xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์ มธ.เผย “เกษตรกร” ขาดความรู้ ใช้สารเคมีเกินขนาด แนะรัฐคุมให้ใช้เฉพาะคนมีใบอนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อาจารย์วิทย์ มธ. ชี้ ทางออกแบน “พาราควอต” ต้องสร้างความรู้เกษตรกรด้วย พบส่วนใหญยังใช้ปริมาณเกินขนาด แนะรัฐกำหนดเกษตรกรต้องมีใบอนุญาตถึงใช้ได้ ช่วยจำกัดวงผู้ใช้ มีความรู้ถูกต้องในการใช้ ห่วง “ปุ๋ยปลอม” ซ้ำเติมเกษตรกร หลังพบใช้ผสมปุ๋ยเคมีหลายชนิดในการกำจัดศัตรูพืชมากกว่า 2 เท่าที่ฉลากกำหนด

จากกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติจำกัดการใช้สารอันตราย 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโซเฟต และคลอไพริฟอส โดยไม่มีการแบนอย่างที่เครือข่ายภาคประชาชนเรียกร้อง โดยจะมีการรวมพลเดินทางไปเรียกร้องยังทำเนียบรัฐบาล วันที่ 5 มิ.ย. 2561 เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีแบน 3 สารอันตราย มีการชดเชยเยียวยา และหาสารอื่นที่ปลอดภัยทดแทน เพื่อไม่ให้เป็นข้ออ้างของบริษัทผู้ผลิต

วันนี้ (4 มิ.ย.) ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืชและการจัดการเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า สารเคมีทั้ง 3 ตัว เป็นที่รู้จักอย่างดีในแวดวงเกษตรกรไทยและนิยมใช้ในการกำจัดวัชพืช เนื่องจากมีราคาไม่สูงมากและเห็นผลเร็ว ขณะเดียวกัน กลับส่งผลเสียขั้นรุนแรง ทั้งต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมโดยรอบในระยะยาว ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกมีมาตรการห้ามใช้สารเคมีดังกล่าวเป็นการถาวรมากว่า 10 ปี รวมถึงมีการใช้สารชนิดอื่นเข้ามาทดแทน เนื่องจากคุณภาพชีวิตของประชากรและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทางภาครัฐต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

“จากการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พบว่า เกษตรกรในหลายพื้นที่ยังขาดความรู้ในการใช้สารเคมีในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งควรใช้ในปริมาณที่ฉลากแนะนำ แต่บางรายใช้ปริมาณเกินกว่าที่ฉลากกำหนดและส่งผลตามมา เห็นได้ชัดเจนคือ การตรวจพบสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดของเกษตรกร จ.ยโสธร 81 ราย จากทั้งหมด 82 ราย จึงถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องกำหนดกรอบการใช้สารเคมีอย่างชัดเจน เช่น เกษตรกรที่จะใช้สารอันตรายต้องมีใบอนุญาต เพื่อสามารถจำกัดกลุ่มผู้ใช้ และสามารถให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้สารอันตราย ทั้งอัตราการใช้ ความถี่ของการใช้ การแต่งกายขณะใช้สารเคมี และวิธีการจัดการในกรณีได้รับพิษจากสารเคมี รวมทั้งมีการควบคุมการใช้งานสารอันตรายตามขนาดพื้นที่อย่างเคร่งครัด พร้อมกำหนดคณะติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าตรวจสอบ ชี้วัดถึงความอันตรายต่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง และสิ่งแวดล้อมโดยรอบแบบรัดกุม” ผศ.ดร.ดุสิต กล่าว

ผศ.ดร.บัณฑิต อนุรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีในภาคการเกษตร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีกรณีของการใช้ “ปุ๋ยปลอม” ในการกำจัดศัตรูพืช - วัชพืชในแปลงเกษตร ที่ยังไม่ได้รับการเพ่งเล็งหรือหรือตรวจสอบจากภาครัฐเท่าที่ควร ด้วยข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่วิเคราะห์และตรวจสอบสารพิษ จากกรมวิชาการเกษตร ที่มีจำนวนไม่เพียงพอต่อพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ โดยมีกรณีศึกษาซึ่งพบว่า เกษตรกรในพื้นที่ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี มีการใช้สารเคมีหลายชนิด มากกว่า 2 เท่าของค่ามาตรฐานที่ฉลากกำหนด เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยที่ซื้อมาได้ จึงจำเป็นต้องผสมร่วมกับปุ๋ยเคมีชนิดอื่นในการฉีดพ่น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้ฉีดพ่น หากภาครัฐแก้ปัญหาได้อย่างครบวงจร จะสามารถเยียวยาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยไม่ให้ถูกหลอกลวง จากการใช้ปุ๋ยปลอมและประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า การใช้สารเคมีอันตรายในภาคการเกษตร สะท้อนถึงปัญหาด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และการเกษตร ที่ภาคการศึกษาสามารถเป็นหนึ่งในตัวแปรในการพัฒนาแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ผ่านการกระจายองค์ความรู้ นวัตกรรมเทคโนโลยี ตลอดจนการปลูกฝังแนวคิดต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน สิ่งแวดล้อม และภาคการเกษตรที่เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจประเทศ โดยคณะฯ ได้เปิดสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเกษตรอินทรีย์ เพื่อปั้นผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการเกษตร ที่สามารถบูรณาการความรู้ด้านการจัดการเกษตร รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ควบคู่ไปกับการมีผลผลิตเกรดพรีเมียมในอนาคต อาทิ “นวัตกรรมย่อยสลายเศษพืชและฟางข้าว” (หรือ ไบโอออร์ก้า-พลัส) ชีวภัณฑ์บำรุงดินโดยไม่ทิ้งสารพิษตกค้าง “แอปพลิเคชันออร์แกนิค” (Organic Ledger) แอปฯ ตรวจสอบคุณภาพผลผลิตย้อนหลัง นับตั้งแต่เริ่มปลูก เพียงสแกนคิวอาร์โค้ด 1 ครั้ง ฯลฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น