xs
xsm
sm
md
lg

ดูใกล้ๆ ISIS ยึด Leopard 2A4 สองคัน ยิงกระจุยอีกหนึ่ง "เสือดาว" เยอรมันพ่ายหมดรูปในซีเรีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#00003>เลโอพาร์ด (เล็พเพิร์ด) 2A4 คันนี้ สภาพเสียหายพอสมควร เป็นร่องรอยจากการยิงปะทะ ISIS นำศพพลประจำรถถังตุรกีทั้ง 6 คน ออกจากรถวางบนพื้น พร้อมอุปกรณ์ เครื่องใช้กับอาวุธประจำกาย ส่วนอีกคันหนึ่ง (ในภาพ 2 3 และ 4) ที่ถูกยึดพร้อมกัน มีร่องรอยความเสียหายที่เกิดจากการต่อสู้เพียงเล็กน้อย เมื่อรวมกับ เสือดาว ที่ถูกยิงพินาศไปอีก 1 คันในวันเดียวกัน ทำให้ตุรกีสูญรถถังชั้นนำ ที่ผลิตในเยอรมนีไปทั้งหมด 6 คันในช่วง 10 วันที่ผ่านมา.  </b>

MGRออนไลน์ -- กลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามในซีเรีย ได้เผยแพร่ภาพเป็นจำนวนมาก ในช่วงข้ามวันมานี้ แสดงให้เห็นการยึดรถถังเลโอพาร์ด 2A4 จากทหารตุรกีจำนวน 2 คัน ในการสู้รบใกล้กับเมืองอัล-อาบาบ (Al-ฺBab) ในวันเดียวกันพวกเขายังยิงอีก 1 คันพังพินาศ ด้วยจรวดต่อสู้รถถังรุ่นหนึ่ง ที่พัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเวียดนาม ซึ่งทั้งสองกรณีนี้เป็นเหตุการณ์ใหม่ หลังจากเมื่อ 10 วันก่อน ISIS ยิง "เสือดาว" ของตุรกี ระเบิดกระจุยกระจายไป 3 คัน นักวิเคราะห์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ และไม่คาดคิดมาก่อนว่า รถถังดีที่สุดอีกรุ่นหนึ่งของโลก จะมีความเปราะบางมากขนาดนี้

นักวิเคราะห์กล่าวอีกว่า การที่ตุรกีสูญเสีย "เสือดาว" ไปจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้นเช่นนี้ ย่อมจะทำให้ประเทศอื่นๆ ที่มีประจำการในกองทัพ ต้องศึกษาเป็นบทเรียน ซึ่งรวมทั้งสิงคโปร์ กับ อินโดนีเซียในย่านนี้ด้วย

ภาพของ ISIS แสดงให้เห็นนักรบของฝ่ายตน ปีนขึ้นไปบนรถถังเลโอพาร์ดคันหนึ่ง ที่ยังมีสภาพเกือบสมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยการถูกยิงด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง (Anti-Tank Guided Missile) ใดๆ แต่อีกคันหนึ่งมีร่องรอยความเสียหาย จากการต่อสู้ด้วยอาวุธเบา และ แสดงให้เห็นร่างไร้วิญญาณของพลรถถังตุรกี กับสิ่งของส่วนตัวรวมทั้งอาวุธปืน ถูกนำออกไปวางรวมกันไว้ บนพื้นที่มีหิมะปกคลุม ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์วันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา และ ในวันถัดมา ISIS ยังนำเอาคลิปสั้นๆ ชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับเหตุกรณ์นี้ ขึ้นโพสต์ในทวิตเตอร์อีกด้วย

ก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง ISIS ยังนำภาพถ่ายอีกชุดหนึ่งโพสต์ทางทวิตเตอร์ แสดงการยิงรถถังเลโอพาร์ดของตุรกีอีก 1 คัน มีการระเบิดรุนแรงติดตามมา ซึ่งหมายความว่า ความร้อนจากการระเบิดของ ATGM สามารถผ่านรอยต่อระหว่างป้อมปืนกับแชสซี เข้าสู่ส่วนคลังแสงของรถถังได้โดยง่าย ทำให้เกิดการระเบิดจากภายใน ทำลายสรรพสิ่งที่อยู่ภายใน รวมทั้งทุกชีวิตด้วย

