MGRออนไลน์ -- ในที่สุดกองทัพบกสหรัฐก็เริ่มติดตั้งระบบป้องกันอัตโนมัติแบบโทรฟี (Trophy) บนรถถัง M1A2 "เอบรามส์" (Abrams) ภาพที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของบริษัทราฟาเอล แอดวานซ์ ดีเฟนส์ ซีสเต็ม (Rafael Advanced Defense Systems Ltd) แห่งอิสราเอล ซึ่งเป็นผู้ผลิต แสดงให้เห็นอุปกรณ์เซ็นเซอร์ของระบบดังกล่าว อยู่บนป้อมปืนของรถถังหลักสหรัฐคันหนึ่ง ซึ่งทำให้เชื่อกันว่าเป็น M1A2 SEPv2 และ เป็น "เอบรามส์" คันแรก ที่ติดตั้งระบบ Active Protection System หรือ APS
ราฟาเอลไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดอีก ประกอบรูปภาพที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ แต่เรื่องนี้อธิบายได้ไม่ยาก เนื่องจากกองทัพบกสหรัฐดำเนินการมาแต่ต้นปี ทั้งในระดับกระทรวงกลาโหม และในระดับรัฐสภา จนกระทั่งเมื่อเดือนที่แล้ว เพนตากอนได้ตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือสัญญาฉบับหนึ่ง ที่มอบหมายให้บริษัทเจเนอรัล ไดนามิคส์ แลนด์ ซีสเต็มส์ (General Dynamics Land Systems Inc) เป็นผู้ดำเนินการ
หมายความว่า กองทัพเป็นผู้จัดหาระบบโทรฟีจากอิสราเอล และ ให้บริษัทผู้ผลิตรถถังเอบรามส์ ทำการติดตั้ง
แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ถือเป็นการปรับปรุงรถถังหลักครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่มีการเพิ่มอุปกรณ์ TUSK (Tank Urban Survivability Kit) หรือ อุปกรณ์สนับสนุนการอยู่รอด ในสภาพแวดล้อมการต่อสู้ในเขตเมือง เพื่ออุดช่องโหว่ที่พบระหว่างสงครามในอิรักปี 2546 ซึ่ง M1A2 ได้ประสบการณ์จากการ ถูกโจมตีด้วยระเบิดอาร์พีจี และ กับระเบิด ทำให้ต้องติดตั้งเกราะเหล็กเพิ่มในอีกหลายจุด รวมทั้งติดตั้งเกราะระเบิดปฏิกิริยา หรือ Explosive Reactive Armour ด้วย
การติดตั้งระบบโทรฟี ถือเป็นการสิ้นสุดยุคที่รถถังสหรัฐ พึ่งพาเกราะโลหะ และ เกราะระเบิด ERA เป็นหลักในการป้องกันตนเอง โดยอาศัยความแข็งแกร่งของโลหะผสมที่เลือกใช้ รวมทั้งแผ่นโลหะผลิตจากยูเรเนียมที่สิ้นสภาพแล้ว ซึ่งสามารถต้านทาน หรือ ดูดซับแรงระเบิด ของกระสุนหรือหัวรบที่ยิงไปกระทบได้ ทำให้ตัวรถไม่ถูกทำลาย และ กำลังพลที่อยู่ข้างใน ไม่ได้รับอันตราย
อย่างไรก็ตาม อาวุธต่อสู้รถถังสมัยใหม่ทำให้สภาพการณ์เปลี่ยนไป กระสุนชนิดใหม่สามารถเจาะเกราะโลหะได้เกือบทุกชนิด จรวดคอร์เน็ต (Kornet) อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถัง (Anti-Tank Guided Missile) ธรรมดาๆ ที่ผลิตในรัสเซีย ราคาไม่กี่หมื่นดอลลาร์ อาจทำลายรถถังราคาคันละ 8-10 ล้านดอลลาร์ได้อย่างง่ายดาย
หลายเดือนมานี้ผู้เชี่ยวชาญกองทัพบกสหรัฐ ได้ทดสอบระบบป้องกันสำหรับรถถัง กับยานยนต์ต่างๆ ที่ผลิตในอิสราเอล จำนวนสามระบบ แต่ในที่สุดก็เลือกโทรฟี ซึ่งเป็น APS เพียงระบบเดียวที่ผ่านการพิสูจน์ และ ใช้งานได้ผลจริงในสนามรบ
.
