xs
xsm
sm
md
lg

แม้ได้รับฉายา "แบตเตอรี่ของอาเซียน" แต่เรื่องไฟฟ้า "ลาว" ยังจำเป็นต้องพึ่งพา "จีน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เขื่อนน้ำคาน กำลังการผลิต 130 เมกะวัตต์ ที่แขวงหลวงพระบาง ถือหุ้นใหญ่โดย EDL-Gen แต่ผู้รับเหมาก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ คือ Sinohydro Corporation จากจีน
MGR Online - รองรัฐมนตรีพลังงานลาวระบุชัด 44% ของไฟฟ้าที่ผลิตเพื่อใช้ในประเทศมาจากเขื่อนที่นักธุรกิจจีนเป็นผู้ลงทุน แจงเรื่องพลังงานและเหมืองแร่ ลาวยังต้องพึ่งพาจีนในอีกหลายด้าน พร้อมเชิญชวนให้จีนเข้ามาลงทุนในแขนงนี้เพิ่ม

เมื่อต้นเดือนมีนาคม ดาววง พอนแก้ว รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ “เศรษฐกิจ-สังคม” ซึ่งเป็นสื่อที่เน้นเนื้อหาด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ ถึงความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างลาวกับสาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ที่ผ่านมา นักลงทุนจากจีนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าในลาว ทั้งบทบาทของผู้พัฒนา ผู้สนองเงินทุน เป็นผู้รับเหมา ผู้ขายเครื่องจักรและอุปกรณ์กำเนิดไฟฟ้า ผู้ศึกษา-ออกแบบโครงการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการเป็นหุ้นส่วนหรือร่วมถือหุ้นในโครงการผลิตไฟฟ้าหลายแห่ง

ดาววอน กล่าวว่า ณ สิ้นปี 2563 โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในลาวมีการลงทุนที่เป็นของบริษัทจากจีนทั้งสิ้น 11 โครงการ ประกอบด้วยเขื่อน 16 แห่ง กำลังการผลิตติดตั้ง 2,256 เมกะวัตต์ คิดเป็น 44% ของกำลังการผลิตเพื่อสนองไฟฟ้าให้แก่การใช้ภายในประเทศ

ส่วนความร่วมมือด้านธรณีวิทยาและเหมืองแร่นั้น นักธุรกิจจากจีนก็เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าการลงทุนอยู่ในลาวในอันดับต้นๆ เช่นกัน โดยปัจจุบัน รัฐบาลลาวอนุมัติให้บริษัทจีนเข้ามาลงทุนด้านธรณีวิทยา 52 บริษัท แยกเป็น 79 โครงการ แบ่งเป็นกิจการที่อยู่ในขั้นตอนค้นหา 11 กิจการ ขั้นตอนการสำรวจ 40 กิจการ และขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ด้านเศรษฐกิจและเทคนิคเบื้องต้นอีก 28 กิจการ ขณะเดียวกัน มีการอนุมัติให้บริษัทจากจีน 35 แห่ง มาลงทุนทำเหมืองแร่และกิจการแปรรูปแร่อยู่ในลาวอีก 67 โครงการ

เขื่อนน้ำอู 2 (ซ้าย) และเขื่อนน้ำอู 5 (ขวา) 2 ใน 7 เขื่อนในโครงการน้ำอู ซึ่งลงทุนโดย Power China Resources Limited ในแขวงผ้งสาลีและหลวงพระบาง และมี Sinohydro Corporation เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง (ภาพจากเว็บไซต์ EDL-Gen)
รองรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ กล่าวถึงอนาคตความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างทั้ง 2 ประเทศว่า จีนเป็นประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแรง มีทุน มีเทคโนโลยี และองค์ความรู้มากมายที่จะเป็นบทเรียนให้ลาวได้เรียนรู้และนำมาใช้พัฒนาการทำธุรกิจในหลายด้าน ลาวจึงควรกระชับความสัมพันธ์ สร้างกลไกและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความร่วมมือกับจีน ให้สามารถพัฒนาไปในแนวทางเดียวกันได้ และอยากให้นักธุรกิจจีนได้เข้ามาลงทุนในสาขาพลังงานและเหมืองแร่ ซึ่งเป็นจุดเด่นทางเศรษฐกิจของลาวให้มากขึ้น
ปัจจุบัน ลาวมีศักยภาพในการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า สร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม รวมถึงมีการวางโครงข่ายสายส่งที่เชื่อมต่อกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ดังนั้น การเข้ามาลงทุนในสาขาพลังงานไฟฟ้าในลาว จึงเปิดกว้าง ไม่ว่าเป็นลักษณะของการลงทุนเองทั้ง 100% หรือจะร่วมทุนกับนักธุรกิจลาวก็ได้

