เอพี - นายกรัฐมนตรีฮุนเซนแห่งกัมพูชา ระบุว่า สิ่งสำคัญสำหรับประเทศของเขาคือการคงไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติ มากกว่าการคงสิทธิพิเศษทางการค้าที่สหภาพยุโรปขู่ว่าจะเพิกถอน
ฮุนเซน กล่าวกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลว่า แม้จะสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้า แต่กัมพูชาจะยังสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ของประเทศไปยังสหภาพยุโรปไ้ด้เหมือนก่อนเพียงแต่จะมีกำไรลดลง แต่อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปจะไม่สามารถข่มขู่หรือตั้งเงื่อนไขกับกัมพูชาได้อีกต่อไป
สหภาพยุโรปประกาศเมื่อต้นปีนี้ว่าจะเริ่มกระบวนการตรวจสอบเพื่อตัดสินใจว่าจะยุติสิทธิพิเศษทางการค้าของกลุ่มที่ให้แก่กัมพูชาหรือไม่ เนื่องจากวิตกกังวลถึงประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานของประเทศ
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. สหภาพยุโรปได้มอบรายงานการประเมินเบื้องต้นต่อกัมพูชา และให้เวลา 1 เดือนสำหรับกัมพูชาเพื่อตอบสนองรายงานฉบับดังกล่าว และการตัดสินใจของสหภาพยุโรปว่าจะถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้าหรือไม่นั้นคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ.2563
อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าเป็นภาคส่วนส่งออกรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา มีการจ้างงานแรงงานเกือบ 800,000 คน ในโรงงานสิ่งทอและรองเท้าราว 1,000 แห่ง และในปี 2561 กัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังสหรัฐฯ และยุโรปเป็นมูลค่าเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการพิจารณาทบทวนสิทธิพิเศษทางการค้าของกัมพูชาเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ก.ค.2561 ที่พรรคประชาชนกัมพูชาของฮุนเซนชนะทุกที่นั่งในสภา ทำให้สหภาพยุโรปและชาติอื่นๆ กล่าวหาว่าการเลือกตั้งไม่เสรีและไม่เป็นธรรม เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านที่น่าเชื่อถือเพียงพรรคเดียวอย่างพรรคกู้ชาติกัมพูชา ถูกยุบพรรคในเดือน พ.ย.2560 โดยศาลสูงที่ถูกมองว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาล
ฮุนเซนกล่าวหาว่าเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปต้องการให้รัฐบาลของเขาปฏิบัติตามนั้น ละเมิดกฎหมายกัมพูชา รวมถึงเอกราชและอธิปไตยของประเทศ แม้กัมพูชาไม่ต้องการที่จะเสียสิทธิพิเศษทางการค้า แต่กัมพูชาก็ไม่สามารถยอมรับการแลกเปลี่ยนดังกล่าวได้
“ตอนนี้พวกเขา (สหภาพยุโรป) ข่มขู่เราด้วยการขอให้เราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้...แต่เราไม่สามารถแลกเปลี่ยนอธิปไตยของเราเพื่อร้องขอของขวัญจากพวกเขาหรือความเห็นอกเห็นใจของพวกเขา” ฮุนเซน กล่าว
ผู้นำเขมรกล่าวว่า รัฐบาลของเขาได้เตรียมการรับมือต่อสถานการณ์การเสียสิทธิพิเศษทางการค้ามาตั้งแต่เดือน มี.ค. เพราะการเสียสิทธิพิเศษทางการค้าเป็นเรื่องของเวลา เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง จะทำให้ประเทศไม่สามารถอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสหภาพยุโรปได้อีกต่อไป.