“กุนซือเศรษฐกิจ” และผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไทย แนะรัฐควรส่งเสริมโอกาสการลงทุนบริษัทจดทะเบียนไทย ช่วยกำจัดจุดอ่อน สร้างแรงจูงใจให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ เป็นผู้นำพาบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กเข้าไปลงทุนในต่างประเทศได้ ขยายไปสู่ตลาดโลก
นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหาภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “เศรษฐกิจไทยได้อะไรจากการลงทุนในต่างประเทศของภาคเอกชน” ว่า นโยบายที่ภาครัฐกำลังพยายามผลักดัน และเร่งแก้ใขตลอดจนถึงดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ การแสวงหาโอกาสสร้างความสนใจในการลงทุน เช่น โครงการส่งเสริมการลงทุนด้วยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor : EEC โดยจะเน้นเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมแบบครบวงจร เพื่อที่จะตอบโจทย์การลงทุนของนักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการขยายอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ เช่น โครงการส่งเสริมการเกษตรรูปแบบใหม่ในลักษณะสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อการเพิ่มผลผลิตและสร้างมาตรฐานสินค้าตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของไทย ซึ่งโดยพื้นที่ของประเทศไทยที่มีระบบเกษตรกรรมดั้งเดิมอยู่แล้ว ให้มีความทันสมัยเทียบเท่าต่างประเทศ ซึ่งทางรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนควบคู่กันไป
ขณะเดียวกัน ในส่วนของการขยายการลงทุนของบริษัทเอกชน หากมีโอกาสที่ดี และมีเทคโนโลยีที่ดี ทางรัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุนผ่านทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI และการหาคู้ค้าพันธมิตรให้โดย กระทรวงพาณิชย์ โดยจะมีการดำเนินงานไปควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศเช่นเดียวกันด้วย
ขณะที่ นายสุรงค์ บูลกูล ประธานกรรมการ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และที่ปรึกษาสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวเสริมว่า สิ่งหนึ่งที่บริษัทจดทะเบียนภาคเอกชนของไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ คือ การได้ขยายตลาด และการลงทุนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีการขยายซัปพลาย หรือวัตถุดิบเพื่อเข้ามาต่อยอดกับการดำเนินธุรกิจในประเทศ โดยมองว่า การออกไปลงทุนในต่างประเทศจะประสบความสำเร็จหรือไม่ จะต้องมีองค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนด้วย 4 ปัจจัยหลัก คือ เทคโนโลยีที่ทันสมัย, การเชื่อมโยงของพันธมิตรร่วมธุรกิจ หรือ Connectivity, เม็ดเงินสนับสนุนในการลงทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธภาพสูงสุด
“ในการขยายการลงทุน สิ่งหนึ่งที่เราปักธงยุทธศาตร์ลงไปว่า การเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม AEC ได้แก่ พม่า, ลาว, กัมพูชา ตลอดจนถึงประเทศจีน ในโครงการต่าง ๆ จะต้องมีกลไกที่จะรองรับแผนเข้าไปลงทุนอย่างชัดเจน ซึ่งแผนการลงทุนจะมีประสิทธิภาพ และมีการวัดผลของมูลค่าการลงทุนอย่างชัดเจน ในสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับประเทศโดยตรง โดยองค์ประกอบเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญ อีกทั้งภาครัฐได้เข้ามาช่วยกำจัดจุดอ่อน และสร้างแรงจูงใจให้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ เป็นผู้นำพาบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กเข้าไปลงทุนในต่างประเทศได้”
นอกจากนี้ นางสาวภวิดา ปานะนนท์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การจะทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้นนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ควรจะปลดล็อคกฎ กติกา ต่างๆที่ไม่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหากไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มองว่า นักลงทุนอาจจะมองประเทศไทยไม่น่าลงทุน
ทั้งนี้ สิ่งที่บริษัทเอกชนควรจะได้รับจากการออกไปลงทุนต่างประเทศ คือ โอกาสในการเข้าถึง supply chain ,การแข่งขันในตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และการสร้างพลวัตรที่มีรายละเอียดหลากหลายเพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้ และต่อยอดธุรกิจได้