ลำปาง - เกษตรกรชาวลำปางลองผิดลองถูกมา 5 ปี สุดท้ายคิดค้นปุ๋ยสมุนไพร 11 ชนิด ใช้ได้ทั้งไล่แมลง-กำจัดวัชพืช-เร่งการเติบโต-ฟื้นฟูสภาพดิน แบบไร้สารเคมี ลูกค้าทั้งขาประจำ-ขาจรสั่งซื้อต่อเนื่องจนผลิตแทบไม่ทัน
ขณะนี้ นายบุญเรือง จันทร์อิฐ ประธานกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ ต.แม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง พร้อมคนงานต่างเร่งมือผสมปุ๋ยอินทรีย์ลงในเครื่องโม่ที่ตั้งไว้ภายในบ้านเลขที่ 130 หมู่ 6 บ้านแม่มอดใต้ ต.แม่มอก อ.เถิน ทุกวัน เพื่อผสมส่วนผสมปุ๋ยต่างๆ ตามสูตร ก่อนนำบรรจุกระสอบรอจำหน่ายให้ลูกค้าที่สั่งไว้จำนวนมาก
นายบุญเรือง (เสื้อสีชมพู) กล่าวว่า ตนได้ทดลองทำปุ๋ยแบบลองผิดลองถูกมาร่วม 5 ปี เพื่อต้องการให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตัวเอง และเกษตรกรที่ปลูกข้าว-พืชไร่ ที่เจอกับปัญหาวัชพืช
และด้วยความที่มีนิสัยชอบทดลอง เห็นพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในป่าของหมู่บ้าน และในบ้านที่ปลูกไว้รักษาตัวเอง จึงได้ทดลองนำพืชสมุนไพร ซึ่งมีสรรพคุณแตกต่างกันและสามารถใช้กับคนได้ นำมาทดลองผสมทำเป็นปุ๋ยและยาฆ่าแมลง รวมถึงสามารถช่วยให้ผลผลิตเจิรญเติบโตและช่วยให้ดินร่วนซุยได้ด้วย
สำหรับปุ๋ยของตนที่คิดค้นขึ้นมีส่วนผสมของสมุนไพรรวมถึง 11 ชนิด ได้แก่ สะเดา บอระเพ็ด หญ้าหนอนตายหยาก ปุงช้าง ปุงมดง่าม เมล็ดข่า หัวข่า หนามหัน ขี้ค้างคาว ขี้วัว (ใช้เฉพาะวัวที่เลี้ยงตามธรรมชาติ ไม่ใช้วัวขุน เพราะจะมีส่วนผสมของสารเร่งเนื้อ) นำมาผสมตามสัดส่วนที่ได้ทดลอง
คุณสมบัติของปุ๋ยที่ได้คือ ไล่แมลง กำจัดวัชพืช เร่งการเจริญเติบโต ทำให้ดินร่วนซุย เพิ่มธาตุอาหาร ซึ่งก็จะมีวิธีใส่ปุ๋ยแตกต่างกันไป เช่น หากต้องการกำจัดวัชพืช และต้องการทำให้ดินที่แห้งแข็งร่วนซุย ก็จะต้องนำปุ๋ยลงก่อน หรือใส่ตอนที่พรวนดินก่อนปลูกพืช หากต้องการให้พืชเจริญเติบโต ก็ให้ใส่ปุ๋ยหลังปลูกพืชไปแล้วประมาณ 5-15 วัน ก็จะกลายเป็นปุ๋ยเร่งการเจริบเติบ ทำให้ข้าวเมล็ดโตสวย แต่ถ้าต้องการไล่แมลงก็ให้นำไปใส่ตอนหว่านกล้า แมลงจะไม่มารบกวน
ส่วนปริมาณปุ๋ยที่เกษตรกรจะนำไปใช้นั้น หากดินแข็งและเสีย ในปีแรกก็จะให้ใส่ 4 กระสอบ ปีที่ 2 ให้ลดลงมาเหลือ 2 กระสอบ และ 1 กระสอบตามลำดับ
