โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนับเป็นโครงการที่ถูกวางไว้ในแผนงานของกระทรวงพลังงานมากว่า 1 ปี โดยเริ่มต้นจาก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผลักดันนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งจนถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 rev1) และเมื่อเหตุต้องสะดุดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นโยบายนี้ได้ถูกสานต่อจาก นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขใหม่ทั้งหมด
ล่าสุดระหว่างวันที่ 21 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศรับฟังความเห็น “ร่างระเบียบการจัดหาไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง)” และ “ร่างประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ทางเว็บไซต์ของ กกพ. ที่ http://www.erc.or.th เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็นเพื่อปรับแก้ไขระเบียบอีกครั้ง โดยหากเป็นไปตามกำหนดเดิมที่วางไว้คาดว่าการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเปิดรับยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 22 มี.ค.-2 เม.ย. 2564
สำหรับร่างประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้ารวม 150 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล มีปริมาณเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์/โครงการ รวม 75 เมกะวัตต์ และการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสียน้อยกว่าหรือเท่ากับ 25%) มีปริมาณเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์/โครงการ รวม 75 เมกะวัตต์
ขณะที่อัตรารับซื้อไฟฟ้า แบ่งเป็น 1. ชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ คิดอัตรา Feed-in Tariff (FiT) 4.8482 บาท/หน่วย และกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ FiT ที่ 4.2636 บาท/หน่วย 2. ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) กรณีผสมน้ำเสียของเสียไม่เกิน 25% มี FiT ที่ 4.7269 บาท/หน่วย โดยทั้งหมดมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FiT Premium สำหรับพื้นที่พิเศษอีก 0.50 บาท/หน่วย
รูปแบบการร่วมทุน ได้แก่ ผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 90% วิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและมีสมาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน ถือหุ้นในสัดส่วน 10% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิ) ซึ่งเป็นผู้ปลูกพืชพลังงานให้แก่โรงไฟฟ้า ขณะที่การจัดหาเชื้อเพลิงต้องมีสัญญารับซื้อในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ซึ่งในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อ ระยะเวลาการรับซื้อ คุณสมบัติ และราคารับซื้อพืชพลังงานไว้ในสัญญา โดยพืชพลังงานที่จะนำมาใช้ต้องได้มาจากการปลูกโดยวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรบริเวณใกล้เคียง อย่างน้อย 80% และผู้ประกอบการสามารถจัดหาได้เองไม่เกิน 20%
วิธีการคัดเลือกโครงการ จะมีการพิจารณาข้อเสนอขายไฟฟ้าทางด้านเทคนิคและด้านราคา โดยด้านเทคนิคจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไข และประเมินด้านเทคนิค เช่น ความพร้อมด้านเทคโนโลยี ความพร้อมด้านการเงิน ความพร้อมด้านพื้นที่ มีระบบสายส่งรองรับ ความพร้อมด้านเชื้อเพลิง รวมถึงพื้นที่ปลูก การบริหารน้ำและปัจจัยอื่นๆ ตลอดจนมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร เป็นต้น ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคเท่านั้นที่จะได้รับการพิจารณาด้านราคาต่อไป ขณะที่ด้านราคา จะเป็นการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) โดยผู้ยื่นเสนอโครงการจะต้องเสนอส่วนลดในส่วนของ FiT คงที่ ซึ่งเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงไฟฟ้า โดยผู้ที่เสนอส่วนลดสูงสุดจะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต้น จนกว่าจะครบเป้าหมายการรับซื้อ เป็นต้น
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทิ้งโครงการ เบื้องต้นได้กำหนดให้มีการวางหลักประกันคำเสนอขอขายไฟฟ้าจำนวน 500 บาทต่อกิโลวัตต์ และกรณีที่การจ่ายไฟหรือ COD ไม่ทันตามวันกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ได้แก่ 1. COD หลังกำหนด SCOD เกิน 60 วัน มีค่าปรับ (รายวัน) ในอัตรา 0.33% ของจำนวนเงินหลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และ 2. COD เกินระยะเวลา 360 วันนับจากวัน SCOD แล้ว ให้ถือว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสิ้นสุด และให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายริบหลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งเบื้องต้นรัฐกำหนด SCOD ภายในเดือน 28 กันยายน 2567
คาดเอกชนแห่ยื่นเกิน 2-3 เท่าตัว
แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีภาคเอกชนที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ยื่นเสนอขายไฟฟ้าครั้งนี้สูงกว่าที่รัฐกำหนดไว้ที่ 150 เมกะวัตต์ประมาณ 2-3 เท่าตัว โดยเฉพาะในส่วนของประเภทเชื้อเพลิงชีวมวลที่จะรับซื้อ 75 เมกะวัตต์มีแนวโน้มจะยื่นเสนอราว 200 เมกะวัตต์ ขณะที่ประเภทก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ที่จะรับซื้อ 75 เมกะวัตต์ คาดว่าจะไม่เกิน 2 เท่าหรืออยู่ประมาณไม่เกิน 150 เมกะวัตต์เนื่องจากเทคโนโลยีค่อนข้างจำกัด
อย่างไรก็ตาม วิธีการคัดเลือกโครงการ จะมีการพิจารณาข้อเสนอขายไฟฟ้าทางด้านเทคนิคด้วยการตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไข และประเมินด้านเทคนิค เช่น ความพร้อมด้านเทคโนโลยี ความพร้อมด้านการเงิน ความพร้อมด้านพื้นที่ มีระบบสายส่งรองรับ ความพร้อมด้านเชื้อเพลิง รวมถึงพื้นที่ปลูก การบริหารน้ำและปัจจัยอื่นๆ ตลอดจนมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร เป็นต้น ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคเท่านั้นที่จะได้รับการพิจารณาด้านราคาต่อไป ซึ่งเมื่อได้รับฟังความเห็นพบว่าหากผิดข้อใดข้อหนึ่งจะตกเทคนิคทันที เช่น กรณีเสนอขายไฟ 3 MW การระบุพื้นที่ปลูกพืชต้อง 3,000 ไร่ หากไม่สอดรับก็ตกทันที หรือกรณีผังเมืองที่ฝ่ายราชการย้ำให้ถ่ายภาพโฉนดที่ดินทั้งฉบับหากหน้าเดียวปรับตกทันที เป็นต้น ดังนั้นเชื่อว่าหลายคนจะตายน้ำตื้น
“การแข่งขันเทคนิค แต่เมื่อสุดท้ายมาเสนอราคาก็คือแข่งขันที่ราคาในที่สุดอยู่ดี ซึ่งคนที่มีศักยภาพในเรื่องต้นทุนทางการเงินและเทคโนโลยีก็หนีไม่พ้นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เชื่อว่าจะมีการตั้งบริษัทลูกมา และเมื่อได้รับคัดเลือกราคาหุ้นเพิ่มขึ้นก็คุ้มแล้ว ราคาที่แข่งขันก็จะมีการดัมป์ราคาแน่นอน” แหล่งข่าวกล่าวแสดงความเห็น
แนะรัฐต้องอุดช่องโหว่หาเหตุไม่ก่อสร้าง
นายวัฒนพงศ์ ทองสร้อย นายกสมาคมการค้าชีวมวลไทย กล่าวว่า โครงการนี้แน่นอนว่าจะเป็นที่สนใจของภาคเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนด้านพลังงานที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจะมีการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) เสนอขายไฟฟ้าเพื่อให้เป็นผู้ชนะ ซึ่งในแง่การแข่งขันลดราคาเสนอขายไฟจะเป็นผลดีที่ค่าไฟฟ้าเหล่านี้จะไม่เป็นภาระประชาชน อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมของการรับซื้อพืชพลังงานจากเกษตรกรก็อาจจะเกิดการต่อรองราคารับซื้อได้เพื่อให้สอดรับกับการแข่งขัน
“รัฐเองต้องระบุให้มีการแนบข้อมูลโครงสร้างต้นทุนเพื่อหวังให้มีการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพไม่ไปกดราคาเกษตรกรซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ในแง่ของการแข่งขันราคารัฐเองก็ต้องระวังเพราะอาจจะนำไปสู่การก่อสร้างไม่ได้แล้วก็จะใช้วิธีจ้างให้ชุมชนไปประท้วงเสมือนหนึ่งว่าสร้างไม่ได้เพราะประท้วง ซึ่งโครงการ SPP Hybrid Firm ที่เสนอราคาขายไฟต่ำมากแต่ที่สุดก็ก่อสร้างไม่ครบก็มีให้เห็นแล้ว ซึ่งรัฐต้องกำหนดบทลงโทษให้ดี” นายวัฒนพงษ์กล่าว
เกษตรกรมองเป็นโอกาสรายได้เพิ่มขึ้น
ม.ร.ว.วรากร วรวรรณ ประธานที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชน กลุ่มรักษ์ช้างรักษาป่าตะวันออก (ปม. ) กล่าวว่า โครงการนี้จะมีส่วนสำคัญที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหญ้าเนเปียร์ที่ปกติชาวบ้านจะปลูกไว้เลี้ยงสัตว์ก็จะสามารถนำมาขายป้อนให้โรงไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มการตกลงราคาหน้าไร่ที่เกษตรกรจะรับได้เฉลี่ยจะอยู่ในระดับ 300 บาทต่อตัน
“เราประเมินแล้วว่าหญ้าเนเปียร์ขั้นตํ่าขายได้ตันละ 300 บาท ซึ่งหมายถึงหน้าไร่ ใน 1 ปี ตัดได้ 4 รอบ เฉลี่ยรวม 45 ตันต่อปีต่อไร่ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ราว 1.25 หมื่นบาทต่อไร่ ซึ่ง 1 เมกะวัตต์จะใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 600-800 ไร่ เท่ากับว่าเกษตรกรจะมีรายได้กว่า 8 ล้านบาทต่อปี แต่ถ้าเป็นราคารวมขนส่งไปโรงงานจะอยู่ราว 500 บาทต่อตัน ซึ่งก่อนที่ผู้ผลิตจะยื่นประมูลก็จะต้องตกลงราคากันก่อน ซึ่งหากเทียบกับราคาพืชเกษตรตัวอื่นคิดว่าดีกว่ามาก เช่น กรณีมันสำปะหลังรายได้เพียง 3,000-4,000 บาทต่อไร่ต่อปี” ม.ร.ว.วรากรกล่าว
โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่ผ่านเจอมรสุมสารพัดจากปัญหาทางการเมือง เอกชนและเกษตรกรรอเก้อมาแล้วหลายครั้ง แถมการดำเนินงานเผชิญทั้งวิกฤตโควิด-19 ในการรับฟังความคิดเห็นนับตั้งแต่การระบาดรอบแรกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 จนฝ่ามาถึงการระบาดรอบใหม่ล่าสุดที่เป็นการรับฟังความเห็นผ่านระบบออนไลน์ภายใต้บริบทเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่เปลี่ยนไป แต่ก็ดูเหมือนว่าการนับถอยหลังที่จะนำไปสู่ภาคปฏิบัติดูจะเริ่มเห็นทางสว่างมากขึ้น งานนี้ก็ต้องลุ้นกันอีกไม่นานเกินรอ