xs
xsm
sm
md
lg

คณะกรรมการการเลือกตั้งรัฐบาลทหารพม่าจ่อยุบพรรคอองซานซูจีอ้างทุจริตเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - คณะกรรมการการเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารแต่งตั้งขึ้นของพม่าจะยุบพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี จากสิ่งที่คณะกรรมการระบุว่า เป็นการทุจริตในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. สำนักข่าวเมียนมาร์นาวรายงานวันนี้ (21)

เมียนมาร์นาวรายงานว่า การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการประชุมกับพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีหลายพรรคคว่ำบาตร รวมถึงพรรค NLD

กองทัพพม่าเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. โค่นล้มและควบคุมตัวอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมานานหลายทศวรรษก่อนการปฏิรูปเริ่มขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน

ทหารอ้างความชอบธรรมของการรัฐประหารจากการกล่าวหาว่า พรรค NLD ของซูจี ที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายนั้นเป็นเพราะการโกงการเลือกตั้ง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งในเวลานั้นปฏิเสธข้อร้องเรียนของทหาร

“การทุจริตการเลือกตั้งที่ดำเนินการโดยพรรค NLD เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นเราจะต้องยุบการลงทะเบียนของพรรค” เต็ง โซ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) ที่รัฐบาลทหารสนับสนุน กล่าว

เต็ง โซ ยังกล่าวว่า ผู้ที่กระทำการทุจริตในการเลือกตั้งจะถือว่าเป็นคนทรยศ และจะดำเนินการกับคนเหล่านั้น

โฆษกของรัฐบาลทหารและโฆษกของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นในเรื่องนี้

ส่วนโฆษกของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่ทหารให้การสนับสนุนกล่าวว่า พรรคมีตัวแทนอยู่ในที่ประชุมที่ยังคงดำเนินอยู่ และเขายังไม่ทราบผลการประชุม

กองกำลังความมั่นคงได้สังหารประชาชนไปมากกว่า 800 คน นับตั้งแต่การชุมนุมประท้วงปะทุขึ้นหลังการรัฐประหาร ตามการระบุของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง แต่รอยเตอร์ไม่สามารถตรวจสอบการบาดเจ็บล้มตายได้เนื่องจากการปราบปรามสื่อ และมีนักข่าวจำนวนมากถูกควบคุมตัว

การสู้รบยังเกิดขึ้นระหว่างกองกำลังความมั่นคงและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์

ความวุ่นวายดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านของพม่าและประชาคมระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง แต่เหล่านายพลไม่ได้แสดงทีท่าว่ามีเจตนาที่จะประนีประนอมกับขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตย

พรรค NLD ก่อตั้งขึ้นจากฝ่ายตรงข้ามการปกครองของทหารในช่วงการลุกฮือของนักศึกษาในปี 2531 และชนะการเลือกตั้งทุกครั้งที่พรรคได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมแข่งขัน

พรรคครองที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาในการเลือกตั้งปี 2533 แต่รัฐบาลทหารไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และต้องใช้เวลาจนกระทั่งปี 2558 ที่ซูจีก้าวเข้าสู่อำนาจด้วยชัยชนะอย่างถล่มทลาย เวลานี้ ซูจีเผชิญข้อกล่าวหามากมาย โดยข้อหาที่รุนแรงที่สุดอยู่ภายใต้กฎหมายความลับของทางการ ที่มีโทษจำคุก 14 ปี

ซูจี วัย 75 ปี ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับทนายความผ่านวิดีโอลิงก์ต่อหน้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเท่านั้น

ญี่ปุ่นที่เป็นผู้บริจาครายใหญ่ของพม่าจะพิจารณาทบทวนการให้ความช่วยเหลือแก่พม่าหากสถานการณ์ในประเทศยังไม่ดีขึ้น รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น