.
กองทัพอิสราเอลติดตั้งระบบโทรฟีในรถถังเมอร์คาวา 4 (Merkava IV) มาตั้งแต่ปี 2552 นอกจากนั้นยังติดตั้งอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง บนยานหุ้มเกราะโจมตีขนาดใหญ่ "นาเมอร์" (Namer) กับอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง สำหรับรถลำเลียงพลหุ้มเกราะล้อยาง "ไอตาน" (Eitan) ที่มีกำหนดจะบรรจุ ใช้ในกำลังรบหน่วยราบ ปีหน้าอีกด้วย
โทรฟีเป็นระบบที่เรียกว่า ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และ พร้อมรบในทุกสถานการณ์ คือ พร้อมที่จะแสดงปฏิกิริยาต่อหัวรบจากฝ่ายข้าศึก ที่พุ่งเข้าใส่อยู่ทุกเมื่อ ก่อนจะส่งหัวรบของระบบออกไปทำลายแบบ "ฮาร์ดคิล" (Hard Kill) คือ ทำลายหัวรบของอีกฝ่ายหนึ่งไปด้วยแรงระเบิด ในระยะปลอดภัย ที่ห่างจากตัวรถพอสมควร เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการอยู่รอด ให้แก่ยวดยานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ รถถังหลักที่มีราคาแพง
ขีดความสามารถในการป้องกันดังกล่าว ได้ทำให้ระบบ APS กลายเป็นสิ่งจำเป็น และจะต้องมีคู่รถถัง กับยานพาหนะสำคัญๆ ชนิดต่างๆ ของฝ่ายทหารในยุคปัจจุบัน
การทดสอบของฝ่ายอิสราเอลได้พบว่า โทรฟีสามารถต่อกรกับการโจมตีด้วยอาวุธได้หลายชนิด ที่ "ปล่อย" หรือ "ยิง" ไปจากหลายทิศทาง ทั้ง 360 องศา ไม่ว่าจะมาในองศาใด หรือระดับไหน รวมทั้งระเบิดอาร์พีจีรุ่นใหม่ที่มีการทำงานแบบ 2 จังหวะ ก็ไม่สามารหลอกโทรฟีได้ เพราะระบบออกแบบมาให้สามารถปล่อยหัวรบได้ 2 จังหวะ และ ปล่อยได้หลายครั้ง นอกจากนั้นยังสามารถหยุดยั้ง ATGM ของรัสเซียได้ทุกรุ่น รวมทั้งสะกัดกั้นกระสุนระเบิดแรงสูงทำลายรถถัง หรือ HEAT (High Explosive Anti-Tank Round) ได้ด้วย
ระบบของอิสราเอลยังกำหนดระยะปลอดภัย หรือ Safe Zone ต่อยวดยานต่างๆ ของฝ่ายเดียวกันได้ นั่นคือสามารถจัดระยะที่หัวระเบิดจะทำงานล่วงหน้าได้ และ สามารถจำแนกหัวรบของฝ่ายเดียวกัน ขณะปล่อยหรือยิงออกไปในระยะประชิดกัน เพื่อไปทำลายเป้าหมายข้าศึก
งานแรกทื่โทรฟีได้พิสูจน์ประสิทธิให้ประจักษ์ ก็คือ เหตุการณ์วันที่ 1 มี.ค.2554 ที่ชายแดนอิสราเอล ติดฉนวนกาซ่า (Gaza) ซึ่งรถถังเมอร์คาวา 4 คันหนึ่ง ถูกลอบยิงด้วย ATGM ที่อิสราเอลกล่าวว่าเป็นแบบคอร์เน็ต ยิงจากระยะใกล้ แต่ระบบได้ปล่อยหัวรบออกทำลายอาวุธปล่อยนำวิถีของรัสเซีย หลังจากนั้นก็ได้พิสูจน์ตัวเองอีกหลายครั้ง รวมทั้งในปฏิบัติการ Operation Protective Edge เมื่อปี 2557 ในฉนวนกาซ่าเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่มีรถถังของอิสราเองถูกทำลาย หรือ เสียหายจากการโจมตีแม้แต่คันเดียว
.
