MGR ออนไลน์ -- ปีนี้พูดได้ว่าเป็นปีทองของทุเรียนหมอนทองที่ปลูกในกัมพูชาอย่างแท้จริง ทั้งได้ผลผลิตมากกว่าทุกปีและยังจำหน่ายได้ราคาดีกว่าทุกปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้รับการส่งเสริมทางการตลาดจากทางการอีกด้วย ชาวสวนทุเรียน ใน อ.สเรอัมเบล หรือ "นาเกลือ" จ.เกาะกง หลายครอบครัว มีโอกาสได้จับเงินสองล้านเป็นครั้งแรก จากการจำหน่ายทั้งทุเรียน ทั้งเงาะ ที่ได้ผลผลิตมากมายในฤดูกาลเดียวกัน
และเป็นที่แน่นอนว่า ปีนี้กัมพูชานำเข้าทุเรียนหมอนทองจากต่างประเทศน้อยลง
นายโสก โปน ชาวสวนที่บ้านตะปางโรแกล สเรอัมเบล บอกสื่อออนไลน์ภาษาเขมรว่า ถึงแม้ว่าทุเรียนจะปลูกได้ในหลายท้องถิ่นทั่วทั้งจังหวัด รวมทั้ง จ.กัมโป้ต ที่อยู่ติดกัน แต่สวนใน อ.นาเกลือ ได้ผลดีที่สุด เนื่องจากดินดีอุดมด้วยแร่ธาตุ นอกจากจะทำนาในผืนนาข้าวแล้ว ผืนดินที่ทำเป็นสวนก็ยังปลูกพืชผลอีกหลายชนิด รวมทั้งผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ทุเรียน เงาะ กับมังคุด โดยแทบจะไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี หรือ สารเคมีใดๆ
ตัวเขาเองมีสวนอยู่ 5 เฮกตาร์ (31.25 ไร่) ปลูกทุเรียนหมอนทองเป็นส่วนใหญ่ โดยนำเอาต้นกล้าไปจากประเทศไทยเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว แต่ปีนี้ได้ผลดีมากที่สุด ในช่วงสองเดือนมานี้ผลไม้จากการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ของตน จำหน่ายผลผลิตได้รวมกันถึง 60,000 ดอลลาร์ (ราว 2.04 ล้านบาท) เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ก็ยังเหลือพอใช้พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว รวมทั้งมีเก็บสำหรับลูกๆ ในอนาคตได้
นายโปนกล่าวว่าเขาเริ่มได้ทุนคืนเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งทุเรียนออกผลให้จำหน่ายเป็นปีที่สอง
.
อย่างไรก็ตามกว่าจะได้ผลผลิตมาปีละ 5-6 ตัน ก็มีค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร รวมทั้งมีความยุ่งยากในการดูแล ทั้งโรคพืชและแมลงรบกวน ทำลายดอกและผล นอกจากนั้นยังเป็นปีที่ฝนตกชุกกว่าทุกปี ทำให้ผลเน่าเสียไปไม่น้อย -- นอกจากทุเรียนหมอนทองแล้ว ก็ยังปลูกทุเรียนชะนีก้านยาวกับเงาะพันธุ์โรงเรียนซึ่งทั้งหมดได้พันธุ์ดีไปจากประเทศไทย -- สวนของเขาใช้สารเคมีแบบจำกัดที่สุด โดยมีนักวิชาการเกษตรช่วยกำกับควบคุมการใช้
นายโปนกล่าวอีกว่า ทางการกำลังรณรงค์อย่างหนัก ช่วยให้เกษตรกรในเขต อ.สเรอัมเบล ลดการใช้สารเคมีทุกชนิด รวมทั้งปุ๋ยเคมี และ เลิกใช้ในที่สุด เพื่อหันมาใช้ปุ๋ยธรรมชาติที่ทุกคนผลิตเองได้ และ ยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ให้ผลผลิตมากกว่าปุ๋ยเคมีอีกด้วย
"ปีนี้ไม่ต้องห่วงในเรื่องราคา เก็บผลให้ได้ตามอายุ พ่อค้าไปรับถึงสวนใน รับซื้อ 17,000 เรียลต่อกิโลกรัม แต่ถ้าไปขายเองในเมือง ก็จะได้ กก.ละ 20,000 เรียล (ราว 155 บาท)" นายโปนกล่าว
ในกรุงพนมเปญเริ่มมีผลไม้ประจำฤดูกาลหลากชนิด ออกวางจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.เป็นต้นมา โดยเกือบทั้งหมดเป็นผลผลิตสวนในจังหวัดทางตอนใต้ของประเทศ คือ เกาะกง จ.กัมโป้ท กับอีกจำนวนหนึ่งไปจาก จ.แก๊บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ทุเรียน กับเงาะ -- มีสวนทุเรียนที่ปลูกทางตอนเหนือของประเทศเช่นเดียวกัน แต่ยังให้ผลผลิตไม่มากพอ ที่จะส่งขายในเมืองหลวง หรือ กระทั่งจังหวัดใกล้เคียง -- ทั้งหมดได้ต้นพันธุ์ไปจากประเทศไทย
.
เดือน มิ.ย. คือเดือนนี้่ตลอดทั้งเดือน โรงแรมกาสิโนนากาเวิลด์ได้จัดเทศกาลทุเรียนให้ลูกค้าระดับบน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ได้รู้จักรสชาติของทุเรียนกัมพูชาอีกด้วย โดยจัดรวมในแพ็กเกจเข้าพัก หรือ คิดหัวละ 23 ดอลลาร์สำหรับลูกค้าทั่วไป ที่ไปรับประทานอาหารในภัตตาคารวิมานอมเรศ (Vimean Amret) บนชั้น 9 ของอาคารนากาเวิลด์
กระทรวงเกษตร ป่าไม้และการประมง กัมพูชาได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องตลอดหลายเดือนมานี้ เพื่อให้เกษตรกรทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสวนที่ปลูกผักกับผลไม้ งดการใช้ยาฆ่าแมลงทุกชนิด และ หันไปใช้ปุ๋ยธรรมชาติ กับสารธรรมชาติที่ออกฤทธิ์สามารถป้องกัน หรือ กำจัดแมลงรบกวนพืชผลได้
ตามรายงานของสำนักข่าวทางการ ในสัปดาห์นี้กระทรวงเกษตรฯ ได้มีคำสั่งห้ามนำเข้าสารเคมีกำจัดพืชทุกชนิดเป็นการชั่วคราว หลังเกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำทำให้ราษฎรเสียชีวิตหลายสิบคน ใน อ.เชษฐ์บุรี จ.กระแจ๊ะ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ -- โศกนาฏกรรมดังกล่าว ได้กลายเป็นบทเรียนสำคัญของการใช้สารเคมีในการเกษตรแบบดั้งเดิม.