รอยเตอร์ - สมาชิกสภาและชาวบ้านในรัฐยะไข่ ระบุว่า มีผู้หญิง 2 คนเสียชีวิต โดยหนึ่งในนั้นกำลังตั้งครรภ์ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 7 คน หลังทหารพม่ายิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้านโรฮิงญาในวันเสาร์ (25) หลังศาลสูงสุดของสหประชาชาติมีคำสั่งให้พม่าปกป้องคุ้มครองชนกลุ่มน้อยได้เพียงไม่กี่วัน
หม่อง จ่อ ซาน สมาชิกสภาเมืองบุติด่อง พื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ กล่าวว่า กระสุนที่ระดมยิงมาจากกองพันที่อยู่ใกล้ๆ ได้โจมตีเข้าใส่หมู่บ้านคินต่องในช่วงกลางดึก ซึ่งกองกำลังทหารของรัฐบาลกำลังต่อสู้กับกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ในรัฐมานานกว่า 1 ปี
“ไม่มีการสู้รบเกิดขึ้นที่นี่ พวกเขาแค่ยิงปืนใหญ่ใส่หมู่บ้านทั้งที่ไม่มีการสู้รบ” หม่อง จ่อ ซาน กล่าวกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ และเสริมว่า เป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ที่พลเรือนถูกสังหาร
ทหารปฏิเสธความรับผิดชอบและกล่าวโทษกลุ่มกบฏที่ทหารระบุว่า โจมตีสะพานในเวลาเช้ามืด
ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน จำต้องหลบหนีออกจากพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ในปี 2560 หลังการปราบปรามของทหารที่สหประชาชาติระบุว่าเป็นการปราบปรามที่มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
เมื่อไม่นานมานี้ ภูมิภาคนี้ต้องตกอยู่ในภาวะโกลาหลอีกครั้งจากการต่อสู้ครั้งใหม่ระหว่างทหารและกองทัพอาระกัน กลุ่มกบฏที่เกณฑ์กำลังจากประชากรส่วนใหญ่ในรัฐที่เป็นชาวพุทธ ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องพลัดถิ่นและเสียชีวิตอีกหลายสิบ
ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนยังคงอยู่ในรัฐยะไข่ แต่ไม่สามารถเดินทางได้อย่างเสรี หรือเข้าถึงการดูแลสุขภาพและการศึกษา พวกเขาติดอยู่กลางการสู้รบ และการจำกัดการเดินทาง หมายความว่า พวกเขาจะสามารถเดินทางหลบหนีได้น้อยกว่าเพื่อนบ้านชาวพุทธ
ในช่วงต้นเดือน ม.ค. เด็กโรฮิงญา 4 คน เสียชีวิตในเหตุระเบิดที่ทหารและกลุ่มกบฏกล่าวโทษกัน
โฆษกทหาร 2 นาย ที่รอยเตอร์ติดต่อเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์การเสียชีวิตในวันเสาร์ไม่ตอบรับโทรศัพท์ ส่วนในคำแถลงที่โพสต์บนเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ของรัสเซีย กองทัพยืนยันเหตุเสียชีวิต แต่กล่าวโทษกองทัพอาระกัน โดยระบุว่า ปืนใหญ่ของกองทัพอาระกันยิงโดนหมู่บ้านระหว่างการปะทะ
โซ ตุน อู ชาวโรฮิงญาที่อาศัยห่างจากหมู่บ้านดังกล่าวราว 1 ไมล์ กล่าวกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ว่า บ้าน 2 หลัง ถูกทำลายจากแรงระเบิด
“ทหารมักโจมตีด้วยอาวุธหนักเสมอ พวกเขายิงอาวุธหนักรอบพื้นที่ที่พวกเขาสงสัย ถึงเราจะกลัวมากแค่ไหนแต่มันเป็นไปไม่ได้ที่จะหนีไปที่อื่น” โซ ตุน อู กล่าว
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮกมีคำสั่งให้พม่าปกป้องโรฮิงญาจากการกระทำทารุณต่างๆ และรักษาหลักฐานของอาชญากรรมที่ถูกกล่าวหา หลังแกมเบียยื่นฟ้องคดีในเดือน พ.ย. กล่าวหาพม่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
โฆษกของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยกล่าวกับรอยเตอร์ว่า พม่าได้ดำเนินการปกป้องโรฮิงญาอยู่แล้ว แต่รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจจำกัดเหนือกองกำลังทหาร.