MGR ออนไลน์ -- ทางการกัมพูชาเริ่มแจกจ่ายพันธุ์ข้าวให้แก่กลุ่มชาวนาเป้าหมาย เพื่อเพาะต้นกล้าสำหรับปักดำในเนื้อที่นารวม 200,000 เฮกตาร์ หรือ 1,250,000 ไร่ ทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการปลูกข้าวชนิดนี้ในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก และ ถือเป็นการปรับทิศทางส่งออกข้าว โดยมีชาวจีนทางตอนเหนือเป็นลูกค้ารายใหญ่ นอกจากนั้นในเกาหลีและไต้หวัน ที่ประชากรเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลัก ก็ยังผลิตได้ไม่พอกิน กระทรวงเกษตรเปิดเผยในกรุงพนมเปญสัปดาห์นี้ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับพื้นที่เพาะปลูก
แต่สื่อภาษาเขมรรายงานว่า การตัดสินใจ "ปูพรม" ข้าวชนิดใหม่ในประเทศ มีขึ้นหลังจากได้ทำการทดลองปลูกเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อทดสอบความสามารถในการปรับตัว ความสามารถดูดซึมธาตุที่จำเป็นจากดิน การงอกงามภายใต้สภาพภูมิอากาศ และ การให้ผลผลิตภายใต้สภาพพื้นที่ที่แตกต่าง -- การปลูกทดลองทำขึ้นในท้องนา จ.กัมปงสะปือ ทางทิศตะวันตกกรุงพนมเปญ ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือจากศูนย์วิจัยข้าวพันธุ์ผสมมณฑลหูหนัน (Hunan Hybrid Rice Research Center) ร่วมกับกลุ่มบริษัทเจียงซู ลองอาน เทคโนโลยีการเกษตร
กระทรวงเกษตรออกรายงานเรื่องนี้ไม่กี่วันที่ผ่านมา อ้างเปิดเผยโดย นายแวง สาคอน รัฐมนตรีว่าการ
เรียกกันทั่วไปว่า "ข้าวญี่ปุ่น" (Japonica Rice) ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่า เป็นข้าวชนิดหลักที่ชาวนาญี่ปุ่นปลูกกันทั่วประเทศ และ ใช้บริโภคกันมายาวนาน แต่แท้จริงแล้วข้าวชนิดนี้ เป็นหนึ่งในสองกลุ่มพันธุ์หลักในย่านเอเชีย โดยสังกัดในกลุ่ม ข้าว oryza sativa japonica ซึ่งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ตามจีโนม -- ชาวเกาหลีกับชาวจีนไต้หวัน นิยมบริโภคเช่นเดียวกัน ปัจจุบันชาวจีนในมณฑลทางตอนเหนือ กลายเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุด
การปลูกทดลองยังคงดำเนินต่อไป อีกทั้งยังไม่มีการเปิดผลเผยผลลัพธ์ที่ได้ออกมาครั้งแรก แต่กระทรวงเกษตรได้เซ็นความตกลงร่วมมือกับบริษัทเอกชน และ สถาบันวิจัยจาก สป.จีน เดือน ม.ค.ปีนี้ ซึ่งนำมาสู่การตัดสินใจปลูกแบบปูพรม ตามที่เปิดเผยในรายงานสัปดาห์นี้
"ตามแผนการที่วางเอาไว้ เรากำลังจะปลูกข้าวในเนื้อที่นารวม 2 แสนเฮกตาร์ ซึ่งจะสามารถผลิตข้าวเปลือกได้ถึง 6 ตันต่อเฮกตาร์" นายสาคอนอธิบาย โดยไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดอีก -- แต่ผลผลิตดังกล่าวเทียบได้เท่ากับ 0.96 ตันต่อ 1 ไร่ ซึ่งสูงกว่าข้าวดอกลำดวน และ ข้าวดอกมะลิ ข้าวหอมพันธุ์ดีทั้งสองชนิดที่ปลูกกันแพร่หลายในปัจจุบัน
