MGRออนไลน์ -- ทหารอเมริกันจำนวนหนึ่งช่วยกันยกแผ่นเกราะระเบิดปฏิกิริยา ติดตั้งบนรถถังหลัก M1A2 ของกองทัพบก ที่ประจำการอยู่ในยุโรป เมื่อภาพนี้แพร่ออกไป ก็ได้กลายเป็นเหตุการณ์ ที่กำลังได้รับความสนใจจากโลกออนไลน์ ในช่วงข้ามสัปดาห์มานี้ เพราะไม่เพียงแต่เป็น "การแต่งตัว" รถถัง ที่หาดูได้ยากเท่านั้น หากยังเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่โลกภายนอกได้เห็น เอบรามส์ (Abrams) ในสภาพเดิมๆ และ นี่คือรถถังที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก แต่ยังพึ่งพาการป้องกันด้วยระบบเกราะพื้นฐานของรถ กับ "เกราะระเบิด" ERA (Explosive Reactive Armour) เป็นหลัก
ผู้รู้เขียนลงในเว็บบล็อกข่าวกลาโหมแห่งหนึ่งว่า ที่เห็นในภาพเป็น เอบรามส์ SEPv2 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดในปัจจุบัน นี่อาจเป็น M1A2 ล็อตท้ายๆ ที่โลกภายนอกจะได้เห็น ในสภาพหุ้มเกราะ ERA โล้นๆ เนื่องจากกองทัพสหรัฐกำลังจะติดตั้ง ระบบป้องกันแบบ Active Protection System บนรุ่นใหม่ รวมทั้งรุ่นปัจจุบัน ที่ประจำการอยู่ในต่างแดนนับพันๆ คันด้วย
การเปลี่ยนแปลง จากการพึ่งพาระบบเกราะแผ่นโลหะนูเรเนียมสิ้นสภาพกัมมันตะรังสี ที่มีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษ และเกราะ ERA เป็นหลัก โดยเพิ่มระบบ APS เข้าไป อาจจะได้เห็นกันในช่วงปลายปี ซึ่งหลายคนกล่าวว่า เป็นผลสืบเนื่องโดยตรง จากการสู้รบในสงครามซีเรีย ที่ฝ่ายต่างๆ สูญเสียรถถังและยานเกราะชนิดอื่นๆ หลายร้อยคัน เนื่องจากไม่มีระบบป้องกันแบบอัตโมัติ ยิงทำลายหัวรบฝ่ายตรงข้ามก่อนจะถึงตัว
สงครามในซีเรียยังทำให้ได้เห็นเป็นครั้งแรก รถถังหลัก T-90 ที่รัสเซียส่งไปสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย สามารถอยู่รอดได้ หลังถูกยิงด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี หรือ "จรวด" ต่อสู้รถถังหลากหลายรุ่น ทั้งที่ผลิตโดยสหรัฐ และ โดยโซเวียต/รัสเซีย รวมทั้งเหตุการณ์ช่วงปลายปีที่แล้ว ที่รถถังเลโอพาร์ด 2A4 ของตุรกีอย่างน้อย 10 คัน ถูก ISIS ยิงทำลาย เพราะไม่มีระบบ APS หยุดยั้งจรวดยิงรถถัง (Anti-Tank Guided Missile) ของกลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งไม่ได้ติดตั้งเกราะ ERA อีกด้วย
เกราะระเบิดปฏิกิริยา ยังคงมีบทบาทสำคัญทั้งในรถถัง และยานหุ้มเกราะ ช่วยเสริมระบบป้องกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ไม่เปิดโอกาสให้หัวรบของฝ่ายอริ เจาะกระทบถึงตัวรถ แต่จะโดนระเบิดจากแผ่น ERA นี้ทำลายแบบสะท้อนกลับ แม้แต่ใน T-90 ของรัสเซียเอง ก็ยังติดตั้งระบบเกราะปฏิกิริยา "คอนแท็ค 5" (Kontakt-5) เสริมเข้าไป เป็นการป้องกันชั้นที่ 3 ถัดจากระบบชตอรา (Shtora) และ APS
ระบบเกราะระเบิด ERA ยังคงใช้กันแพร่หลาย โดยติดตั้งทั้งในรถถังรุ่นเก่าเช่น T-62 "บูลัต" (Bulat) ซึ่งเป็นรุ่นอัปเกรดขึ้นใหม่ของยูเครน, T-72 และ T-80 ของค่ายโซเวียต-รัสเซีย จนถึงรถถังรุ่นใหม่กว่า ของค่ายตะวันตกด้วย ถึงแม้ว่าปัจจุบันทั้งสองค่าย จะผลิตกระสุนเจาะเกราะออกมาหลายชนิด ที่สามารถเจาะผ่านเกราะ ERA ทะลวงเข้าสู่เกราะโลหะ ที่หุ้มตัวรถชั้นในได้แล้วก็ตาม
ภาพทหารอเมริกันติดตั้งเกราะ ERA บนรถถังเอบรามส์จึงได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ.
.
2
3
ภาพชุดนี้เป็นเหตุการณ์ ภายในฐานทัพกราเฟนโวเออร์ (Grafenwoehr) ในแคว้นบาวาเรีย เยอรมนี ซึ่งเป็นฐานทัพใหญ่ที่สุดของสหรัฐในยุโรป เป็นที่ตั้งของกองทัพที่ 7 ที่ปฏิบัติการในยุโรปตะวันตก และ กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ที่เคยเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียตเมื่อก่อน และ แยกตัวออกจากรัสเซีย ไปเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้
ผู้ถ่ายภาพออกเผยแพร่อธิบายแต่เพียงว่า ทั้งหมดเป็นการฝึกซ้อมการติดตั้ง ERA ของเจ้าหน้าที่หน่วยยานเกราะ สังกัดกองพันที่ 1 กรมทหารม้ายานเกราะที่ 66 กองพลน้อยยานเกราะที่ 3 กองพลทหารราบที่ 4 ที่เป็นหน่วยรบหลักในยุโรปตะวันออก ภายใต้ปฏิบัติการที่มีชื่อว่า Operation Atlantic Resolve ของกองทัพสหรัฐ ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน เม.ย.2557 ตามพันธสัญญาที่ให้กับกลุ่มนาโต้ หลังจากรัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครน เข้าเป็นดินแดนของตน
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โลกตะวันตก ตระหนกตกใจและหวาดหวั่นเกี่ยวกับ "ภัยรัสเซีย" และ ใช้เป็นข้ออ้างในการเสริมกำลังทหาร เข้าสู่ดินแดนของหลายประเทศ สมาชิกใหม่นาโต้ ซึ่งได้แก่เอสทัวเนีย ลัตเวีย ลิธัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย บัลแกเรีย กับ ฮังการี
ปัจจุบันมีรถถังเอบรามส์ของกองทัพสหรัฐ จำนวนหลายร้อยคัน เข้าประจำการอยู่ในประเทศต่างๆ เหล่านี้ พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ การเสริมกำลังของพันธมิตรนาโต้ ยังคงดำเนินต่อไป รวมทั้งการฝึกซ้อมทางทหาร ที่จัดขึ้นเป็นระยะๆ
เอบรามส์เป็นรถถังยุคที่ 3 ผ่านการใช้งานต่อเนื่องมายาวนานกว่า 30 ปี ผ่านกระบวนการอัปเกรดมาเป็นระยะๆ กระทรวงกลาโหมสหรัฐ มีแผนการจะใช้ไป อีก 25 ปีข้างหน้า ปัจจุบันพัฒนามาถึง M1A2 SEPv2 ยังเป็นรถถังทันสมัยที่สุดรุ่นหนึ่งของโลก ถึงแม้ว่าอีกค่ายหนึ่ง คือรัสเซีย จะผลิตรถถังยุคที่ 4 คือ T-14 "อาร์มาตา" (Armata) ออกมาแล้วก็ตาม
อย่างที่ทราบกันที่ไป เอบรามส์ผลิตออกมา เพื่อใช้แทน M60A3 "แพ็ตตัน" โดยตั้งชื่อตามชื่อ พล.อ.ไครตัน เอบรามส์ (Creighton Abrams) อดีตผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐในสงครามเวียดนาม ระหว่างปี 2511-2515
กระบวนการออกแบบ ดำเนินมาตั้งแต่ช่วงปลายสงครามเวียดนาม การผลิตเริ่มขึ้นในปี 2522 โดยกลุ่มบริษัทไครส์เลอร์ ซึ่งในปัจจุบันกลายมาเป็น บริษัทเจเนอรัลไดนามิกส์แลนด์ซีสเต็มส์ (General Dynamics Land Systems)
.
