xs
xsm
sm
md
lg

ทัพพม่ากรุยทางเจรจาสันติภาพในยะไข่ น้องคนเล็ก “ทูน เมียต ไหน่” ได้รับอิสระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR Online - ศาลกรุงย่างกุ้งสั่งยุติคดีและปล่อยตัวน้องชายคนเล็กของ “ทูน เมียต ไหน่” ผบ.กองทัพอาระกัน กับพวกอีก 7 คน เป็นอิสระแล้ว หลัง AA ถูกถอดออกจากบัญชีรายชื่อกลุ่มก่อการร้าย เพื่อกรุยทางสะดวกให้การเจรจาสันติภาพในยะไข่

วานนี้ (2 มิ.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดี สำนักงานศาลเขตตะวันตก กรุงย่างกุ้ง ผู้พิพากษาได้มีคำสั่งยุติการดำเนินคดีต่อ โก่ อ่อง เมียต จ่อ พร้อมพวกอีก 7 คน ซึ่งถูกรัฐบาล NLD ฟ้องร้องในข้อหามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มก่อการร้าย ได้แก่ กองทัพอาระกัน (Arakan Army : AA) และพรรคปลดปล่อยอาระกัน (Arakan Liberation Party : ALP)


ผู้พิพากษาซึ่งได้ออกนั่งบัลลังก์ พิจารณาว่าคดีนี้สภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ (SAC) ได้มีคำสั่งออกมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ให้ถอนชื่อ AA และ ALP ออกจากบัญชีกลุ่มก่อการร้ายไปแล้ว ดังนั้น จึงไม่สามารถดำเนินคดีกับทั้ง 8 คนในข้อหาที่ถูกฟ้องร้องได้ จึงให้ปล่อยตัวทั้ง 8 คนเป็นอิสระ

โก่ อ่อง เมียต จ่อ เป็นน้องชายคนเล็กของ พล.อ.ทูน เมียต ไหน่ ผู้บัญชาการกองทัพอาระกัน เขาและพวกอีก 7 คน ประกอบด้วย โก่ ทูน เอ, โก่ ฮาย ส่อ, โก่ เย จ่อ เต็ต, มะ เม จี, โก่ ติน หล่าย อู, โก่ เมียต เหล่ อู และโก่ ฉ่วย หล่าย ตัน เป็นสมาชิกสมาคมชาวอาระกัน (สิงคโปร์) ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ชาวอาระกันที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่

รัฐบาลพม่าในยุคของอองซาน ซูจี ได้ประสานงานกับทางการสิงคโปร์ให้จับกุมบุคคลทั้ง 8 ในข้อหาสนับสนุนทางการเงินแก่กองทัพอาระกัน ทั้งหมดถูกตำรวจสิงคโปร์จับตัวได้เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 และส่งกลับมาดำเนินคดีในพม่า ต่อมาเมื่อกองทัพอาระกันถูกขึ้นบัญชีให้เป็นกลุ่มก่อการร้าย ทั้งหมดจึงถูกดำเนินคดีในข้อหามีความใกล้ชิดกับกลุ่มก่อการร้ายแทน

กองทัพอาระกันเป็นกองกำลังติดอาวุธของชาวยะไข่พุทธ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 เพื่อดูแลผลประโยชน์ของชาวอาระกันในรัฐยะไข่ และเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง ป้องกันไม่ให้ชาวยะไข่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกองทัพพม่า

กองทัพอาระกันได้จับมือกับกองกำลังติดอาวุธอีก 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) กองทัพโกก้าง (MNDAA) และกองทัพตะอั้ง (TNLA) รวมตัวกันในนามพันธมิตรภาคเหนือ เปิดฉากสู้รบกับกองทัพพม่าอย่างจริงจังเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ใน 3 จังหวัดภาคเหนือของรัฐชาน ได้แก่ จ๊อกแม ล่าเสี้ยว และหมู่เจ้


ส่วนในพื้นที่รัฐยะไข่ กองทัพอาระกันเริ่มสู้รบกับกองทัพพม่าในปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 สงครามระหว่างกองทัพพม่าและอาระกัน ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ทั้ง 2 ฝ่าย ได้หยุดยิงกันอย่างไม่เป็นทางการ และเริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพ

นับแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ความเคลื่อนไหวของกองทัพอาระกัน ในพื้นที่รัฐยะไข่ และทางภาคใต้ของรัฐชิน ได้ไปขัดขวางเส้นทางผลประโยชน์ที่รัฐบาลพรรค NLD ได้วางไว้หลายจุด ในพื้นที่ภาคตะวันตกของพม่า โดยเฉพาะโครงการขนส่งหลายรูปแบบคาลาดาน ที่มีรัฐบาลอินเดียผลักดันอย่างเต็มที่

รัฐบาลพรรค NLD พยายามทุกรูปแบบเพื่อจะบีบกองทัพอาระกัน โดยเฉพาะตัวของ พล.อ.ทูน เมียต ไหน่ ให้ยุติความเคลื่อนไหวที่ได้ขัดขวางผลประโยชน์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

หลังจากประสานให้ทางการสิงคโปร์จับกุมและส่งตัว โก่ อ่อง เมียต จ่อ และพวกมาดำเนินคดีในพม่าเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 แล้ว

ในวันที่ 19 ตุลาคม 2562 ตำรวจพม่าได้จับกุมตัวอู จ่อ ไหน่ น้องเขยของ พล.อ.ทูน เมียต ไหน่ ที่สนามบินนานาชาติกรุงย่างกุ้ง ขณะที่เขาเพิ่งบินกลับจากทำธุระที่จังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อมะ ยามิน เมียต น้องสาวของ พล.อ.ทูน เมียต ไหน่ เดินทางที่สนามบินย่างกุ้งเพื่อรับสามี เธอก็ถูกจับกุมไปด้วยอีกคน


4 ธันวาคม 2562 ขณะที่ มะ นินส่า ผิ่ว วัย 39 ปี ภรรยาของ พล.อ.ทูน เมียต ไหน่ พร้อมกับลูกชายคนเล็ก ซึ่งขณะนั้นเพิ่งอายุได้เพียง 11 เดือน เดินทางมายังสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อต่อวีซ่า เธอได้ถูกจับกุม

มะ นินส่า ผิ่ว อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ เพื่อคอยดูแลลูกสาวคนโตวัย 11 ปี ที่ขณะนั้นกำลังเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

ทางการไทยบอกว่า ได้รับการประสานงานจากรัฐบาลพม่าให้จับกุมตัวมะ นินส่า ผิ่ว เพื่อส่งตัวกลับ โดยในตอนแรกจะมีการส่งตัวเธอและลูกทุกคนกลับไปยังพม่าทันที ผ่านทางด่านชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นเส้นทางที่อันตรายต่อตัวเธอและลูกๆ เป็นอย่างยิ่ง

แต่หลังจากเธอถูกควบคุมตัวไว้ที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเชียงใหม่ได้เพียง 5 วัน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ยื่นมือให้ความช่วยเหลือ และย้ายมะ นินส่า ผิ่ว กับลูก ลงมาควบคุมตัวไว้ยังกองบัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ในกรุงเทพฯ แทน

จากนั้นได้มีการประสานงานเพื่อให้มะ นินส่า ผิ่ว กับลูก ได้เดินทางไปลี้ภัยยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563

วันที่ 23 มีนาคม 2563 รัฐบาลของพรรค NLD ได้เปลี่ยนสถานะของกองทัพอาระกันและพรรคปลดปล่อยอาระกัน จากกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ โดยให้ขึ้นบัญชีไว้ในรายชื่อกลุ่มก่อการร้าย ทำให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเจรจาเรื่องใดๆ กับกลุ่มที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีนี้

หลังกองทัพพม่าทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรค NLD เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ อีก 1 เดือนถัดมา ได้มีการถอดชื่อกองทัพอาระกัน และพรรคปลดปล่อยอาระกัน ออกจากบัญชีรายชื่อกลุ่มก่อการร้าย

นอกจากศาลกรุงย่างกุ้งมีคำสั่งปล่อยตัว โก่ อ่อง เมียต จ่อ และพวกอีก 7 คนเมื่อวานนี้แล้ว เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ศาลรัฐยะไข่ ได้มีคำสั่งยุติการดำเนินคดีและปล่อยตัวเยาวชนซึ่งอายุยังไม่ถึง 18 ปี อีก 26 คน ให้เป็นอิสระ โดยทั้งหมดได้ถูกจับกุมตัวไว้จากข้อหามีความใกล้ชิดกับกลุ่มก่อการร้าย เช่นเดียวกับ โก่ อ่อง เมียต จ่อ

นับแต่รัฐบาลพรรค NLD ขึ้นบัญชีกองทัพอาระกันไว้ในรายชื่อกลุ่มก่อการร้าย มีชาวยะไข่มากกว่า 200 คน ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันนี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น