เอเอฟพี - รัฐบาลทหารของพม่าเลื่อนการพิจารณาคดีของศาลต่ออองซานซูจีอีกครั้งในวันนี้ (26) ตามการเปิดเผยของทนายความ ขณะที่พวกเขาต่อสู้เพื่อขออนุญาตเข้าเยี่ยมซูจีที่ถูกควบคุมตัวนาน 12 สัปดาห์
พม่าตกอยู่ในความวุ่นวายนับตั้งแต่ทหารขับไล่ซูจีจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ทำให้ประเทศกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของทหารอีกครั้งหลังปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยได้เพียงไม่นาน
ผู้คนจำนวนมากพากันลงถนนชุมนุมประท้วง โดยกองกำลังความมั่นคงใช้กำลังรุนแรงเข้าปราบปรามเพื่อสกัดการลุกฮือครั้งใหญ่
ในขณะเดียวกัน ซูจีถูกกักบริเวณในบ้านพักโดยที่รัฐบาลทหารตั้งข้อหากับเธอถึง 6 คดี ที่รวมทั้งการปลุกระดมและการครอบครองวิทยุสื่อสารวอล์กกี้ทอล์กกี้โดยไม่มีใบอนุญาต
แต่ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีของซูจีถูกเลื่อนออกไปอีกครั้งจนถึงวันที่ 10 พ.ค. มิน มิน โซ ทนายความของซูจีระบุหลังการพิจารณาไต่สวน
นับเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ตั้งแต่ซูจีถูกควบคุมตัว มิน มิน โซ กล่าวว่า พวกเขายังไม่ได้รับอนุญาตให้พบกับลูกความของพวกเขาแบบตัวต่อตัว หนึ่งในอุปสรรคจำนวนมากที่ทีมต้องเผชิญ
“เมื่อผู้พิพากษาถามตำรวจว่าพวกเขาดำเนินการไปถึงขั้นไหนแล้ว พวกเขาตอบว่าพวกเขาไม่สามารถบอกเจาะจงได้” มิน มิน โซ กล่าวกับเอเอฟพี และว่า ซูจีรู้สึกไม่ค่อยพอใจความล่าช้าที่เกิดขึ้น
“ฉันคิดว่าเธอไม่สามารถเข้าถึงข่าวสารและทีวีได้ ฉันไม่คิดว่าเธอจะทราบถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ” มิน มิน โซ กล่าว
นอกจากการไม่สามารถพบกับซูจีได้แล้ว การปิดข้อมูลมือถือที่รัฐบาลทหารกำหนดขึ้นนั้น ยังขัดขวางการประชุมทางวิดีโอในการพิจารณาคดีก่อนหน้านี้ด้วย
ข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุดที่ซูจีเผชิญอยู่ภายใต้กฎหมายความลับราชการของพม่า ซึ่งการไต่สวนคดีมีกำหนดในวันที่ 6 พ.ค. ที่ย่างกุ้ง
การชุมนุมประท้วงทั่วประเทศยังคงเกิดขึ้นในวันนี้ (26) โดยผู้ชุมนุมถือป้ายที่มีข้อความเขียนว่า “ปล่อยตัวผู้นำของเรา” และโบกธงสีแดงที่มีรูปนกยูงสีทองที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจี
รัฐบาลทหารอ้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจโดยระบุว่า เป็นการปกป้องประชาธิปไตย ที่กล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งในการเลือกตั้งเดือน พ.ย. ซึ่งพรรค NLD ของซูจีชนะอย่างถล่มทลาย
นับตั้งแต่การรัฐประหาร กองกำลังความมั่นคงได้สังหารผู้คนไปมากกว่า 750 คน ตามการระบุของกลุ่มตรวจสอบท้องถิ่น แต่รัฐบาลทหารให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตต่ำกว่ามาก และกล่าวโทษความรุนแรงกับผู้ก่อจลาจล.