.
M1 เอบรามส์ ยังติดปืนใหญ่ 105 มม. ลำกล้องเกลียว ขนาดเดียวกันกับ "แพ็ตตัน" รุ่นพี่ เป็นอาวุธหลัก เข้าประจำการล็อตแรก ในปี 2523 และ ผลิตออกมาทั้งหมด 3,273 คัน
สำหรับ M1A1 ผลิตออกมาระหว่างปี 2529-2535 จำนวนทั้งหมดร่วม 9,000 คัน ติดปืนใหญ่ 120 มม. ลำกล้องเกลี้ยงของไรน์เมทาล (Rheinemetall) เยอรมนี ยังไม่นับรวม M1 อีกนับพันคัน ที่ต้องอัปเกรดขึ้นเทียบ M1A1 ด้วย และ ในปี 2529 เช่นกัน ไครส์เลอร์เริ่มผลิต M1A2 คู่นานกัน แต่กว่าจะเข้าประจำการกองทัพบก ก็จนกระทั่งปี 2535 หรือ อีก 6-7 ปีต่อมา
นั่นคือช่วงปีแห่งสงครามเย็นที่ดำเนินมายาวนาน สหรัฐกับโลกตะวันตก เผชิญหน้ากับอภิมหาอำนาจคอมมิวนิสต์ใหญ่ค่ายโซเวียต
เอบรามส์ผ่านสงครามในคูเวตอย่างโชกโชน เมื่อสงครามปะทุปี 2534 สหรัฐส่ง M1A1 เข้าซาอุดิอาระเบียกว่า 1,800 คัน เพื่อปลดปล่อยคูเวต ให้พ้นจากการยึดครองของอิรัก และ ไม่มีแม้แต่คันเดียว ที่ถูกทำลายโดยฝ่ายอริ
ในสงครามดังกล่าวมี M1A1 ถูกยิงเสียหายเพียงเล็กน้อย รวม 14 คัน อีก 9 คันถูกทำลายทิ้ง หรือถูกทำลายจากการยิงกันเอง แบบที่เรียกว่า "เฟรนด์ลี่ไฟร์" (Friendly Fire) ซึ่งส่วนใหญ่โดย M1A1 ด้วยกันเอง ด้วยความเข้าใจผิด 2 คันเป็นการทำลายทิ้งโดยสหรัฐเอง หลังจากถูกยิงเสียหาย
ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ไม่มีพลประจำ M1A1 เสียชีวิต แม้แต่คนเดียวในสงครามคูเวต รวมทั้งไม่มีใครที่บาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิง ระหว่างสงครามทะเลทราย
ข้อได้เปรียบที่สำคัญมากก็คือ ปืนใหญ่ 120 มม.ของ M1A1 ยิงได้ไกลกว่าปืน 125 มม. ของ T-72 ที่รัฐบาลประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ซื้อจากโซเวียตกับโปแลนด์ ทำให้รถถังทันสมัยที่สุดแห่งยุคของค่ายโซเวียต โดนยิงก่อนจะเข้าสู่รัศมี ที่สามารถยิงอีกฝ่ายหนึ่งได้ด้วยซ้ำ
.
