พังงา - เกษตรจังหวัดเตือนเจ้าของสวนทุเรียนสาลิกาห้ามใช้ยาฆ่าหญ้า และเร่งเก็บผลผลิต หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม เผยรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาทต่อไร่ หลังราคาพุ่งกิโลกรัมละ 250-300 บาท
นายธีระพงษ์ ตันติเพชราภรณ์ เจ้าของสวนทุเรียนสาลิกา ต.ปากพู่ อ.กะปง จ.พังงา นำนายนิพนธ์ สุขสะอาด เกษตรจังหวัดพังงา พร้อมคณะ เข้าดูสวนทุเรียนก่อนผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ โดยได้นำเสนอปัญหา และโรคต่างๆของทุเรียนสาลิกา ซึ่งเป็นทุเรียนพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดพังงา ที่พร้อมจะให้ผลผลิตสู่ตลาดในราคากิโลกรัมละ 250-300 บาท ในช่วงแรกของการให้ผลผลิตของทุเรียนสาลิกา
อีกทั้งขอให้เกษตรกรหมั่นดูแลสวน ห้ามใช้ยาฆ่าหญ้าเพื่อความเจริญเติบโตของต้นทุเรียน ขอให้เกษตรกรไม่เก็บทุเรียนสาลิกาอ่อนเพื่อแสวงหากำไรเกินควร และรักษาคุณภาพทุเรียนสาลิกาเพื่อคงมาตรฐานความอร่อย
ด้านเกษตรจังหวัดพังงา แนะนำไม่ให้เกษตรกรใช้ยาฆ่าหญ้าควรใช้ตามคำแนะนำเจ้าหน้าที่เกษตรกรควรใช้เครื่องตัดหญ้าคงวงจรธรรมชาติไว้ สำหรับรายได้คาดไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อไร่
นายธีระพงษ์ ตันติเพชราภรณ์ เจ้าของสวนทุเรียนสาลิกา กล่าวว่า ปัญหาส่วนใหญ่ของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสาลิกาที่พบคือ ต้นทุเรียนทรุดโทรมเกิดจากการติดผลแล้วไม่ได้ดูแล ประกอบกับสภาพภูมิอากาศของอำเภอกะปง มีฝนตกชุกทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับเชื้อราได้ง่าย เจ้าหน้าที่เกษตรเข้าแนะนำซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ และเชี่ยวชาญด้านการเกษตร อีกทั้งเกษตรกรบางรายประสบความสำเร็จในการปลูกทุเรียนสาลิกา ซึ่งสามารถเป็นที่ปรึกษาให้แก่เกษตรกรรายอื่นได้อย่างดี บางรายใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นปัญหาทำให้ยาฆ่าหญ้าทำลายรากต้นทุเรียนได้ จึงมีการพูดคุยระหว่างเกษตรกร และนักวิชาการต้องการให้หยุดใช้ยาฆ่าหญ้า ให้หันมาใช้เครื่องตัดหญ้าทำลายวัชพืชใต้ต้นทุเรียนจะเหมาะสมกว่า
โดยจะส่งผลให้คุณภาพของทุเรียนสาลิกาดีขึ้น เนื่องจากไม่มีการใช้ยาเข้าช่วยในการให้ผลผลิต อีกปัญหาในเรื่องของการเก็บเกี่ยวพบว่า มีเกษตรกรบางรายเก็บเกี่ยวทุเรียนอ่อนกว่ากำหนด เนื่องจากช่วงแรกที่ทุเรียนสาลิกาออกสู่ตลาดจะมีราคากิโลกรัมละ 250-300 บาท เป็นสิ่งจูงใจให้เกษตรกรเร่งเก็บผลผลิต ทำให้เจอทุเรียนอ่อน ซึ่งทางกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสาลิกามีการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคในการตัดทุเรียน และเทคนิคในการดูแลทุเรียนด้วย ดังนั้น ในปีนี้และอนาคตคาดว่าทุเรียนสาลิกาจะได้รับผลผลิตที่ดี มีมาตรฐาน และคุณภาพดียิ่งขึ้น สามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคที่มีกำลังจ่ายสูงขึ้น และได้ทุเรียนที่มีคุณภาพดีสามารถคืนได้หากไม่มีคุณภาพ
ด้าน นายนิพนธ์ สุขสะอาด เกษตรจังหวัดพังงา กล่าวว่า ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา รู้สึกเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนสาลิกา ในการดูแลรักษา แม้ว่าจะเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ทนทานต่อสภาพพื้นที่ แต่สำหรับพี่น้องเกษตรกรส่วนหนึ่งที่ยึดติดกับการใช้สารเคมี โดยเฉพาะสารเคมีที่ใช้ฆ่าหญ้า พบว่า มีการใช้อยู่บ่อยๆ ทำให้มีผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ทำลายจุลินทรีย์ที่อยู่ในดิน ที่สำคัญจะทำลายระบบราก ซึ่งจะทำให้เชื้อชนิดอื่น เช่น เชื้อรากเน่า โคนเน่า จะทำลายต้นทุเรียน
จึงแนะนำให้ใช้สารชีวพันธุ์อื่นในการควบคุมแมลงศัตรูพืช เป็นการช่วยเกษตรกรลดต้นทุน และป้องกันไว้ตั้งแต่แรกไม่ให้เกิดปัญหาโรคระบาดจึงจะแก้ปัญหา การดูแลดีเป็นการเพิ่มผลผลิตด้วย พบว่า ทุเรียนสาลิกาอายุ 20 ปีขึ้นไป 1 ไร่ สามารถให้ผลผลิตได้ประมาณ 1 ตัน เป็นพืชที่ทำเงินให้เกษตรกรได้มาก แต่ละปีเกษตรกรมีรายได้ไร่ละไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท สำหรับเกษตรกรที่ดูแลดี การตลาดดี มีรายได้มากกว่านี้