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อาวุธที่ใช้ยิงรถถังเลโอพาร์ดคันล่าสุดนี้ ก็ยังเป็นจรวดคอร์เน็ต (9M133 "Kornet") ชนิดเดียวกับที่เคยใช้ยิง 3 คันก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นจรวดที่ผลิตในสหภาพโซเวียตเมื่อก่อน และ ใช้มานาน พัฒนาต่อรุ่นมายาวนาน ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 หลังสงครามเวียดนามจนถึงยุครัสเซีย

และคำถามใหญ่ก็ยังเป็นคำถามเดิม คือ เพราะเหตุใดเลโอพาร์ด 2A4 ของตุรกี จึงไม่มีการติดตั้งระบบป้องกันใดๆ หรือ ทำไมจึงสุ่มเสี่ยงขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ตระหนักเป็นอย่างดีว่า กลุ่มก่อการร้าย มี ATGM หลายชนิดในครอบครอง ทั้งผลิตในโซเวียต/รัสเซีย สหรัฐ กระทั่งจรวดยิงอากาศยานบินต่ำ/ความเร็วต่ำผลิตในจีน ซึ่งพวกเขาเคยนำไปดัดแปลงยิงรถถังอย่างได้ผลเช่นเดียวกัน

อีกคำถามหนึ่งซึ่งเป็นคำถามสำคัญในทางยุทธวิธีก็คือ เพราะเหตุใดตุรกีซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มนาโต้ และมีกองทัพอากาศทันสมัย ไม่แพ้ประเทศใดในย่านนี้ จึงไม่ใช้การโจมตีทางอากาศ หรือการทิ้งระเบิดสนับสนุนทหารราบ กับทหารม้ายานเกราะ รวมทั้งไม่โจมตีทำลายทิ้งรถถังที่ถูกยึด แต่กลับปล่อยให้ตกไปอยู่ในมือฝ่ายตรงข้ามอย่างง่ายดาย ซึ่งในวันหนึ่งข้างหน้า อาจจะนำกลับไปเข่นฆ่าทหารตุรกีในซีเรียเสียเอง..
.
[โปรดชมคลิปโดยใช้วิจารณญาณ เนื่องจากเป็นวิดีโอถ่ายจากเหตุการณ์สู้รบจริง และเต็มไปด้วยความรุนแรง บางฉากในคลิปนี้มีศพทหารเสียชีวิต มีรอยคราบเลือด มีการกระทำไม่เหมาะสมบางอย่าง ที่อาจทำให้ผู้ชมรู้สึกเป็นทุกข์ หรือไม่สบายได้.]

.


.
ผู้สังเกตุการณ์ที่ติดตามสถานการณ์ในซีเรียหลายคน เขียนลงในทวิตเตอร์อ้างคำแถลงของ ISIS ที่ระบุว่า การต่อสู้ล่าสุดนี้ เกิดขึ้นใกล้กับเมืองอัลบาบ มีทหารตุรกี ถูกสังหารไป 14 คน กลุ่มจิฮัดแนวร่วมอีก 138 คน จนต้องล่าถอย และ ยังยึดรถถัง "เสือดาว" ได้ 2 คัน รถลำเลียงพลหุ้มเกราะอีก 2 คัน โดย ISIS แสดงหลักฐาน เป็นวิดีโอคลิป กับภาพถ่ายที่ "แค็ป" ไปจากวิดีโอดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

กลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามกล่าวอ้างอีกว่า มีทหารตุรกีบาดเจ็บอีก 38 คน ในการสู้รบที่รุนแรงที่สุดในย่านรอบๆ เมืองอัลบาบ ในวันพุธที่ผ่านมา และ นักวิเคราะห์กล่าวว่า ถึงแม้ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิต ที่ ISIS กล่าวอ้างอาจดูมากเกิน และไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่ภาพถ่ายทำให้เชื่อได้ว่า พวกเขายึดรถถังเลโอพาร์ดทั้ง 2 คันจริง

