ประเทศสมาคมอาเซียนจัดประชุมระดับผู้นำที่กรุงจาการ์ตาสุดสัปดาห์นี้ โดยประเด็นหารือสำคัญคือวิกฤตการณ์ในพม่า แต่ “ประยุทธ์” ไม่ได้เข้าร่วม และเผยว่าจะส่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปแทน ซึ่งก็มีอีกหลายชาติที่ทำเช่นเดียวกันนี้ ขณะที่ทั้งเลขาธิการคนปัจจุบันและอดีตเลขาธิการของยูเอ็น ต่างเรียกร้องให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ความพยายามเพิ่มมากขึ้นในคลี่คลายสถานการณ์ ด้านอียูประกาศมาตรการแซงก์ชันรอบใหม่ ครอบคลุมผู้นำทหาร 10 คน และกลุ่มกิจการ 2 แห่งที่ควบคุมโดยกองทัพพม่า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (20 เม.ย.) ว่าจะส่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นตัวแทนไปร่วมประชุมระดับผู้นำสมาคมอาเซียน ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันเสาร์ (24) ที่เมืองหลวงของอินโดนีเซีย และสำทับว่ามีสมาชิกอีกบางชาติก็เตรียมส่งรัฐมนตรีต่างประเทศร่วมประชุมเช่นเดียวกัน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันเสาร์ (17) ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยเผยว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าและผู้นำการทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะไปร่วมประชุมที่จาการ์ตา ขณะที่คณะปกครองทหารพม่าเองยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ กับเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าในอดีตที่ผ่านมาคณะปกครองทหารพม่ามักส่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต่างประเทศไปเข้าร่วมประชุมระดับภูมิภาค
แม้อาเซียนพยายามหาหนทางในการนำพาพม่าออกจากวิกฤตการณ์นองเลือด แต่ปรากฏว่าพวกชาติสมาชิกมีความเห็นแตกแยกกันเกี่ยวกับวิธีการในการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ จากการที่ตำรวจทหารพม่าใช้กำลังเข้าเข่นฆ่าประชาชน ขณะที่นโยบายของอาเซียนซึ่งเน้นหนักเรื่องฉันทามติและการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน กำลังกลายเป็นอุปสรรคจำกัดการดำเนินการของอาเซียน
อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์นั้น พยายามกดดันรัฐบาลทหารพม่า แต่สำหรับไทยถึงแม้แสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อการนองเลือด ทว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างฝ่ายทหารของทั้งสองชาติ และความกังวลที่ว่าคลื่นผู้อพยพจากพม่าอาจทะลักเข้าประเทศ ก็ทำให้ไม่มีแนวโน้มที่ไทยจะทำอะไรมากไปกว่านี้
จากข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) ระบุว่า ชาวพม่าถูกกองกำลังความมั่นคงสังหารไปแล้วถึง 738 คนนับจากการยึดอำนาจ
เท่าที่ผ่านมา กองทัพพม่าแทบไม่มีท่าทีว่าต้องการหารือกับเพื่อนบ้าน หรือต้องการเจรจากับสมาชิกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่นำโดยอองซานซูจี และถูกปลดไปตั้งแต่การรัฐประหาร โดยกล่าวหาว่าบางคนทรยศชาติซึ่งมีโทษประหารชีวิต
ขณะเดียวกัน รัฐบาลปรองดองแห่งชาติที่ก่อตั้งโดยนักการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตย รวมถึงสมาชิกสภาจากพรรคของซูจี และตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ ประกาศตนเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมและเรียกร้องให้นานาชาติยอมรับ รวมทั้งเรียกร้องให้อาเซียนเชิญเข้าร่วมประชุมสุดยอดแทนที่จะเป็นผู้นำคณะปกครองทหาร
ทางด้าน บัน คีมุน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา หารือกับกองทัพพม่าโดยตรงเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์รุนแรงลุกลาม นอกจากนั้นเขาบอกว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ควรถือว่า วิกฤตการณ์นองเลือดเช่นนี้เป็นปัญหาภายในของพม่า แต่ควรเห็นพ้องกันส่งคณะผู้แทนระดับสูงไปเยือนพม่าเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับขอให้บรรดาผู้นำอาเซียนยกระดับการร่วมมือกับยูเอ็นในการช่วยเหลือประชาชนและประเทศพม่า
ส่วน กูเตียร์เรส ก็กล่าวว่า บทบาทของอาเซียมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา เนื่องจากภูมิภาคนี้กำลังเผชิญกับวิกฤตเร่งด่วนในพม่า
“สถานการณ์เรียกร้องต้องการการตอบสนองจากนานาชาติที่แข็งแกร่ง โดยมีพื้นฐานจากความพยายามที่เป็นเอกภาพของภูมิภาค ผมจึงขอเรียกร้องให้บรรดาเพลเยอร์ในภูมิภาคใช้อิทธิพลของตนในการป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง และหาทางออกอย่างสันติจากภัยพิบัตินี้” เลขาธิการยูเอ็นคนปัจจุบัน เรียกร้อง
กระนั้น คริสติน ชราเนอร์ เบอร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษของ กูเตียร์เรส ซึ่งได้พยายามติดต่อกับกองทัพพม่าหลายครั้งนับจากการยึดอำนาจ แต่ยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเยือนพม่า
ทางด้านสหภาพยุโรป เมื่อวันจันทร์ สั่งขยายมาตรการแซงก์ชันพม่า ครอบคลุมผู้นำทหาร 10 คน และธุรกิจสองแห่งที่ควบคุมโดยกองทัพ ได้แก่ เมียนมา อิโคโนมิก โฮลดิงส์ พับลิก คอมปานี และเมียนมา อิโคโนมิก คอร์ป ที่มีกิจการกระจายอยู่ในหลายอุตสาหกรรม และเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กองทัพพม่า โดยบุคคลและนิติบุคคลเหล่านี้จะถูกอายัดทรัพย์สิน แบนการเดินทาง ไม่สามารถทำธุรกิจหรือธุรกรรมกับพลเมืองและบริษัทในอียู เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)