2
ส่วนชื่อเอบรามส์ เป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อ ของ พล.อ.ไครตัน เอบรามส์ (Creighton Abrams) อดีตผู้บังคับกองร้อยรถถังสหรัฐ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และ ต่อมาได้เป็นผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐ ในสงครามเวียดนามระหว่างปี 2511-2515 -- บริษัทไครส์เลอร์เมื่อก่อน ซึ่งกลายมาเป็น General Dynamics Land Systems ในวันนี้ ผลิตเพื่อให้กองทัพบกกับเหล่านาวิกโยธินสหรัฐ ใช้แทน M60 "แพ็ตตัน" (Patton) ซึ่งได้ปลดดระวางไปทั้งหมดแล้ว
M1A2 เป็นรถถังยุคที่ 3 อีกรุ่นหนึ่ง ที่ได้ชื่อว่ามีระบบเกราะป้องกันดีที่สุด ติดอาวุธรอบตัว บรรจุลอตแรกในกองทัพบกสหรัฐปี 2523 ก่อนนาวิกโยธินจะร่วมจัดหาไปใช้ด้วย จาก M1 ได้พัฒนามาเป็น M1A1 จนกระทั่งมาเป็น M1A2 ในปัจจุบัน ที่แตกเป็นรุ่นย่อยอีกหลายรุ่น ผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพเป็นระยะๆ ตลอด 37 ปีที่ผ่านมา ทั้งระบบอาวุธ ระบบเกราะป้องกัน และ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
ปัจจุบันเอบรามส์รุ่นต่างๆ ยังเป็นกำลังหลักของกองทัพอีกหลายประเทศ รวมทั้งอียิปต์ (ที่เริ่มเจรจาซื้อ T-90 จากรัสเซียเมื่อปีที่แล้วแต่ยังไม่สรุป) คูเวต ซาอุดิอาระเบีย ออสเตรเลีย และ อิรัก (ซึ่งในเดือน ก.ค.ปีนี้ เซ็นซื้่อ T-90 จากรัสเซียเกือบ 100 คัน)
รถถังหลักรุ่นใหม่ของสหรัฐได้พิสูจน์ตัวเองเป็นครั้งแรก ในสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 2534 ซึ่งมีบันทึกว่า ทันทีที่เปิดฉากยุทธการพายุทะเลทรายนั้น เอบรามส์จำนวน 12 คัน สามารถทำลายรถถังของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุนเซน ในคูเวต ได้ถึง 28 คัน (T-55, T-62 และ T-72) ทำลายรถลำเลียงพลอื่นๆ อีกหลายสิบคัน ในเวลาไม่ถึง 30 นาที กับ อีกครั้งหนึ่งในสงคราม อิรักอีก 15 ปีต่อมา ที่กลายเป็นสงครามในเขตเมือง และ เป็นประสบการณ์สำคัญ ที่นำมาสู่การอัปเกรดครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้
เอบรามส์ถูกออกแบบมาให้แข็งแกร่ง ทนทายาด สำหรับสงครามในยุคใหม่ แต่ก็แบกน้ำหนักมหาศาล -- จาก 54 ตันใน M1 มาตรฐาน หนักขึ้นเป็น 57 ตัน เมื่อเป็น M1A1 และ ในปัจจุบัน M1A2 SEPv2 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด หนักเพิ่มขึ้นอีก 8 ตัน เป็น 65 ตัน แต่ครื่องยนต์ระบบเทอร์ไบน์ 1,500 แรงม้า ทำให้เอบรามส์วิ่งห้อได้เหมือนม้าแข่ง ทำความเร็วสูงสุดบนท้องถนนปรกติได้ 72 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วกว่า T-90 รุ่นล่าสุดของรัสเซีย และ มีระยะปฏิบัติการ 426 กม./ชม. ต่อรอบการเติมเชื้อเพลิง
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้กองทัพบกสหรัฐได้พูดถึง การผลิตเอบรามส์รุ่นใหม่ ที่เรียกว่า M1A3 มีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบากว่ารุ่นพี่ เนื่องจากใช้ระบบหุ้มเกราะใหม่ โดยเน้นการป้องกันด้วยระบบ APS ที่ผลิตในสหรัฐเอง แต่ก็ยังไม่มีฝ่ายใดทราบแน่ชัดว่า M1A3 จะออกมาให้เห็นเมื่อไร
.
