เอพี - คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในพม่า พบว่า อองซานซูจี รับสินบนและใช้อำนาจของเธอในทางที่ผิดเพื่อให้ได้เปรียบในข้อตกลงด้านอสังหาริมทรัพย์ สื่อของรัฐบาลรายงานวันนี้ (10)
ทนายความของซูจีได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้วเมื่อข้อกล่าวหาถูกยกขึ้นครั้งแรกเมื่อ 3 เดือนก่อนโดยรัฐบาลทหารที่โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเธอในการรัฐประหารเดือน ก.พ. ซึ่งข้อค้นพบของคณะกรรมการมีขึ้นในขณะที่อัยการมีกำหนดเสนอคดีต่อศาลในข้อหาอื่นๆ ที่ฟ้องซูจี ในวันจันทร์นี้ (14)
ผู้สนับสนุนซูจี กล่าวว่า ข้อหาทั้งหมดนี้มีแรงจูงใจทางการเมืองและเป็นความพยายามที่จะทำลายชื่อเสียงของเธอและสร้างความชอบธรรมต่อการยึดอำนาจของกองทัพ การรัฐประหารถูกต่อต้านอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนชาวพม่า ที่ลงคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นให้แก่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีก่อน หลังบริหารประเทศครั้งแรกนาน 5 ปี
หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานใดก็ตาม ซูจีอาจถูกห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งถัดไป รัฐบาลทหารอ้างว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า แต่ทหารมีประวัติยาวนานเกี่ยวกับการให้คำมั่นการเลือกตั้งและไม่ทำตาม
ทหารปกครองพม่ามานาน 50 ปี หลังการรัฐประหารในปี 2505 และกักบริเวณซูจีเป็นเวลา 15 ปี หลังการลุกฮือของประชาชนต่อต้านการปกครองของกองทัพในปี 2531 ล้มเหลว
นับตั้งแต่การรัฐประหารเดือน ก.พ. ซูจีถูกตั้งข้อหาเผยแพร่ข้อมูลที่อาจทำให้สาธารณชนตื่นตกใจหรือความไม่สงบ นอกจากนี้ ยังถูกตั้งข้อหาว่าละเมิดกฎหมายการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าละเมิดข้อจำกัดการระบาดของโควิด-19 ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปี 2563 การนำเข้าวิทยุวอล์กกี้-ทอล์กกี้อย่างผิดกฎหมาย และการใช้วิทยุโดยไม่ได้รับอนุญาต
อีกข้อหาหนึ่งคือ การละเมิดกฎหมายความลับราชการที่ถูกจัดการแยกกัน
รายงานในหนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ของรัฐบาลระบุว่า การร้องเรียนเป็นไปตามข้อค้นพบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ได้ยื่นฟ้องยังสถานีตำรวจที่เกี่ยวข้องในวันพุธ (9) ขณะที่สื่ออื่นๆ รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ MRTV ได้รายงานแบบเดียวกัน
รายงานระบุว่า ซูจีถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 55 ของกฎหมายต่อต้านการทุจริต ที่ระบุว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกตัดสินความผิดจากการติดสินบนต้องเผชิญโทษจำคุก 15 ปี และโทษปรับ ซึ่งจะเป็นบทลงโทษที่รุนแรงที่สุดที่เธอเผชิญ เนื่องจากกฎหมายความลับราชการมีโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้พบว่าซูจีรับเงิน 600,000 ดอลลาร์ และทองคำ 7 แท่งอย่างผิดกฎหมายจากอดีตมุขมนตรีเขตย่างกุ้ง ที่เป็นพันธมิตรทางการเมือง รวมทั้งการใช้ตำแหน่งของเธอในทางที่ผิดเพื่อให้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าในราคาที่ต่ำกว่าตลาดสำหรับมูลนิธิทางการกุศลที่ตั้งชื่อตามแม่ของเธอ และเธอเป็นประธาน
รายงานกล่าวหาว่า การกระทำดังกล่าวทำให้รายได้ที่ควรได้ขาดหายไป
“ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนแต่ด้วยอำนาจของเธอ เธอจ่ายต่ำกว่าราคาที่สมเหตุสมผลสำหรับการเช่าที่ดิน” รายงานระบุ
หนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ ระบุว่า เมียว อ่อง อดีตผู้ว่ากรุงเนปีดอ ที่เป็นประธานคณะกรรมการการพัฒนา ยังถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 55 ของกฎหมายต่อต้านการทุจริต พร้อมกับเย มิน อู อดีตรองผู้ว่าฯ และมิน ทู อดีตคณะกรรมการ.