สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติเรียกร้องให้นานาชาติหยุดส่งอาวุธเข้าสู่พม่า และขอให้กองทัพเคารพผลการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. รวมถึงปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี และบรรดานักโทษการเมือง
ญัตติดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนจาก 119 ประเทศ โดยมีเพียง 1 ประเทศที่คัดค้าน ได้แก่ เบลารุส ขณะที่อีก 36 ประเทศงดออกเสียง รวมถึงจีน และรัสเซีย
วิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ในพม่าเริ่มขึ้น หลังจากที่กองทัพซึ่งนำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. และชิงอำนาจบริหารไปจากรัฐบาลพลเรือนของ อองซาน ซูจี
“ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมืองในพม่าเป็นเรื่องจริง” คริสติน ชราเนอร์ ผู้แทนพิเศษยูเอ็นด้านกิจการพม่า แถลงต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นภายหลังการโหวตเมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) “เวลาเป็นสิ่งสำคัญ โอกาสที่เราจะพลิกการยึดอำนาจของกองทัพพม่าเหลือน้อยลงทุกที”
บางประเทศที่ “งดออกเสียง” อ้างว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นกิจการภายในของพม่า ในขณะที่บางประเทศเห็นว่าญัตตินี้ไม่น่าจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น และมีบางประเทศที่วิจารณ์ว่าญัตติดังกล่าวยังคงมองข้ามความทุกข์ยากของชาวมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งถูกกองทัพพม่าปราบปรามอย่างหนักจนต้องอพยพหนีตายเกือบ 1 ล้านคนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
โอลอฟ สกูก เอกอัครราชทูตผู้แทนสหภาพยุโรปประจำยูเอ็น ชี้ว่า ญัตตินี้ถือเป็นคำเตือนที่หนักแน่นไปยังกองทัพพม่าว่ายูเอ็น “ไม่ยอมรับความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร ประณามการล่วงละเมิดและการใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองพม่า รวมถึงแสดงให้เห็นว่าพม่ากำลังถูกโดดเดี่ยวในสายตาชาวโลก”
อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า “เราไม่อาจใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่การรัฐประหารกลายเป็นเรื่องปกติ เพราะมันคือสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”
กองทัพพม่าอ้างว่า ศึกเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้วซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี เป็นฝ่ายชนะถล่มทลายมีการทุจริตขนานใหญ่ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งกลับเพิกเฉย ในขณะที่ผู้สังเกตการณ์นานาชาติไม่พบสิ่งผิดปกติอย่างที่กองทัพกล่าวอ้าง
ญัตติฉบับร่างนั้นมีการใช้สำนวนภาษาที่แข็งกร้าว โดยระบุให้มีการ “ปิดล้อมด้านอาวุธ” (arms embargo) ต่อพม่า ทว่า ต่อมา 9 ประเทศในอาเซียนได้เสนอให้มีการแก้ไขถ้อยคำดังกล่าว โดยเปลี่ยนไปใช้ประโยคที่ว่า “เรียกร้องให้รัฐสมาชิกทุกประเทศร่วมกันสกัดกั้นการไหลของอาวุธเข้าสู่พม่า”
ทั้งนี้ แม้ญัตติของสมัชชาใหญ่ยูเอ็นจะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็ช่วยสร้างแรงกดดันทางการเมืองต่อคณะผู้นำทหารพม่าได้ไม่น้อย
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (Assistance Association for Political Prisoners) ระบุว่า กองทัพได้สังหารพลเมืองผู้เห็นต่างไปแล้วมากกว่า 860 คน ขณะที่ผู้นำทหารพม่าออกมาแถลงตัวเลขผู้เสียชีวิตต่ำกว่านั้น
ญัตติของยูเอ็นยังเรียกร้องให้กองทัพพม่าหยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ออกมาชุมนุมประท้วงโดยสันติ ยกเลิกการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงเร่งปฏิบัติตามฉันทมติ 5 ข้อที่ตกลงไว้กับอาเซียนเมื่อเดือน เม.ย. ว่าจะระงับใช้ความรุนแรง และเปิดช่องทางเจรจากับฝ่ายที่เห็นต่าง
ประเทศอาเซียนที่โหวตสนับสนุนญัตตินี้ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเอกอัครราชทูตพม่าประจำยูเอ็น จอ โม ตุน (Kyaw Moe Tun) ซึ่งเป็นกระบอกเสียงให้แก่รัฐบาลพลเรือนของซูจี ในขณะที่บรูไน กัมพูชา ลาว และไทยงดออกเสียง
ที่มา : รอยเตอร์