3
นักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุที่สหรัฐไม่รีบร้อน หรือ วิตกทุกข์ร้อนกับระบบ APS สักเท่าไร ก็เนื่องจากว่าสงครามทั้งในอิรัก และ ในอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ที่นำ M1A2 ไปใช้ ยังไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งระบบป้องกันราคาแพงลิบลิ่ว ระบบป้องกันง่ายๆ ก็สามารถช่วยให้อยู่รอดปลอดภัยได้ และ กองทัพก็มีระบบอาวุธอื่นๆ ให้เลือกใช้อยู่มากมาย ในบางสถานการณ์ก็ไม่จำเป็นต้องนำรถถังเข้าไปเสี่ยง ซึ่งก็วิถีปฏิบัติปรกติ เช่นเดียวกันกับระบบอาวุธอื่นๆ
อย่างไรก็ตามเมื่อกองทัพรัสเซียประกาศเลิกซื้อ T-90 เพื่อทุ่มงบประมาณให้แก่การผลิต T-14 "อาร์มาตา" ขณะเดียวกัน ก็พยายามส่งออก T-90 ให้มากที่สุด ทำให้รถถังรุ่นดีที่สุดของรัสเซียในปัจจุบัน พร้อมระบบ APS ที่เรียกว่า "อารีนา" (Arena) ทะยอยออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น ด้วยราคาที่ต่ำกว่าเอบรามส์เกือบครึ่งหนึ่ง ก็จึงทำให้สหรัฐต้องรีบอัปเกรดสินค้าของตนด้วยระบบ APS เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ บรรดาลูกค้าระดับพรีเมี่ยม
การอัปเกรด M1A2 SEPv2 ยังมีขึ้น ขณะที่รถถังค่ายตะวันตกด้วยกัน ต่างก็กำลังอัปเกรดสมรรถนะกันยกใหญ่ ทั้งเลโอพาร์ด 2 A4 ของเยอรมนี แชลเลนเจอร์ (Challenger) ของอังกฤษ และ รถถังเลอแคลร์ (AMX Leclerc) ฝรั่งเศส ซึ่งล้วนเป็นรถถังหลักตัวกลั่นในยุคปัจจุบัน
แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ระยะไม่กี่เดือนมานี้ สหรัฐได้ ส่ง M1A2 SEPv2 จำนวนนับร้อยๆ คัน เข้าสู่ดินแดนยุโรปตะวันออก อดีตรัฐบริวารของโซเวียตเมื่อก่อน ที่กลายมาเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ เพื่อรับมือกับสิ่งที่เรียกว่า "การคุกคามจากรัสเซีย" หลังการเครมลินผนวกคาบสมุทรไครเมียเป็นของตน เมื่อต้นปี 2557 ซึ่งถ้าหากสองฝ่าย ต้องเข้าสู่สงครามทางบกในที่สุด การเผชิญหน้ากันด้วยรถถัง ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ไม่กี่ปีมานี้รัสเซียส่ง T-90 ไปให้รัฐบาลซีเรียจำนวนระหว่าง 10-20 คัน เพื่อเสริมทัพ T-72 ในสงครามปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายไอซิส กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอีกหลายกลุ่ม ทำให้ T-90 มีโอกาสพิสูจน์สมรรถนะตัวเอง ให้โลกภายนอกได้ประจักษ์ หลายต่อหลายครั้ง โดย T-90 สามารถอยู่รอดได้ ด้วยระบบชตอรา (Shtora) และ ระบบ APS "อารีนา" จากการถูกยิงด้วย ATGM หลายรุ่น ทั้ง TOW 2 ที่ผลิตในสหรัฐ และ คอร์เน็ต ที่ผลิตในรัสเซียเอง -- มีเพียงครั้งหรือสองครั้ง ที่แสดงให้เห็น T-90 เสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และ ทั้งหมดเป็นความเสียหาย ที่เกิดจากความบกพร่องของคนใช้ ซึ่งทำให้ระบบไม่ทำงาน
ตัวอย่างจากสมรภูมิซีเรีย ได้ช่วยยืนยันว่า ระบบ APS ที่ก้าวหน้า ใช้ได้ผลจริง ทั้งมีความจำเป็นจริงๆ
.