จากข้อมูลล่าสุดในเวทีสัมมนาเรื่อง “ราคาไฟฟ้าและไฟฟ้าลาว ปี 2021-2025” ที่ห้องประชุมคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมปีที่แล้ว ระบุว่า ปัจจุบันลาวมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 9,972 เมกะวัตต์ จากแหล่งผลิตไฟฟ้าในประเทศ 78 แห่ง

ใน 78 แห่ง เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้า 67 แห่ง โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 แห่ง โรงไฟฟ้าชีวมวล 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อีก 6 แห่ง โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ส่งขายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าอีกหลายแห่งที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เตรียมผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบของลาวอีกในช่วงหลังจากนี้

แม่น้ำอู ที่แขวงหลวงพระบาง
อย่างไรก็ตาม ลาวยังต้องซื้อไฟฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านจากแหล่งผลิตไฟฟ้าอีก 10 แห่ง ในไทยและเวียดนาม เพื่อสนองต่อการใช้ในประเทศในบางพื้นที่ ซึ่งแหล่งผลิตไฟฟ้าของลาวเองยังป้อนไฟฟ้าไปไม่ถึง

สำหรับเขื่อนผลิตไฟฟ้าในลาว ที่เป็นการลงทุนของนักธุรกิจจีนที่ใหญ่ที่สุด คือโครงการเขื่อนน้ำอู โดยตลอดลำน้ำอูซึ่งยาว 448 กิโลเมตร มีต้นน้ำอยู่บนเทือกเขาบริเวณชายแดนลาว-จีน ที่บ้านลานตุย เมืองยอดอู แขวงผ้งสาลี ไหลมาลงแม่น้ำโขงที่แขวงหลวงพระบาง มีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าลักษณะขั้นบันได ไล่ตามระดับความสูงตั้งแต่บนลงล่างถึง 7 เขื่อน

ทั้งหมดเป็นการลงทุนโดยบริษัท Power China Resources Limited ร่วมทุนกับบริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาว มหาชน (EDL-Gen) มี Sinohydro Corporation เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง

เขื่อนน้ำอูทั้ง 7 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 1,332 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนรวม 2,800 ล้านดอลลาร์ อายุสัมปทาน 29 ปี ไฟฟ้าที่ผลิตได้ถูกใช้ในภาคเหนือของลาวเป็นส่วนใหญ่

การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 เขื่อนน้ำอู 2, 5 และ 6 กำลังการผลิตรวม 600 เมกะวัตต์ จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 7 เครื่อง เริ่มสร้างเมื่อเดือนตุลาคม 2555 สร้างเสร็จและเริ่มเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหน่วยที่ 1 ไปแล้วเมื่อปลายปี 2558 ที่เหลืออีก 6 หน่วย เริ่มเดือนเครื่องผลิตเมื่อปลายเดือนเมษายน 2559

ระยะที่ 2 คือเขื่อนน้ำอู 1, 3, 4 และ 7 กำลังการผลิต 732 เมกะวัตต์ เริ่มสร้างวันที่ 28 เมษายน 2559 สร้างเสร็จและเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (2563)

นอกจากนี้ ยังมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำทา 1 กั้นแม่น้ำทาในแขวงบ่อแก้ว กำลังการผลิต 168 เมกะวัตต์ ลงทุนโดยบริษัท China Southern Power Grid สร้างเสร็จและเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561

รวมถึงเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำแบ่ง กั้นแม่น้ำแบ่งในแขวงอุดมไซ กำลังการผลิต 34 เมกะวัตต์ โดย China National Electrical Equipment Coporation ถือหุ้น 90% อีก 10% ถือโดย EDL-Gen สร้างเสร็จและเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้วตั้งแต่ปี 2560.

 เขื่อนไฟฟ้าน้ำทา 1 ในแขวงบ่อแก้ว กำลังการผลิต 168 เมกะวัตต์ ลงทุนโดยบริษัท China Southern Power Grid (ภาพจากคลิปที่นำเสนอโดย China Xinhua News)








กำลังโหลดความคิดเห็น