4
5
มีผู้กล่าวว่า ระหว่างสงครามอิรัก รถถัง T-55 T-62 และ T-72 ทั้งที่ซื้อและผลิตเองในประเทศ ถูก M1A1 ทำลายแบบยกขโยง คือ ยกกองพัน หรือ ยกกรม ก็ว่าได้
นั่นคือประสบการณ์สำคัญ ที่สหรัฐนำไปพัฒนาเอบรามส์ M1A2 ทุกวันนี้ ซึ่งมีการอัปเกรดมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องยนต์ ช่วงล่าง ระบบเกราะป้องกัน ระบบเซ็นเซอร์ ระบบควบคุมการยิง กระสุนที่ใช้ จนถึงการเปลี่ยนมาใช้ระบบคอมพิวเตอร์ทันสมัยที่สุดในการอำนวยการ และการสื่อสารข้อมูล ทำให้เอบรามส์กลายมาเป็น "รถถังดิจิตอล"
ต้นปี 2560 นี้ M1A2 เริ่มกระบวนการอัปเกรดอีกครั้งหนึ่ง ไปสู่อีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่เรียกว่า SEP V3 โดยการอัปเกรดอย่างรอบด้าน และ เข้าใจกันว่าอาจมีการเปลี่ยนรูปแปลงโฉมกันเล็กน้อย โดยเจเนอรัลไดนามิกส์ แลนด์ซีสเต็มส์ เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า กำลังจะทำ "ต้นแบบ" ออกมาถึง 7 คัน เพื่อให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐพิจารณา
ยิ่งอัปเกรท ก็ยิ่งทันสมัยรอบตัว อำนาจการทำลายล้างสูงขึ้น ความอยู่รอดในการสู้รบก็สูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ยิ่งอัปเกรด เอบรามส์ก็ยิ่งหนัก คือ จาก M1 รุ่นแรกเพียง 55.7 ตัน เพิ่มขึ้นเป็น 57 ตัน เมื่ออัปเกรทเป็น M1IP เพิ่มเป็น 61.3 ตัน เมื่อเป็น M1A1 ส่วน M1A2 รุ่นแรก หนักขึ้นอีกเกือบ 1 ตัน และ การอัปเกรดเป็น M1A2 SEPv1 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 63 ตัน และ หนักขึ้นอีกสำหรับ M1A2 SEPv3 ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้
จึงไม่น่าแปลกใจที่กองทัพบก กับเหล่านาวิกโยธินที่ใช้เอบรามส์ ร้องขอรถถังอีกรุ่นหนึ่งที่มีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบาลง ไม่จำเป็นต้องหุ้มเกราะแผ่นโลหะยูเรเนียม แต่ขอระบบป้องกันอีเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งระบบ APS กลายเป็นที่มาของอีกรุ่นหนึ่งคือ M1A3
เป็นที่ราบกันทั่วไปว่า กระบวนการพัฒนา M1A3 เริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 การผลิตจะเริ่มในต้นปี 2560 นี้ โดยมีข้อมูลอย่างเป็นทางการออกมาไม่มาก ข้อมูลส่วนใหญ่มากจากการคาดเดา หรือการกล่าวอ้างแหล่งข่าวต่างๆ
ในขณะเดียวกัน เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว กองทัพบกสหรัฐแถลงว่า กำลังพิจารณาจัดซื่อระบบป้องกันอัตโนมัติ APS "โทรฟี" (Trophy) ที่ผลิตในอิสราเอล จำนวนหลายพันระบบ เพื่อติดตั้งใน M1A2 รุ่นใหม่ รวมทั้งที่กำลังประจำการในต่างแดน อีกจำนวนหนึ่งด้วย
หลายคนกล่าวว่า ทั้ง M1A3 และ M1A2+Trophy อาจเป็นทีเด็ดของค่ายสหรัฐในยุคนี้.