xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหูเปิดตาเปิดตัว ADS ระบบต้านจรวดยิงรถถังครั้งแรกค่ายยุโรป Made in Germany

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

รถถังของสหรัฐกับโลกตะวันตกพึ่งพาความแข็งแกร่งของเกราะโลหะ และ เกราะระเบิดปฏิกริยา ERA เป็นหลักตลอดมาในการป้องกัน แต่ทั้งหมดต้องรอให้หัวรบกระทบลำตัวรถเสียก่อน การป้องกันแบบนี้ไร้ความหมายลงไปเมื่อมีการพัฒนาหัวรบแบบแทนเด็มขึ้นมา  -- ระบบ ADS ของเยอรมนี กำลังจะนำยานเกราะโลกตะวันตกทั้งมวลเข้าสู่อีกยุคหนึ่ง -- โปรดชมในวิดีโอชิ้นแรก.
MGR ออนไลน์ -- วิดีโอการทดสอบระบบป้องกันยานเกราะโดยบริษัทไรน์เมทาลดีเฟ้นส์ (Rheinemetall Defense) กำลังกระหึ่มอยู่ในโลกออนไลน์ช่วงข้ามวันมานี้ และ มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นักวิเคราะห์ด้านกลาโหม ยกย่องระบบ Active Defence System (ADS) ของเยอรมนีเป็นวิวัฒนาการครั้งสำคัญ เป็นระบบป้องกันที่ค่ายตะวันตก ทั้งนาโต้และสหรัฐแสวงหากันมานาน หลังได้บทเรียนจากสงครามในยุคปัจจุบัน

นี่คือระบบป้องกันที่ก้าวหน้า ที่ถูกพัฒนาขึ้่นมาเป็นระบบล่าสุดในโลก ซึ่งจะช่วยให้รถถังและยานหุ้มเกราะอื่นๆและกำลังพล จนถึงรถยนต์-พาหนะต่างๆ ขนาดน้อยใหญ่ทั่วไป ให้อยู่รอดปลอดภัยได้มากขึ้น ในกรณีถูกโจมตีด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี และ อาวุธทำลายอีกหลายชนิด

พูดอย่างจำเพาะก็คือ รถหุ้มเกราะทุกรุ่นของค่ายตะวันตกและสหรัฐ ยังขาดอุปกรณ์ป้องกันที่มีความสำคัญยิ่งยวดชนิดนี้่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถถังหลักกับยานโจมตีและยานลำเลียงพล ทั้งที่ผลิตโดยสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี กับพันธมิตรอื่นๆ ยังไม่เคยมีระบบนี้ใช้ให้เห็น ซึ่งทำให้ถูกทำลายอย่างง่ายดายหลายต่อหลายครั้ง ในสงครามตะวันออกกลาง เช่นที่เห็นในซีเรียตลอดหลายปีที่ผ่านมา

วิดีโอทดสอบของไรน์เมทาล แสดงให้เห็นการยิงยานพาหนะขนาดใหญ่น้อย รวมทั้งยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ -- รวมทั้งรถถังเลโอดพาร์ด 1 รุ่นหนึ่งที่ใช้เป็นเป้า -- ด้วย RPG-7 และ ด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง (Anti-Tank Guided Missile) ที่ไม่ทราบรุ่น แต่หัวรบถูกทำลายให้ระเบิดจนสิ้นสภาพไปก่อนจะเข้าถึงเป้าหมาย โดยระบบ ADS ซึ่งเป็นการทำลายแบบ "ฮาร์ด คิล" (Hard Kill) ตามที่เรียกกันในภาษาทางเทคนิคนั่นเอง

วิดีโอยังแสดงให้เห็นการยิงอาวุธใส่เป้าหมายจากมุมต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งการ "ปล่อย" อวป.นำวิถีจากอากาศยานด้วย แต่หัวรบที่ยิงเข้าใส่ทั้งหมดถูกทำลาย โดยหัวรบที่ส่งออกจากระบบป้องกันในระยะประชิดนี้ -- ตอนต้นๆในวิดีโอยังแสดงให้เห็นการติดตั้ง กับการทำงานของระบบเซ็๋นเซอร์ที่ใช้เลเซอร์ คอยตรวจจับหัวรบที่พุ่งเข้าหา ก่อนระบบจะสั่งปล่อยหัวรบของตนออกไปทำลายในระยะใกล้ โดยมีขีดความสามารถยิงทำลายหัวรบของข้าศึกได้หลายหัวรบ ในเวลาเดียวกัน

ไรน์เมทาลระบุในเว็บไซต์ว่า ADS เป็นป้องกันตนแบบอัตโนมัติ ที่เรียกกันทั่วไปว่า Active Protection System แต่เป็น APS ระบบแรกที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ ฮาร์ดแวร์กับซอฟท์แวร์ทั้งหมด ผลิตโดย Rheinmetall Active Protection GmbH ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาระบบนี้โดยเฉพาะ -- สามารถติดตั้งทั้งในยานพาหนะเพื่อการป้องกันประเทศหลากหลายชนิด ตามความต้องการ
.