ดังนั้นเมื่อรวมเข้ากับกรณีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 11-12 ธ.ค. จนถึงปัจจุบันตุรกีสูญเสียรถถังชั้นเยี่ยมผลิตจากเยอรมนีรุ่นนี้ ไปทั้งหมดเป็นจำนวน 6 คัน หลังถูกนำข้ามแดนเข้าไปปฏิบัติการในซีเรียได้ไม่นาน ยังไม่นับรวมกับรุ่นอื่นๆ กับ ยานเกราะชนิดอื่นๆ

ตุรกีได้เปิดการรุกรบที่เรียกว่า "ยุทธการป้องกันยูเฟรทีส" หรือ ยูเฟรทีสชีลด์ (Euphrates Shield Operation) เมื่อ 4 เดือนที่แล้ว เพื่อปราบปรามกลุ่มรัฐอิสลาม ใกล้ชายแดนของตนในซีเรีย การบุกยึดอัลบาบ เป็นความจำเป็นทั้งทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เนื่องจากเป็นประตูสำคัญผ่านไปสู่เมืองอาเล็ปโป (Aleppo) เมืองใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของ ISIS กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียอีกหลายกลุ่ม ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และ ฝ่ายรัฐบาลซีเรียเพิ่งยึดคืนได้เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้

แต่หากมองย้อนในทางกลับกัน อัลบาบก็เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ ที่ ISIS ใช้เป็นฐานปฏิบัติการ แทรกซึมเข้าสู่ดินแดนตุรกีนั่นเอง
.

2

3

4
นักวิเคราะห์มองว่ายุทธการยูเฟรทีสชีลด์ของตุรกี ค่อนข้างล้มเหลว ยังคืบไปไม่ถึงไหน ตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมายังคงติดอยู่ในบริเวณรอบๆอัลบาบ ทั้งยังสูญเสียอย่างหนักหน่วง ภาพที่ ISIS เผยแพร่ 1-2 เดือนก่อนหน้านี้ ยังแสดงให้เห็นการยิงทำลายรถถัง กับยานเกราะรุ่นอื่นๆ ของฝ่ายตุรกีอีกนับสิบคัน รวมทั้ง M60T "แพ็ตตัน" และ M60T "ซาบรา" (Sabra) รุ่นที่อัปเกรดโดยอิสราเอล ยานลำเลียงพลล้อยาง ยานลำเลียงพลตีนตะขาบ และ รถหุ้มเกราะป้องกันวัตถุระเบิดอีก 1 คันเป็นอย่างน้อย

ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ในประเทศกรีซ รายงานอ้างตัวเลขของแหล่งข่าวที่ไม่เป็นทางการว่า ตุรกีส่งรถถังข้ามพรมแดน เข้าไปร่วมปฏิบัติการยูเฟรีสชีลด์ระหว่าง 45-50 คัน การสูญเสียรถถังรุ่นเก่าไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องส่งเลโอพาร์ด 2A4 ที่ทันสมัยกว่าติดตามเข้าไปเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งอาจจะมีจำนวนถึง 15 คัน

แต่ตุรกียังยึดอัลบาบไม่สำเร็จ

ตามข้อมูลในเว็บไซต์ Armyrecognition.Com แหล่งข้อมูลที่ได้รับความเชื่อถือ มากที่สุดอีกแห่งหนึ่ง ถึงแม้ว่า Leopard 2A4 จะใช้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 ก็ตาม แต่ระบบต่างๆ ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงมาเป็นลำดับ รวมทั้งการหุ้มเกราะ ที่ใช้แผ่นโลหะยูเรเนียมเสื่อมสภาพกัมมันตะรังสีแล้ว ผสมกับแผ่นโลหะทังสเต็นที่ให้ความแข็งแกร่ง เช่นเดียวกันกับเกราะหลักของ M1A1/A2 สหรัฐ