4
นอกจากนั้น โลกก็ยังก้าวเข้าสู่ช่วงปีแห่งการพัฒนาระบบ APS -- ยูเครนเองก็อ้างความเป็นเลิศระบบของตนเอง ซึ่งก็ไม่ต่างกับจีน แต่ระบบของทั้งสองค่าย ก็ยังไม่เคยผ่านการใช้งานจริง ยังคงเป็นแค่ราคาคุย -- ค่ายยุโรปยังคงปกปิดระบบของตน ขณะเดียวกันก็กำลังชั่งน้ำหนักระบบของอิสราเอล ในขณะที่รัสเซียเองประกาศปลดระบบอารีนาออกจาก T-90 ของกองทัพ และ เริ่มติดตั้งรุ่นใหม่ที่เรียกว่า "อาฟกานิต" (Afghanit) แทน โดยรัสเซียกล่าวว่า อาฟกานิต ประสิทธิภาพเหนือกว่าอารีนาระบบเก่า และ จะใช้ติดตั้งบนรถถัง กับยานหุ้มเกราะอีกหลายรุ่น บนแพล็ตฟอร์ม T-14 อีกด้วย
ที่ผ่านมาสหรัฐยังไม่ได้ออกอาการวิตกทุกข์ร้อนอะไรมากมาย เกี่ยวกับ T-14 รถถังยุคที่ 4 ของรัสเซีย ที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา นอกจากนั้นกองทัพบกรัสเซียเอง ก็สั่งซื้อลอตแรกเพียงประมาณ 100 คันเท่านั้น ซึ่งเป็นเรืองที่ผิดคาด ทั้งๆ ที่แพล็ตฟอร์มอาร์มาตา มีกระแสนิยมที่พุ่งสูงมาก มีคำเล่าลือเกี่ยวกับความวิเศษวิโสต่างๆ นานามากมาย รวมทั้งระบบ APS รุ่นใหม่ด้วย
แต่ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐเองกล่าวว่า ทั้งอัฟกานิต และ อารีนา ไม่ได้ต่างกันมาก มีจุดอ่อนที่เหมือนกันคือ ไม่สามารถป้องกันการถูกโจมตีจากด้านบน หรือ จากองศาที่สูงขึ้นได้ ทำให้ตกเป็นเหยื่อ ATGM รุ่นที่ใหม่กว่า เช่น แจฟลิน (Javelin) เฮลไฟร์ (Hellfire) หรือ โทว์ 2 บี (TOW 2-B) อย่างง่ายดาย และ สหรัฐก็กำลังรอดู T-14 ที่จะบรรจุรุ่นแรก
ทั้งหมดนี้อาจใช้อธิบายได้ว่า เหตุใดสหรัฐจึงไม่เคยรั่วอะไรออกมา เกี่ยวกับระบบ APS ที่กลุ่มผู้ผลิตอาวุธชั้นนำหลายค่ายของสหรัฐเอง พัฒนาอยู่ในขณะนี้ -- และ การตัดสินใจใช้โทรฟีของอิสราเอล ก็จึงเท่ากับประวิงเวลาไปพลางๆ ก่อน และ ถึงอย่างไรก็เป็นระบบอาวุธมาตรฐานนาโต้อันเดียวกัน.