.
ไม่กี่ปีมานี้ มีทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวหลายชิ้นที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ แสดงให้เห็นการสูญเสียรถถัง M1A1 เอบรามส์ (Abrams) ของซาอุดิอาระเบียในเยเมน และ การสูญเสียเลโอพาร์ด 2A2 ของตุรกีอีกหลายคันในซีเรีย -- ในหลายเหตุการณ์ถูกยิงด้วยเครื่องยิงระเบิดอาร์พีจี -- อีกหลายทำลายโดย อวป.นำวิถีหลากหลายรุ่นที่ผลิตจากโซเวียต/รัสเซีย

แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายเหตุการณ์ แสดงให้เห็นรถถัง T-90MS ของรัสเซียถูกยิงในซีเรีย แต่อยู่รอดปลอดภัย ด้วยระบบป้องกันคล้ายกัน ที่พัฒนาและผลิตโดยค่ายรัสเซียเอง -- เพราะฉะนั้น ADS จึงเป็นระบบป้องกันที่สหรัฐแสวงหามากที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย

ก่อนหน้านี้ในเดือน ต.ค.2560 กองทัพบกสหรัฐได้ เปิดเผยให้เห็น M1A2 คันแรก ที่ติดตั้งระบบโทรฟี (Trophy) ผลิตโดยราฟาเอล แอดวานซ์ ดีเฟนส์ ซีสเต็ม (Rafael Advanced Defense Systems Ltd) ประเทศอิสราเอล ซึ่งต่อมาแหล่งข่าววงในได้เปิดเผยว่า สหรัฐจะติดตั้งระบบนี้ในรถถังเอบรามส์หลายพันคัน

กองทัพบกสหรัฐดำเนินการมาแต่ต้นปี 2560 ทั้งในระดับกระทรวงกลาโหมและในระดับรัฐสภา จนกระทั่งปลายปีจึงมีเอกสารสัญญาฉบับหนึ่งเผยแพร่โดยเพนตากอน ที่มอบหมายให้บริษัทเจเนอรัล ไดนามิคส์ แลนด์ ซีสเต็มส์ (General Dynamics Land Systems Inc) เป็นผู้ผลิต M1A2 ให้เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบโทรฟี

โทรฟีจึงนับเป็นระบบ APS ทันสมัยที่สุด เพียงหนึ่งเดียว ที่โลกตะวันตกสามารถเข้าถึงได้ ปัจจุบันบันติดตั้งในรถถังเมอร์คาวา 4 (Merkava-4) ของกองทัพอิสราเอล กับยานหุ้มเกราะเกือบทั้งหมดที่ออกปฏิบัติการในเขตฉนวนกาซ่า และดินแดนแห่งความขัดแย้งอื่นๆ แม้จะยังไม่เคยเห็นนำไปติดตั้งในรถถังหลักทั้งของเยอรมนี อังกฤษ หรือฝรั่งเศส ก็ตาม
.

.
ถึงแม้ว่าในระหว่างสงคราม "พายุทะเลทราย" (Operation Desert Storm) เดือน ก.พ.2534 จะไม่มี M1A1 ถูกกองทัพประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ทำลายแม้แต่คันเดียว แต่ในยุคใหม่ตั้งแต่กลางปี 2557 เป็นต้นมา อิรักในยุคใหม่ สูญเสียเอบรามส์รุ่นก่อนไปนับร้อยคัน ในสงครามต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม

กองทัพซาอุดิอาระเบียก็สูญรถถังไปหลายคันทั้ง M1A1 และ M1A2 เมื่อครั้งเปิดการรุกรบข้ามพรมแดนเข้าไปในเยเมน เพื่อปราบกองกำลังฝ่ายกบฏฮูติ (Houthi) ที่มีอิหร่านหนุนหลัง รถถังเหล่านั้นถูกยิงด้วยอาร์พีจีรุ่นใหม่ๆ และหลายคันถูกยิงด้วย อวป.นำวิถี ผลิตในรัสเซีย

สงครามในซีเรียยังแสดงให้เห็นจุดอ่อนของรถถังหลักอีกหลายรุ่น ที่ไม่ได้ติดระบบป้องกัน APS รวมทั้ง รถถังกองทัพรัฐบาลซีเรียที่ผลิตจากรัสเซียเองด้วย