ด้านนายไพโรจน์ จินากุล เกษตรอำเภอเถิน กล่าวว่า นักวิชาการเกษตรได้เข้ามาให้คำปรึกษาวิสาหกิจทำปุ๋ยอินทรีย์ของนายบุญเรืองมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากประธานกลุ่มได้ริเริ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาทำร่วมกับภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้นำสมุนไพรที่มีในป่าชุมชนมาใช้เป็นส่วนผสมในเนื้อปุ๋ย ซึ่งก็ได้ผลในการไล่แมลง และเพิ่มความเจริญเติบโตให้แก่พืชได้ดี และปลอดสารเคมี ถือเป็นจุดเด่นของสินค้า แต่เนื่องจากทางกลุ่มฯ ต้องใช้วัตถุดิบ คือ สมุนไพรจำนวนมาก โดยเฉพาะบอระเพ็ด ต้องใช้ปีละกว่า 3 ตัน ในอนาคตอาจจะทำให้สมุนไพรที่มีอยู่ตามธรรมชาติไม่เพียงพอ จึงได้วางแผนร่วมกันว่าจะให้นักวิชาการมาให้ความรู้ในเรื่องขยายพันธุ์พืชสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนผสมของปุ๋ยเพิ่มขึ้น
ขณะที่ นายพีระยุทธ ราชหาญ เกษตรกรผู้ใช้ปุ๋ย กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นเกษตรกรจะใช้ยาฆ่าแมลงในการกำจัดวัชพืช แต่หลังจากตนเลิกทำงานในเมืองกลับมาอยู่ที่บ้าน ก็พบว่าหลายคนประสบปัญหาด้านสุขภาพเพราะได้รับสารเคมีจากพืชผักที่กินทุกวัน จึงได้หันมาปลูกพืชแบบอินทรีย์ แต่ก็ยังเจอปัญหาเรื่องวัชพืชและแมลง
จนกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ได้คิดและผลิตปุ๋ยสูตรดังกล่าวออกมาใช้ ก็นำมาทดลองก็ได้ผลดี แม้จะไม่ได้ฆ่าแมลงแต่แมลงก็หนี ส่วนวัชพืชก็ตายโดยไม่กระทบข้าว ปูในนา หรือพืชอื่น แต่กลับทำให้เมล็ดข้าว ถั่ว ที่ปลูกเมล็ดใหญ่ขึ้นด้วย และปัจจุบันกลุ่มข้าวอินทรีย์ ซึ่งมีสมาชิก 5 กลุ่ม รวม 56 คน มีแปลงข้าวอินทรีย์กว่า 1,500 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นแปลงข้าวอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดฯ ได้หันมาใช้ปุ๋ยตัวนี้ทั้งหมด ส่งผลให้ได้ราคาสูงกว่าข้าวทั่วไปที่จำหน่ายในตลาดมาก
ปัจจุบันทางกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ผลิตปุ๋ยวันละ 100-120 กระสอบ กระสอบละ 25 กิโลกรัม มีออเดอร์ประจำ 2,000-2,500 กระสอบต่อปี ไม่รวมกับรายย่อยและลูกค้าใหม่ จำหน่ายให้สมาชิกกลุ่มและเกษตรกรในหมู่บ้านราคากระสอบละ 250 บาท ส่วนลูกค้าทั่วไปก็จะบวกค่าน้ำมันตามระยะทาง ซึ่งทางกลุ่มได้กำไรเพียงกระสอบละ 30-40 บาทเท่านั้น
ขณะนี้กลุ่มลูกค้าที่สั่งซื้อคือหน่วยงานที่ส่งเสริมปลูกพืชอินทรีย์ เกษตรกรกลุ่มอินทรีย์ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะลำพูนนำไปทดลองใส่ต้นลำไยที่ต้นไม่สมบูรณ์และเจอสารเคมีมาก่อนใกล้ตายก็พบว่าลำต้นฟื้นตัวดีขึ้น