เอพี - กระทรวงการต่างประเทศของพม่าปฏิเสธมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่เรียกร้องให้นานาชาติห้ามค้าอาวุธกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ และประณามการยึดอำนาจของทหารเมื่อเดือน ก.พ.
พม่าระบุว่า มติดังกล่าวที่ผ่านการรับรองเมื่อวันศุกร์ (18) และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ‘อยู่บนพื้นฐานของการกล่าวหาเพียงฝ่ายเดียวและเป็นข้อสันนิษฐานที่ไม่ถูกต้อง’ คำแถลงที่ออกในกรุงเนปีดอระบุ และกระทรวงการต่างประเทศได้ส่งจดหมายคัดค้านไปถึงเลขาธิการสหประชาชาติและประธานสมัชชาใหญ่
มติดังกล่าวสะท้อนถึงฉันทมติระหว่างประเทศอย่างกว้างขวางที่ประณามการยึดอำนาจซึ่งขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจี และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารฟื้นฟูการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยของประเทศ ประณามการใช้ความรุนแรงอย่างร้ายแรงและมากเกินไป นับตั้งแต่ยึดอำนาจและเรียกร้องให้ทุกประเทศสกัดกั้นการไหลของอาวุธเข้าสู่พม่า
มติยังเรียกร้องให้กองทัพพม่าปล่อยตัวซูจี ประธานาธิบดีวิน มี้น และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ และนักการเมืองที่ถูกคุมขังหลังการรัฐประหารโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข ตลอดจนผู้ที่ถูกควบคุมตัว ตั้งข้อหา หรือจับกุมตัวโดยพลการ
มติดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุจาก 119 ประเทศ โดยมีเพียงเบลารุสที่คัดค้าน ขณะที่อีก 36 ประเทศ งดออกเสียง ซึ่งรวมทั้งจีน อินเดีย และรัสเซีย
จ่อ โม ตุน เอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติ ที่ในเดือน ก.พ. ได้ประณามการยึดอำนาจของทหาร ก็โหวตสนับสนุนเช่นกัน และเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศดำเนินการอย่างแข็งกร้าวที่สุดเพื่อยุติการรัฐประหารทันที
ทั้งนี้ คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศยังระบุว่า จ่อ โม ตุน ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และยังถูกตั้งข้อหากบฏในพม่า
“ด้วยเหตุนี้ ทั้งการกล่าวแถลง การเข้าร่วม และการดำเนินการในการประชุมของเขาเป็นสิ่งที่มิชอบด้วกฎหมาย และไม่อาจยอมรับได้ และพม่าปฏิเสธการเข้าร่วมและถ้อยแถลงของเขา” กระทรวงการต่างประเทศระบุ
“ขณะที่พม่าน้อมรับคำแนะนำที่สร้างสรรค์จากประชาคมระหว่างประเทศในการจัดการกับความท้าทายต่างๆ ที่พม่ากำลังเผชิญอยู่ แต่ความพยายามใดๆ ก็ตามที่ละเมิดอธิปไตยของรัฐและแทรกแซงกิจการภายในของพม่าจะไม่ได้รับการยอมรับ” คำแถลงระบุ
ด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่มติของพวกเขามีผลผูกพันทางกฎหมาย มีถ้อยแถลงหลายฉบับว่าด้วยพม่า ซึ่งรวมทั้งการประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสันติ การเรียกร้องให้ทหารฟื้นฟูการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยและใช้ความอดทนอดกลั้นให้มากที่สุดและให้ทุกฝ่ายละเว้นจากความรุนแรง แต่มติของคณะมนตรีความมั่นคงไม่เคยกล่าวประณามการรัฐประหารหรือสั่งห้ามค้าอาวุธหรือกำหนดมาตรการคว่ำบาตรใดๆ ได้ เพราะจีนมักใช้สิทธิวีโต้ยับยั้งเกือบทั้งหมด.