ติดเครื่องยนต์ดีเซล 12 สูบ 47.6 ลิตรของเยอรมนี ใช้เชื้อเพลิงได้หลายชนิด ให้พลังถึง 1,100 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุด 72 กม/ชม อาวุธหลักเป็นระบบปืนใหญ่ 120 มม. ที่มีชื่อเสียงของไรน์เมทาล (Rheinemetall) อาวุธรอง ปืนกล 7.26 มม.ติดตั้งเข้ากับแชสซี ทางด้านซ้ายมือ 1 กระบอก และ ติดตั้งเข้ากับแท่นป้อนกระสุน ที่อยู่ภายในตัวรถอีก 1 กระบอก
.


5

6

7
ปืนใหญ่ลำกล้องเกลี้ยง 120 มม. ยิงกระสุนเจาะเกราะ กับ "กระสุนละลายเกราะ" ประสิทธิภาพสูง 2 ชนิด ซึ่งได้แก่ APFSDS-T และ HEAT-MP-T บรรทุกได้จำนวน 42 นัดในคลังแสง ที่วางตำแหน่งเอาไว้ส่วนกึ่งกลางของตัวรถ นอกจากนั้นยังติดตั้งท่อยิงกระสุนควัน 76 มม. ไว้สองข้างของป้อมปืน สำหรับการอำพรางตัว

รุ่นปัจจุบัน (รวมทั้งของกองทัพตุรกี) ยังควบคุมการยิง/การใช้อาวุธด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และ ใช้ระบบป้อนกระสุนอัตโนมัติ แบบ "ออโต้โหลดเดอร์" เช่นเดียวกับรถถังสมัยใหม่

ระบบควบคุมการยิงรุ่นใหม่ ช่วยเพิ่มระยะให้ปืนใหญ่ของ "เสือดาว" ยิงได้ไกลถึง 10,000 เมตร และ สามารถยิงเป้าหมายเคลื่อนที่ได้ จากระยะไกล 5,000 เมตร แม้รถถังจะกำลังวิ่งด้วยความเร็ว ไปบนเส้นทางขรุขะแค่ไหนก็ตาม ทั้งนี้ด้วยระบบช่วยเล็ง กับระบบปืนใหญ่เสถียรอันเป็นเลิศของไรน์เมทาล

แต่ถ้าหากเทียบกับรถถังที่ผลิตออกมาในยุคใหม่ ซึ่งรวมทั้ง T-84 "โอปล็อต-M" ของยูเครน T-90M/MS รวมทั้ง T-14 "อาร์มาตา" ของรัสเซีย หรือ แม้กระทั่ง T-72B ที่ปรับปรุงใหม่ เลโอพาร์ด 2A4 มีข้อด้อยอยู่หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เลย์เอ้าท์ภายในที่ออกแบบมาให้ พลขับนั่งอยู่ส่วนหน้าขวาของรถ แต่แยกที่นั่ง ผบ.รถถัง กับพลอาวุธ ไปไว้ในส่วนคลังแสง ซึ่งหลบออกจากรถได้ยาก เมื่อถูกยิงด้วย ATGM หรือ ระเบิดอาร์พีจี และ หากเกิดการระเบิดจากภายใน ก็หมายถึงการเสียชีวิต

เลโอพาร์ด 4A2 ยังเป็นพื้นฐาน สำหรับการพัฒนารุ่นต่อๆ มา บนแชสซีเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น 2A5/6/7 ยังคงใช้เกราะชนิดเดียวกัน แต่เพิ่มจุดหุ้มให้มากขึ้น แน่นหนายิ่งขึ้น ติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ มีระบบปืนใหญ่เสถียรที่ใหม่กว่า บางรุ่นใช้ปืนใหญ่ 120 มม. ที่มีลำกล้องสั้นลง เพื่อให้เหมาะกับการต่อสู้ในยุคใหม่ ที่บ่อยครั้งเป็นการต่อสู้ในเขตเมือง เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะมีประวัติการใช้งานมานานกว่า 30 ปี แต่ "เสือดาว" ก็ยังเป็นรถถังทันสมัยที่สุดอีกรุ่นหนึ่งของโลก
.

