ผู้บริหารโรงแรมดังระดับ 5 ดาวในกรุงเทพฯ “ โรงแรมดิ แอทธินี และโรงแรมเดอะ สุโกศล” ไปสำรวจถึงต้นทางการผลิตวัตถุดิบอินทรีย์จากเกษตรกรต้นแบบ ในพื้นที่เครือข่ายสามพรานโมเดล พร้อมแสดงความเชื่อมั่นศักยภาพของโรงแรมจะสามารถส่งต่อความรู้กระตุ้นให้ลูกค้าที่เข้าพัก นักท่องเที่ยว เห็นคุณค่าออร์แกนิก และการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ (Organic Tourism)
ชูเลง โก ผู้จัดการทั่วไป ดิ แอทธินี โฮเทลฯ ให้เหตุผลเข้าร่วมขับเคลื่อน Organic Tourism ว่า โรงแรมมีนโยบายในการนำเสนออาหารออร์แกนิกให้กับลูกค้ามาสักพักหนึ่งแล้ว เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งทางโรงแรมสนใจวิธีการซื้อผัก ผลไม้อินทรีย์ จากเกษตรกรโดยตรงในราคาเหมาะสม เพื่อนำไปบริการแก่ลูกค้าอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ
“เจ้าเหน้าที่ระดับบริหารทุกแผนกที่เกี่ยวข้องของโรงแรม ลงพื้นที่ไปพบกับเกษตรกรก็เพื่อให้ทุกคนได้เห็นกระบวนการผลิต การแปรรูป และได้สัมผัสถึงความมุ่งมั่นของเกษตรกรอินทรีย์ที่ต้องการผลิตอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการสามารถนำความรู้กลับไปสื่อสารต่อลูกค้าได้อย่างมั่นใจ และมีความภูมิใจ อีกทั้งยังช่วยให้เชฟของโรงแรมได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ เพื่อบริการลูกค้าอีกด้วย”
ทางแล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) องค์กรขับเคลื่อน Organic Tourism หรือการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์สู่ระบบอาหารสมดุล ได้พาไปศึกษาเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ โดยไปรู้จักกับเกษตรกรต้นแบบ ตามกลุ่มต่างๆ เช่น ศึกษาการทำสวนเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน ปลูกผัก ปลูกอ้อย ทำนา เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ แปรรูปผลิตภัณฑ์ ของวิสาหกิจชุมชนเกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ ดูการทำสวนฝรั่งอินทรีย์ ของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ บางช้าง ใน จ.นครปฐม ไปเรียนรู้การปลูกผัก และผลไม้อินทรีย์ ที่ไร่รวงข้าวภูตะวัน และ สัมผัสวิถีการเลี้ยงหมูหลุม ที่ฟาร์มหมูหลุมดอนแร่ ใน จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ มีหมูกว่า 800 ตัว โดยจุดเด่นก็คือ เลี้ยงแบบธรรมชาติโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่มีกลิ่น และไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ หรือสารเร่งเนื้อแดงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค
“ทำให้มั่นใจต่อวัตถุดิบที่ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีใดๆ เมื่อพร้อมจะปรุงเป็นอาหารให้กับลูกค้าของโรงแรม เราได้เห็นว่าไม่เพียงดีต่อสุขภาพคนปลูก แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น และคนปรุง คนกินก็รู้สึกเชื่อมั่นในความปลอดภัยต่อสุขภาพ ทั้งหมดนี้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม รวมถึง สิ่งแวดล้อม”
ทั้งนี้ ดิ แอทธินี โฮเทลฯ ลงพื้นที่มาศึกษาวิถีเกษตรอินทรีย์แล้ว 2 ครั้ง แต่ละครั้งก็จะมีเจ้าหน้าที่ระดับบริหารทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ เชฟจากทุกครัว ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายบริการลูกค้า ฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด ฝ่ายอบรม ฝ่ายการเงิน และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งเป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ เช่นเดียวกับทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บริหารโรงแรมสุโกศล ที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้ถึงแหล่งผลิตในโครงการของแล็บอาหารยั่งยืน
ด้าน อรุษ นวราช ผู้ร่วมก่อตั้ง แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) องค์กรขับเคลื่อน Organic Tourism หรือ การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์สู่ระบบอาหารสมดุล ซึ่งดำเนินการมากว่า 8 เดือน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการนี้ว่า ได้รับการตอบรับที่ดีมาก จากผู้ประกอบธุรกิจ โรงแรม ร้านอาหาร ชื่อดังกว่ายี่สิบแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และ จ.เชียงใหม่ เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมขับเคลื่อน รวมถึงองค์กรใหญ่ๆ อย่าง ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล และโรงแรม เดอะ สุโกศล ซึ่งเป็นโรงแรมชื่อดังระดับห้าดาวในกรุงเทพฯ ซึ่งในแต่ละปีโรงแรมเหล่านี้มีลูกค้า และนักท่องเที่ยวผ่านเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก
ทางโครงการฯ ได้นำผู้บริหารโรงแรม เจ้าหน้าที่ระดับบริหารส่วนต่างๆ รวมถึงพนักงานที่เกี่ยวข้อง ของทั้ง 2 โรงแรม ลงพื้นที่เครือข่ายสามพรานโมเดล ใน จ.นครปฐม และราชบุรี เพื่อไปรู้จักเกษตรกร และวิถีการทำเกษตรอินทรีย์มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล และระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS
วิถีเกษตรอินทรีย์ ดีทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อม
“คนกินมีสุขภาพดี คนปลูกก็ปลอดภัย”
“ทุกครั้งที่ลงพื้นที่นอกจากความรู้ที่ได้ติดตัวกลับไป หลายคนยังเก็บประทับใจบางสิ่งที่ได้สัมผัส กลับมาด้วย เพื่อเป็นแรงบันดาลส่งต่อคุณค่าออร์แกนิก โดยเฉพาะเรื่องราวชีวิตของเกษตรกร ผู้มีความมุ่งมั่นเปลี่ยนวิถีจากเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ อย่าง คุณอรุณี พุทธรักษา หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจเกษตรทฤษฎีใหม่หัวใจอินทรีย์ ที่หันมาเกษตรอินทรีย์ เพราะแม่ป่วยจากการใช้ยาฆ่าแมลง ครอบครัวเป็นหนี้ ธกส. จากการใช้ปุ๋ยเคมี หรือคุณประหยัด ปานเจริญ หัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์บางช้าง จ.นครปฐม ที่หักดิบเคมีมาทำสวนผลไม้อินทรีย์ ขณะที่หนี้สินท่วมตัว ต้องเอาที่ดินไปจำนอง เพราะสามีโดนสารเคมีเล่นงานจนต้องตัดปอดทิ้ง แต่หลังจากพบสามพรานโมเดลทำให้มีความรู้ มีตลาด จนสามารถปลดหนี้ได้ และได้ที่ดินคืน” อรุษ กล่าวทิ้งท้าย
Organic Tourism หรือ การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ นั้นเป็นการขับเคลื่อนทางสังคมที่ริเริ่ม โดย ดร.อุดม หงส์ชาติกุล และ อรุษ นวราช ผู้ร่วมก่อตั้ง แล็บอาหารยั่งยืน (ประเทศไทย) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบอาหารสมดุล และยั่งยืน ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร หรือ เกษตรกร และทุกภาคส่วนที่อยู่บนห่วงโซ่อาหาร สามารถเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสู่ระบบอาหารสมดุล ติดตามได้ที่ organictourismthailand.com