xs
xsm
sm
md
lg

‘ซูจี’ พร้อมขึ้นศาลรักษาผลประโยชน์ชาติ ด้านโฆษกยันไม่มีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




รอยเตอร์ - ครั้งสุดท้ายที่นางอองซานซูจี ผู้นำพม่า เดินทางไปเยือนยุโรปตะวันตก เธอได้รับการรับรองในฐานะผู้ปกครองพลเรือนที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งของประเทศ และนำมาซึ่งการสิ้นสุดการปกครองเผด็จการทหารนานครึ่งศตวรรษ

เมื่อเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพเดินทางกลับไปในสัปดาห์หน้า ที่เป็นการเดินทางเยือนภูมิภาคนี้ครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปราบปรามทางทหารต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในปี 2560 ในรัฐทางตะวันตกของพม่า ซูจีจะเผชิญต่อข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พร้อมกับทหารที่เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตต่อสู้ด้วย

แกมเบีย ประเทศเล็กๆ จากแอฟริกาตะวันตกที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ยื่นฟ้องพม่าต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เมื่อเดือนที่ผ่านมา ในข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งรวมทั้งการสังหารหมู่และการข่มขืน

พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และสำนักงานของนางอองซานซูจี กล่าวว่า ซูจีจะเดินทางไปกรุงเฮกในการพิจารณาคดีครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. ‘เพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติ’

“มีความแตกต่างกันระหว่างความคิดเห็นของพม่าและประชาคมโลก” เมียว ยุ้น โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจี กล่าว

“เธอต้องอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในตอนเหนือของรัฐยะไข่” เมียว ยุ้น กล่าว

การตัดสินใจเข้าร่วมของซูจีสร้างความประหลาดใจให้แก่หลายคน และเกิดความวิตกว่า ความเคลื่อนไหวนี้อาจทำลายภาพลักษณ์ของเธอในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น

แต่ที่พม่า การประกาศดังกล่าวก่อให้เกิดคลื่นการสนับสนุนอย่างมากมาย ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ต่อสู้ที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

ริชาร์ด ฮอร์ซีส์ ที่ปรึกษาพม่าจากองค์กร International Crisis Group ระบุว่า แม้การปรากฏตัวของซูจีจะมีความเสี่ยงอย่างมากต่อภาพลักษณ์ของตนเองในต่างประเทศ แต่เธออาจรู้สึกว่าเธอต้องทำทุกอย่างเท่าที่เธอสามารถทำได้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติจากสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในพม่ามองว่าเป็นข้อกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมืองและมีอคติ

ซูจี ยังคงเป็นฮีโร่ของใครหลายๆ คน ตอนที่เธอเดินทางไปเยือนยุโรปตะวันตกและสหรัฐฯ หลังเข้ารับตำแหน่งในปี 2559 แต่ชื่อเสียงของซูจีเริ่มมัวหมองลงจากการปฏิรูปที่เชื่องช้าและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่ยืดเยื้อ และซูจียังเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากชาติตะวันตกนับตั้งแต่วิกฤตโรฮิงญาเกิดขึ้น

การโจมตีของกองกำลังความมั่นคงและชาวพุทธท้องถิ่นในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ในเดือน ส.ค.2560 ขับไล่ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน ที่ต้องอพยพหลบหนีข้ามแดนไปบังกลาเทศ และผู้สืบสวนสหประชาชาติระบุว่า การอพยพดังกล่าวเป็นผลของการปราบปรามของทหารที่ดำเนินการด้วยเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เจ้าหน้าที่พม่าได้โต้แย้งอย่างหนักต่อข้อสรุปดังกล่าว และระบุว่า ปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นเป็นการตอบโต้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อเหตุโจมตีของกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาที่สังหารสมาชิกของกองกำลังความมั่นคงไป 13 นาย

ในเดือน ก.ย.2560 ซูจีกล่าวว่า ผู้ก่อการร้ายอยู่เบื้องหลัง ‘ภูเขาน้ำแข็งของข้อมูลเท็จ’ เกี่ยวกับความรุนแรง

“ประชาชนชาวพม่าไม่สนับสนุนให้คนถูกขับไล่ออกจากบ้านของตัวเอง แต่มันแตกต่างออกไปกับชาวเบงกาลีเหล่านี้” โฆษกพรรค กล่าวถึงชาวโรฮิงญาด้วยคำที่ทางการพม่าใช้ระบุถึงผู้ที่ลักลอบเข้าประเทศจากบังกลาเทศ

ทหาร 7 นาย ถูกตัดสินจำคุกนาน 10 ปี จากการสังหารเด็กชายและผู้ชายโรฮิงญา 10 คน ในหมู่บ้านอินดิน แต่ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือน พ.ย. หลังรับโทษได้ไม่ถึง 1 ปี

เมื่อปลายเดือนก่อน กองทัพได้เปิดศาลทหารสอบสวนทหารจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ในหมู่บ้านกูร์ดาเปง ซึ่งเป็นพื้นที่อีกแห่งหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่ามีการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา 10 คน โดยทหารระบุว่า นายทหารที่ถูกสอบไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบการสู้รบอย่างเคร่งครัด แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับศาลทหารที่ยังคงดำเนินการอยู่ตอนนี้

“จนถึงตอนนี้เราทราบว่า มีเหตุสังหารหมู่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านอินดิน และหมู่บ้านกูร์ดาเปง นั่นคือทั้งหมดเท่าที่ซูจีรู้ ไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” โฆษก กล่าว

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนชาวพม่าหลายร้อยคนรวมตัวชุมนุมสนับสนุนให้กำลังใจซูจีตามเมืองใหญ่ต่างๆ และวางแผนที่จะจัดการชุมนุมกันอีกในวันแรกของการพิจารณาคดี

“ตอนนี้มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ สิ่งนี้เป็นความพยายามที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของเธอแข็งแกร่งขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า ทุกอย่างคือการเมือง” โก โก ยี นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยและอดีตพันธมิตรของซูจี กล่าว

พม่ามีกำหนดที่จะจัดการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2563 และขณะเดียวกัน ผลสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่ม People's Alliance for Credible Elections ในเดือน ก.ค. พบว่า ซูจียังคงได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลาม แม้รัฐบาลของเธอจะเผชิญต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากความล้มเหลวที่จะยุติความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่ย่ำแย่ลงตามพื้นที่ชายแดนหรือปฏิรูปรัฐธรรมนูญ

ในรัฐกะเหรี่ยง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ติดตั้งป้ายโฆษณาหลายสิบป้ายที่ปรากฏรูปนางอองซานซูจีที่มีใบหน้ายิ้มแย้มพร้อมทหาร 3 นาย ในท่าทางหัวเราะอย่างสดใส พร้อมข้อความระบุว่า “เราเคียงข้างคุณ”.






กำลังโหลดความคิดเห็น