นายเฮียน วันฮัน (Hean Vanhan) อธิบดีกรมการเกษตร ให้สัมถาษณ์ในเดือน ม.ค.ว่า แม้จะยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันในประเทศ แต่ในจีนบริโภคข้าวชนิดนี้กันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนเหนือของแผ่นดินใหญ่ ซึ่งได้กลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุด และ "ความตกลงกัมพูชา-จีนจะช่วยเราทำการวิจัย ซึ่งจำเป็นในการปลูกข้าวญี่ปุ่นในกัมพูชา"
"ตอนนี้ข้าวของเราส่งขายในภาคใต้ของจีนเท่านั้น การปลูกข้าวพันธุ์ญี่ปุ่น จะช่วยเราขยายตลาดสู่ภาคเหนือ" และ "ถ้าหากการปลูกข้าวญี่ปุ่นในบ้านเราประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้สามารถส่งไปจำหน่ายในเกาหลี รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย" นายวันฮันกล่าวในคราวเดียวกัน
ส่วนนายมูล สฤษฏิ์ (Moul Sarith) เลขาธิการสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (Cambodia Rice Federation) กล่าวว่า ข้าวญี่ปุ่นที่ผลิตออกมา จะใช้บริโภคในประเทศด้วยเช่นเดียวกัน -- "เชฟร้านอาหารเกาหลี ญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงในกัมพูชา ชอบปรุงเมนูใช้ข้าวชนิดนี้กันมาก ดังนั้นจึงมีความต้องการสูง และ ยังจำหน่ายได้ราคาดีกว่าชนิดอื่นใดในราชอาณาจักร"
ตามรายงานของสื่อออนไลน์ ฝ่ายจีนซึ่งทำการวิจัยและคัดพันธุ์ ได้ตั้งเป้าจะให้สามารถปลูกข้าวญี่ปุ่นในกัมพูชาได้ 3-4 แสนเฮกตาร์ ซึ่งจะให้ได้ผลผลิตออกมา 1.8-2.4 ล้านตันข้าวเปลือก ต่อฤดูการผลิต
ตามสถิติของกระทรวงพาณิชย์ สามเดือนแรกของปีนี้กัมพูชาส่งออกข้าวทั้งหมด 161,115 ตัน (ข้าวสาร) ในนั้น 41,412 ตัน หรือ ราว 25.7% ส่งขายจีน ซึ่งเป็นตลาดข้าวใหญ่ที่สุดของข้าวกัมพูชาในปัจจุบัน
ไม่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้นที่กำลังทดลองปลูกข้าวญี่ปุ่น บริษัทค้าข้าว และ บริษัทเอกชนอีกจำนวนหนึ่ง ก็ได้ดำเนินเรื่องนี้ด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน นายสอง สราญ (Song Saran) ซีอีโอของบริษัทข้าวแอมรู (Amru Rice) กล่าวว่า หากประสบความสำเร็จ ก็มีโอกาสที่จะส่งจำหน่ายตลาดเกาหลี และ ญี่ปุ่น และ ที่อื่นๆ เนื่องจากความต้องการข้าวชนิดนี้ในตลาดโลก คิดเป็นถึง 20% ของข้าวทั้งหมด
ตามข้อมูลในเว็บไซต์การเกษตรของต่างประเทศ ข้าวพันธุ์นี้นอกจากจะเรียกกันทั่วไปว่า Japonica Rice แล้ว ยังเรียกอีกชื่อหนึ่งเป็น "ข้าวไซนิก้า" (Sinica Rice) -- มีเมล็ดสั้นกว่า ป้อมๆ มนๆ กลมมากกว่าข้าวพันธุ์เอเชียชนิดอื่น เมล็ดสั้นกว่าและเนื้อข้าวเหนียวกว่า ข้าวอินดีก้า (Indica Rice) ซึ่งเป็นข้าวกลุ่มหลักอีกกลุ่มหนึ่งในย่านเอเชียด้วยกัน.