ่องถู่ รองรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ขณะนั้นให้เหตุผลว่าเนื่องจากเขาปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่โปร่งใส

ส่วนอู อ่องตานอู ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานคนที่ 1 ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นรองรัฐมนตรี กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน ในรัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดยสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) หลังการรัฐประหาร ขณะที่ ดอ โฉ่โฉ่วิน เป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐระดับรองอธิบดี ในกระทรวงวางแผนและการคลัง แต่ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว

หลังจากกองทัพเข้าพม่ายึดอำนาจจากรัฐบาลพรรค NLD เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เพิ่งมีการประชุมคณะกรรมกลางเขตเศรษฐกิจพิเศษครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง โดยมี พล.ท.โซวิน รองประธาน SAC เป็นประธานการประชุม

คณะกรรมการกลางเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีหน้าที่กำกับดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอยู่ 3 แห่ง ในพม่า ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษตีละหว่า ในย่านสิเรียม (ตานลยิน) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรก ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลพม่ากับภาคเอกชนของญี่ปุ่น เปิดดำเนินการเมื่อปี 2558

อีก 2 แห่ง ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่ว ในรัฐยะไข่ ที่ดำเนินการโดย China International Trust and Investment Corporation (CITIC) จากจีน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในภาคตะนาวศรี ที่คณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเพิ่งบอกเลิกสัญญากับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จากประเทศไทย ไปเมื่อวันที่ 18 มกราคมปีนี้ หรือประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนเกิดการรัฐประหาร เนื่องจากโครงการล่าช้าอย่างมาก

สำหรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลางเขตเศรษฐกิจพิเศษในยุครัฐบาลพรรค NLD เป็นของ อู เฮนรี่ วาน ทีโอ รองประธานาธิบดี จากรัฐชิน.


กำลังโหลดความคิดเห็น