xs
xsm
sm
md
lg

"รัฐชิน" เมืองชายแดนพม่า-อินเดียขอความช่วยเหลือด่วน พบผู้ป่วยคล้ายโควิด-19 แต่ขาดเครื่องมือแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาพภายในห้องพักผู้ป่วยของโรงพยาบาลเมืองตูนซาน จังหวัดพะลาม ภาคเหนือของรัฐชิน
MGR Online - พบผู้ป่วยอาการคล้ายโควิด-19 หลายคนในเมืองตูนซาน ชายแดนรัฐชิน-อินเดีย ทุกคนต่างหอบหืด หายใจลำบาก แต่โรงพยาบาลท้องถิ่นขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ โดยเฉพาะเครื่องผลิตออกซิเจน ต้องร้องขอความช่วยเหลือเร่งด่วนกลางดึก

เวลาประมาณ 20.00 น. เมื่อคืนนี้ (26 พ.ค.) เพจ Chin World (https://www.facebook.com/Chin-World-167011980026853) ซึ่งนำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวในรัฐชินที่มีผู้ติดตามประมาณ 5.1 แสนคน ได้โพสต์ภาพชุดภายในโรงพยาบาลประจำเมืองตูนซาน เป็นภาพห้องพักรวมที่มีผู้ป่วยนอนเรียงรายอยู่หลายสิบคน แต่ละคนต่างต้องใช้เครื่องพ่นออกซิเจนในการรักษา

เนื้อข่าวระบุว่า เมืองตูนซาน ซึ่งมีจำนวนประชากรประมาณ 100 กว่าคน ได้พบผู้ป่วย ซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกับโรคโควิด-19 หลายคน ทุกคนต่างหืดหอบ หายใจลำบาก ต้องใช้เครื่องผลิตออกซิเจน และเครื่องพ่นยาเข้าไปในโพรงจมูกเพื่อช่วยในการหายใจ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โรงพยาบาลตูนซานกำลังขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์จำนวนมากสำหรับใช้รักษา ทำให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต่างประสบกับความยากลำบากในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้


ต่อมา เวลา 23.30 น. เพจนำภาพชุดเดิมมาโพสต์ใหม่อีกครั้ง คราวนี้ใช้คำพาดหัวว่า “ขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน” โดยเท้าความเรื่องราวเดิมจากโพสต์แรก แต่ในช่วงท้าย ได้เพิ่มเนื้อหาที่ระบุวัตถุประสงค์ไว้ชัดเจนว่า ต้องการความช่วยเหลืออุปกรณ์ที่กำลังขาดแคลนอยู่อย่างเร่งด่วน ได้แก่

1.เครื่องปั่นไฟ 2 เครื่อง
2.เครื่องพ่นยาแบบเป็นฝอยละออง 2 เครื่อง
3.ท่ออากาศและที่ครอบจมูก 20 ชุด
4.เครื่องผลิตออกซิเจน 1 เครื่อง

พร้อมระบุชื่อและสถานที่สำหรับส่งความความช่วยเหลือไว้ โดยให้ติดต่อไปได้ที่ ซะไล คาน คาย Zomi Baptist Aid โบสถ์คริสต์ในรัฐชิน

เมืองตูนซาน อยู่ในจังหวัดพะลาม ภาคเหนือของรัฐชิน เป็นเมืองชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศอินเดีย โดยทางทิศเหนือติดกับรัฐมณีปุระ และทิศตะวันตกติดกับรัฐมิโซรัม ส่วนทิศตะวันออกติดกับเมืองกะเล ภาคสะกาย


รัฐชินเคยเป็นรัฐที่มีประชากรยากจนและด้อยพัฒนามากที่สุดในพม่า แต่ได้รับโอกาสอย่างมากในสมัยรัฐบาลที่นำโดยพรรค NLD มีการแต่งตั้งอู เฮนรี่ วาน ทีโอ ชาวชินขึ้นเป็นรองประธานาธิบดี ดูแลด้านเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ รัฐบาลของอองซาน ซูจี ยังได้สานต่อโครงการพัฒนาที่เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีเต็งเส่ง ให้สำเร็จภายใต้รัฐบาล NLD เช่น สร้างสนามบิน Surbung ในจังหวัดพะลาม เป็นสนามบินแห่งแรกของรัฐ เดินหน้าโครงการขนส่งหลายรูปแบบคาลาดาน สร้างท่าเรือน้ำจืดเพื่อรับสินค้าที่ส่งมาทางแม่น้ำคาลาดาน ในเมืองปะแลตวะ ทางภาคใต้ของรัฐ สร้างถนนข้ามประเทศจากเมืองปะแลตวะไปยังรัฐมิโซรัม และสร้างสนามบินเล็กขึ้นอีกแห่งที่เมืองไหล่ลินบี่ จังหวัดมะตู่บี่ ในทิศใต้

หลังกองทัพพม่าทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลของพรรค NLD ชาวชินหลายคนได้ขึ้นมามีบทบาทนำในการต่อต้าน เช่น ดร.ส่าส่า โฆษกของ CRPH ที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึง ดร.ลยาน โมง ส่าคอง ที่ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกิจการสหพันธรัฐสหภาพ ในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)

ดร.ส่าส่า ยังเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Health and Hope องค์กรด้านสาธารณสุขของชุมชนชาวคริสต์ในรัฐชิน ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ผู้ร่วมก่อตั้งสนามบินไหล่ลินบี่

ด่านชายแดนระหว่างรัฐชินกับรัฐมิโซรัมยังถูกใช้เป็นช่องทางที่ประชาชน ตำรวจ ทหาร พม่านับหมื่นนาย ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเดินทางออกไปลี้ภัยในอินเดีย และประชาชนชาวชินเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แรกๆ ที่ได้ลุกขึ้นมาคว้ามีดพร้าและปืนแก๊ป ตั้งเป็นกองกำลังติดอาวุธภาคประชาชนสู้รบกับทหารพม่า จนถูกกองทัพพม่าโต้กลับด้วยอาวุธหนัก มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ที่เมืองมินตัท เมื่อเกือบ 2 สัปดาห์ที่แล้ว.





การขอความช่วยเหลือด่วนที่ถูกโพสต์ขึ้นกลางดึกเมื่อคืนนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น