xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำ 7 ชาติร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนถกวิกฤตพม่ากับ ‘มินอ่องหล่าย’ ส่วนไทย-ปินส์ ส่งรัฐมนตรี ตปท.เข้าร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ผู้นำของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 7 คน คาดว่าจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกับหัวหน้าคณะรัฐบาลทหารของพม่าเพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร ตามการเปิดเผยของนักการทูตและเจ้าหน้าที่ในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ที่จะมีการจัดประชุมในวันเสาร์นี้ (24)

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ที่นำการรัฐประหาร ปลดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในเดือน ก.พ. คาดว่าจะเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้ แหล่งข่าวระบุ

นายกรัฐมนตรีของไทย และประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ได้กล่าวว่า พวกเขาจะส่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปร่วมการประชุมแทน ส่วนประเทศสมาชิกอื่นๆ ในอาเซียน ประกอบด้วย พม่า บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม

การประชุมดังกล่าวถือเป็นความพยายามระหว่างประเทศครั้งแรกในการบรรเทาวิกฤตในพม่าที่กองกำลังความมั่นคงได้สังหารผู้ชุมนุมประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตยไปหลายร้อยคนนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. นอกจากนี้ ยังเป็นบททดสอบสำหรับอาเซียน ที่ตามธรรมเนียมแล้วจะไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศของกันและกัน และจะดำเนินการตามฉันทมติ

“อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนช่วยป้องกันการยกระดับความรุนแรงของวิกฤตและผลกระทบด้านมนุษยธรรมร้ายแรงเกินขอบเขตพรมแดนของพม่า” สตีเฟน ดูจาร์ริก โฆษกสหประชาชาติ ระบุ

ดูจาร์ริก กล่าวว่า คริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติจะอยู่ที่กรุงจาการ์ตาเพื่อมีส่วนร่วมกับผู้นำอาเซียนนอกรอบการประชุมในวันเสาร์ (24) โดยมุ่งเน้นที่การแก้ไขปัญหาทางการเมือง

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ระบุว่า มีประชาชน 739 คน เสียชีวิตโดยกองกำลังความมั่นคงพม่านับตั้งแต่การรัฐประหารและถูกคุมขัง 3,300 คน

กองทัพพม่าไม่ได้แสดงสัญญาณว่าต้องการที่จะพูดคุยกับสมาชิกของรัฐบาลที่ถูกปลด และกล่าวหาว่าพวกเขาบางคนเป็นกบฏ ข้อกล่าวหาที่มีโทษประหารชีวิต

นักวิเคราะห์และอดีตนักการทูตกล่าวว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้อาจมีความสำคัญมากที่สุดในประวัติศาสตร์ 54 ปี ของอาเซียน

“มีความจำเป็นที่จะต้องมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ การประชุมสุดยอดนี้ไม่สามารถเป็นแค่การแสดงความวิตกกังวลอีกครั้งหนึ่ง” Rizal Sukma นักวิจัยอาวุโสของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศสำนักงานกรุงจาการ์ตากล่าว

มาเลเซียและฟิลิปปินส์กล่าวว่า พวกเขาจะสนับสนุนแผนการสำหรับประธานอาเซียน และเลขาธิการของกลุ่ม หรือผู้แทนของพวกเขาที่จะเดินทางเยือนพม่า

เจ้าหน้าที่อาเซียนยังพิจารณาข้อเสนอสำหรับภารกิจด้านมนุษยธรรมต่อพม่า ที่จะส่งมอบเวชภัณฑ์จำเป็นเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 และโรคอื่นๆ พร้อมกับอาหาร สิ่งนี้อาจเป็นก้าวแรกในแผนระยะยาวที่จะเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารและฝ่ายตรงข้าม นักการทูตกล่าวกับรอยเตอร์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตย รวมถึงสมาชิกรัฐสภาที่ถูกปลดได้ประกาศตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่ประกอบด้วย อองซานซูจี ผู้นำการชุมนุมประท้วงและชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์

รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของพม่าได้ประกาศว่า NUG เป็นองค์กรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ NUG กล่าวว่า พวกเขาเป็นกลุ่มที่มีความชอบธรรมตามกฎหมายในพม่า และได้ร้องขอให้นานาชาติให้การยอมรับ และร้องขอคำเชิญร่วมการประชุมในกรุงจาการ์ตา นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้อาเซียนถอนคำเชิญผู้นำรัฐบาลทหาร

“ได้โปรด ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่ายอมรับการรัฐประหาร” นอ ซูซานนา หล่า หล่า โซ ที่มีชื่อเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ระบุ

“ได้โปรดรับรู้และรับฟังเสียงร้องของประชาชนในพม่า ด้วยการร่วมมือ สนับสนุน หรือยอมรับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของพม่า” หล่า หล่า โซ กล่าวในการเรียกร้องต่อกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียน.
กำลังโหลดความคิดเห็น