ตุรกีสูญ รถถังเลโอพาร์ด 2A4 ไปนับสิบคัน เมื่อครั้งเปิดการรุกรบข้ามพรมแดนเข้าชิงพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียปี 2559 วิดีโอที่แพร่ผ่านสื่อประชาสังคมแสดงให้เห็นรถถังผลิตในเยอรมนีหลายคันถูกยิงด้วย ATGM ราคาถูกๆ ที่ผลิตในรัสเซีย จนเสียหายหนักใช้การไม่ได้อีกต่อไป หลายคันถูกทำลายซ้ำด้วยระเบิด จนชิ้นส่วนต่างๆกระจัดกระจาย

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีหลายเหตุการณ์แสดงให้เห็นรถถัง T-90MS กับ T-72B3 ที่รัสเซียขายให้แก่ฝ่ายรัฐบาลซีเรียในล็อตใหม่ ถูกยิงด้วย อวป.นำวิถีจากกองกำลังฝ่ายกบฎไอซิส มีทั้งอาวุธที่ผลิตจากสหรัฐ และผลิตจากรัสเซียเอง แต่รถถังกับกำลังพลอยู่รอดปลอดภัย เนื่องจากติดตั้งระบบป้องกันครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ระบบ APS ของรัสเซียรุ่นหนึ่ง
.
หัวรบของข้าศึกถูกทำลายในระยะประชิด แต่รถถังหรือรถหุ้มเกราะอยู่รอดปลอดภัย.
ทั้งหมดนับเป็นเหตุการณ์ที่ช่วยเปิดหูเปิดหาโลกตะวันตก หลายกรณีเป็นบทเรียนราคาแพง เนื่้องจากที่แต่ไหนแต่ไรมาพึ่งพาระบบเกราะหุ้มโลหะชนิดต่างๆ กับระบบป้องกันแบบเกราะระเบิดปฏิกริยา หรือ ERA (Explosive Reactive Armour) เป็นหลัก โดยระบบดังกล่าวใช้วัตถุระเบิดเป็นแท่งๆ หรือก้อนๆ ติดตั้งรายรอบตัวรถ และ จะเกิดการระเบิดเมื่อหัวรบจากฝ่ายข้าศึกพุ่งเข้ากระทบ -- ERA จะทำลายหัวรบข้าศึก ก่อนที่หัวรบจะเจาะเกราะเข้าไปข้างในตัวรถ ซึ่งหากผ่านเข้าไปได้ ก็จะทำให้เกิดการระเบิดขึ้นในคลังแสง ทำลายทุกอย่างจากภายใน

อย่างไรก็ตามระบบเกราะระเบิดเริ่มไร้ความหมาย เมื่อมีการพัฒนาหัวรบรุ่นใหม่ที่ทำงานแบบ 2 จังหวะ ที่เรียกกันทั่วไปว่า "หัวรบแบบแทนเด็ม" (Tandem Warhead) โดยหลักการทั่วไปก็คือ หัวรบแรกพุ่งเข้าไปเพื่อให้ถูกทำลายก่อน เปิดพื้นที่ให้หัวรบที่สองตามเข้าไปในจังหวะใกล้เคียง เพื่อเจาะเกราะอีกครั้งหนึ่ง -- บางชนิดใช้หัวรบแบบ 2 ชั้นทำงานพร้อมกัน

นักวิเคราะห์หลายรายกล่าวว่า ระบบ ADS ของไรน์เมทาล กำลังจะทำให้ระบบป้องกันยานเกราะของโลกตะวันตก มีความสมบูรณ์เป็นครั้งแรก

ในย่านนี้มีเพื่อนบ้านหลายประเทศที่ใช้รถถังกับยานเกราะของค่ายโซเวียต/รัสเซีย ทั้งพม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่เกือบทั้งหมดเป็นรุ่นเก่า ยังไม่เคยมีข้อมูลว่ายานเกราะเหล่านั้นติดตั้งระบบ APS ด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตามกรณีของเวียดนามอาจจะเป็นครั้งแรก -- ตามรายงานของสื่อรัสเซียนั้น รถถัง T-90SK ทั้ง 64 คันซื้อพร้อมระบบป้องกันครบครัน ซึ่งอาจจะหมายถึงระบบ APS รุ่นหนึ่งด้วย รายงานเมื่อเดือนที่แล้วแสดงให้เห็นการ ทดสอบรถถังสำหรับเวียดนามจำนวน 31 คัน โดยโรงงานอูราลวากอนซาวอด (UralWagonSavod) ที่เมืองนิซนีตากิล (Nizhny Tagil) แหล่งผลิต เพื่อทยอยส่งมอบล็อตแรกปลายปีนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น