ทั้ง 3 ภาพต่อไปนี้ เป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2559 ในเขตเมืองอัลบาบ (Al-Bab) เช่นเดียวกัน -- ภาพที่ 8 เป็นภาพต่อเนื่อง เกี่ยวกับการยิงยานเกราะ 3 คันในวันเดียวกัน แถวบนเป็น เลโอพาร์ด 2A4 คันล่าสุด ที่ตกเป็นเหยื่อจรวด "คอร์เน็ต" (Kornet) ส่วนแถวที่ 2 และ 3 ถัดไป อาจเป็นรถถังหรือเป็นยานเกราะชนิดใด ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด -- สำหรับภาพที่ 9 และ 10 ซูมใกล้เข้าไป ขยายให้เห็นวินาที ที่ ATGM พุ่งเข้าใส่ "เสือดาว" และ เกิดการระเบิดรุนแรง จากภายในติดตามมา.


8

9

10
ตามข้อมูลในเว็บไซต์ดังกล่าว ปัจจุบันเลโอพาร์ด 2A4 ยังคงประจำการในกองทัพเยอรมนีต่อไป และ ยังมีรุ่นส่งออกใช้ในกองทัพอีกหลายประเทศ คือ ออสเตรีย แคนาดา ชิลี เดนมาร์ก ฟินแลนด์ กรีซ นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน สเปน และ ตุรกี รวมทั้งสิงคโปร์

ตามรายงานของสื่อในอินโดนีเซียก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียได้เป็นลูกค้า Leopard 2A4 รายล่าสุด ซึ่งรวมทั้งเลโอพาร์ดเรฟโวลูชั่น (Revolution) จำนวนหนึ่ง ที่สั่งซื้อรวมกันนับร้อยคัน พร้อมกับยานลำเลียงพลหุ้มเกราะอีกรุ่นหนึ่ง โดยเยอรมนีเริ่มส่งมอบปลายปีที่แล้ว

ไม่มีการกล่าวถึงระบบป้องกันตัวแบบ APS (Active Protection System) ของเลโอพาร์ด 2A4 นอกเสียจากเคยมีรายงานว่า ไรน์เมทาลได้พัฒนาระบบของตนมานานนับสิบปี แต่รัฐบาลไม่อนุญาตให้ส่งออก

อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า ตุรกีซื้อระบบโทรฟี (Trophy) จากอิสราเอลไว้เป็นจำนวนมาก นี่คือระบบ APS ที่พัฒนาขึ้นมาโดยกลุ่มอุตสาหกรรมกลาโหมชั้นนำของประเทศ สำหรับรถถังเมอร์คาวา (Merkava) แต่สามารถติดตั้งบนรถถังรุ่นอื่น กับ รถหุ้มเกราะชนิดอื่นๆ ได้

หนังสือพิมพ์สตาร์แอนด์สไตรป์ และ สื่อกลาโหมชั้นนำอีกหลายสำนัก รายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า กองทัพบกสหรัฐสั่งซื้อระบบโทรฟี เป็นจำนวนมากสำหรับ M1A2 "เอบรามส์" (Abrams) รุ่นใหม่ที่เริ่มสายการผลิต สื่อบางสำนักรายงานด้วยว่า ความเคลื่อนไหวของสหรัฐ มีขึ้นโดยได้บทเรียนจากสงครามในซีเรีย ที่มีรถถังกับยานเกราะ ถูกทำลายไปเป็นหลายร้อยคัน และ ได้เห็น T-90 ของรัฐบาลซีเรียที่ผลิตในรัสเซีย สามารถรอดพ้นการทำลายของ ATGM ได้ ด้วยระบบป้องกันดังกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น