xs
xsm
sm
md
lg

โซลาร์ฟาร์มกองทัพบก ไฟฟ้าที่ได้จะขายให้ใคร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: นพ นรนารถ



ความเคลื่อนไหวของกองทัพบกที่จะลงทุนผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์ม ในระยะแรก 300 เมกะวัตต์ เป็นเรื่องน่าสงสัยว่าทหารบกคิดเอง หรือผู้ประกอบการในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นเจ้าของความคิด

พล.ท.รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 5หรือ ททบ. 5 เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่นที่ 22 ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกมีบทบาทสำคัญเป็นผู้ผลักดันโครงการนี้

วันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา พล.ท.รังษีลงนามในเอ็มโอยูศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าทางเลือกระหว่างกองทัพบกกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยกองทัพบกมีแผนจะใช้ที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของกองทัพบกจำนวน 6 แสนไร่ สร้างโซลาฟาร์มผลิตไฟฟ้าได้ 30,000 เมกะวัตต์ แต่ในระยะแรกจะใช้พื้นที่ในตำบลแก่งเสี้ยน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ผลิตไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ก่อน

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันประมาณ 45,000 เมกะวัตต์ แผนของกองทัพบกที่จะผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ได้ถึง 30,000 เมกะวัตต์ หากเป็นจริง จะเอาไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปทำอะไร เพราะขณะนี้เป็นที่รู้กันว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยมีมากเกินความต้องการ เพราะผลกระทบจากโควิด ทำให้ความต้องการลดลง และแม้ว่าจะไม่มีโควิด กำลังการผลิตบวกไฟฟ้าสำรองในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็มีเพียงพอกับความต้องการอยู่แล้ว

การผลิตไฟฟ้าต้องมีการวางแผนระยะยาวเพื่อให้มีกำลังการผลิตที่พอดีๆ ไม่มากไปจนล้น ไม่น้อยไปจนไม่พอใช้ ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าพ.ศ. 2061-2080 หรือพีดีพี 2018 ตามแผนนี้ในช่วง 10 ปีแรก จะไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพราะกำลังการผลิตมีมากแล้ว จากโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ที่จะทยอยขายไฟเข้าระบบ

นอกจากนั้น จะไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วย ยกเว้นว่า จะเป็นไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำกว่าที่เป็นอยู่

ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนแพงกว่าไฟฟ้าจากน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ เพราะ กฟผ.หรือ กฟภ.ต้องให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ผลิตหน่วยละ 7-8 บาท ซึ่งจะถูกคิดเฉลี่ยกับต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานอื่นๆ ทำให้ราคาขายปลีกไฟฟ้าสูงกว่าที่ควรจะเป็น

การยกเลิกรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแผนพีดีพี 18 สร้างผลกระทบให้เอกชนที่มีแผนลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างรุนแรง มีการยื่นหนังสือถึงรัฐบาล คสช.ผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขอให้ยกเลิกนโยบายนี้ จนมาถึงยุครัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่มาจากการเลือกตั้ง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ผลักดันนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเปิดช่องให้เอกชนเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ใช้พืชพลังงานหรือแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตรวม 1,000 เมกะวัตต์ กำหนดขายไฟเข้าระบบในปี 2565

แต่ไม่ทันที่จะแก้แผนพีดีพี 18 เพื่อบรรจุโครงการโรงไฟฟ้าชุมชุนเข้าไป นายสนธิรัตน์ก็พ้นจากตำแหน่งไปก่อน มีรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ นโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนถูกเปลี่ยนอีกครั้ง โดยกำหนดโครงการนำร่อง ลดกำลังการผลิตเหลือเพียง 150 เมกะวัตต์ แต่ละโรงไฟฟ้ามีกำลังผลิตไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ และต้องใช้เชื้อเพลิงที่เป็นพืชพลังงาน ชีวมวล และก๊าซชีวภาพเท่านั้น เพื่อให้ผลตอบแทนจากโรงไฟฟ้าไปถึงมือชุมชนจริงๆ และไม่มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน

โครงการโซลาฟาร์มของกองทัพบก จึงน่าจะเป็นทางออกของผู้ประกอบการโซลาร์ฟาร์มที่มีตั้งแต่นักลงทุน ผู้นำเข้าแผงโซลาร์จากจีน ผู้รับเหมาติดตั้ง โดยโครงการนี้ กองทัพบกประกาศแล้วว่า จะให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้วย และจะใช้วิธีการบาร์เตอร์เทรด เอาสินค้าเกษตรไปแลกกับแผงโซลาร์จากจีน

แต่ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้ใคร เพราะไม่ได้อยู่ในแผนพีดีพี 18 ที่แก้ไขแล้ว ปลัดกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน

พล.ท.รังษี ในฐานะตัวแทนกองทัพบก และพล.อ.ณรงค์พันธ์ ผบ.ทบ. ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า โครงการโซลาร์ฟาร์มของกองทัพบก ผลิตไฟฟ้าได้แล้ว จะไปขายให้ใคร เพราะมิฉะนั้นแล้ว โครงการนี้อาจจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับโครงการเมืองอุตสาหกรรมจะนะ ที่เอกชนเจ้าของโครงการตัวจริง ใช้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ออกหน้า ผลักดันโครงการให้โดยสภาพัฒน์ซึ่งมีหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบการทำโครงการขนาดใหญ่ไม่ได้รับรู้เลย

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เพิ่งผ่านไป พรรคฝ่ายค้านหยิบเอาประเด็นองค์การทหารผ่านศึกได้สัญญาขุดลอกคลองจากกระทรวงมหาดไทย แล้วให้เอกชนมารับช่วงต่อ แต่ไม่มีการขุดลอกจริง หรือไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง หรือ กอ.รมน.ของบประมาณกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 45 ล้านบาท ทำโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่อำเภออมก๋อย เชียงใหม่ ติดตั้งเสร็จแล้วใช้งานได้ไม่นานก็พัง โดย กอ.รมน.ใช้วิธีจ้างผู้รับเหมาเอกชนมารับช่วงต่อ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งต่อไป โครงการโซลาฟาร์มของกองทัพบก อาจจะเป็นข้อมูลใหม่ให้พรรคฝ่ายค้านนำไปอภิปรายในสภาฯ ก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น