รอยเตอร์ - พลจัตวาซอ มิน ตุน โฆษกทหารพม่าเผยว่า กองทัพเริ่มนำตัวเจ้าหน้าที่ต้องสงสัยขึ้นศาลทหารหลังการสอบสวนข้อกล่าวหาการทารุณกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างการปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญา ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเตรียมที่จะเผชิญกับข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลระหว่างประเทศในกรุงเฮก
ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนอพยพไปบังกลาเทศเพื่อหลบหนีการปราบปรามของทหารพม่าที่เริ่มขึ้นในเดือนส.ค. 2560 เหตุการณ์ที่ผู้สืบสวนสหประชาชาติระบุว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ทหาร ตำรวจ และชาวพุทธท้องถิ่น ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุวางเพลิงเผาหมู่บ้านหลายร้อยแห่งในพื้นที่ห่างไกลทางตะวันตกของรัฐยะไข่ ทรมานชาวโรฮิงญาขณะพวกเขาหลบหนี กระทำการสังหารหมู่และรุมโทรมข่มขืน
ทางการพม่าระบุว่า ทหารกำลังต่อสู้อย่างชอบธรรมเพื่อปราบปรามกลุ่มก่อความไม่สงบที่โจมตีด่านรักษาความมั่นคง
พลจัตวาซอ มิน ตุน กล่าวกับรอยเตอร์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า ทหารและเจ้าหน้าที่จากกรมทหารที่ถูกส่งไปยังหมู่บ้านกูดาร์เปง สถานที่ที่มีการกล่าวหาว่าเกิดเหตุสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา “มีความหย่อนยานในการปฏิบัติตามกฎการใช้กำลัง”
คำแถลงของกองทัพที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกนำขึ้นศาลทหารนั้นมีความเกี่ยวข้องในอุบัติเหตุที่หมู่บ้านกูดาร์เปง
สำนักข่าวเอพีได้รายงานเกี่ยวกับการมีอยู่ของหลุมศพขนาดใหญ่อย่างน้อย 5 หลุมในหมู่บ้าน ผ่านการสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ และจากคลิปวิดีโอที่ถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือซึ่งระบุช่วงเวลา แต่ทางการพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาตามรายงานของเอพี
พม่ากำลังเผชิญกับคลื่นแรงกดดันจากต่างประเทศจากการปฏิบัติของทหารต่อชาวโรฮิงญา ซึ่งพม่าถูกยื่นฟ้องตามศาลต่างๆ ทั่วโลก และนางอองซานซูจี มีกำหนดเดินทางไปยังกรุงเฮก ที่การพิจารณาคดีจะเริ่มขึ้นในเดือนธ.ค. ยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
พม่าระบุว่าความพยายามของนานาชาติละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศและได้ให้คำมั่นที่จะดำเนินการสอบสวนข้อกล่าวหาต่างๆ ด้วยตัวเอง แต่จนถึงปัจจุบัน มีไม่กี่คนที่ถูกลงโทษ ทหาร 7 นายที่ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี จากการสังหารผู้ชายและเด็กชายชาวโรฮิงญา 10 คน ในหมู่บ้านอินดิน ได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา หลังจำคุกได้ไม่ถึง 1 ปี.