มท. เตรียมวิเคราะห์ 7.2 แสนสารพัดปัญหา จากเวที “ไทยนิยม ยั่งยืน” ระดับตำบล ก่อนจัดงบเพิ่มเติม 3.4 หมื่นล้าน ที่ประกาศในราชกิจจาฯแล้ว ให้หมู่บ้าน/ชุมชนละ 2 แสน ในกรอบใหม่ 120 วัน ด้าน “บิ๊กป๊อก” สั่งจังหวัดรวบรวมโครงการ คาดเสนอ 8.7 หมื่นโครงการ เฉพาะสาธารณูปโภค 6.9 หมื่นโครงการ เผยเริ่ม เวที 4 แล้ววันนี้ สั่ง “ผู้ว่าฯ - ทีมขับเคลื่อนฯ” แจงเพิ่ม “นโยบายช่วยเหลือชาวนา” งบรวม 1 แสนล้าน ในพื้นที่ 7.8 หมื่นแห่ง
วันนี้ (16 พ.ค.) แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ภายหลัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประชุมมอบแนวทางการลงพื้นที่ ครั้งที่ 4 (เวทีที่ 4) ของทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล/ชุมชน ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการซักซ้อมแนวทางการลงพื้นที่ของทีมขับเคลื่อนฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป
โดยให้จังหวัดเตรียมข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลโครงการที่คาดว่าหมู่บ้าน/ชุมชนจะเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน (หมู่บ้าน/ชุมชน ละ 200,000 บาท) ที่กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้จังหวัด/อำเภอรวบรวม
ในที่ประชุม พล.อ.อนุพงษ์ ย้ำว่า หลังจาก 3 รอบที่ดำเนินการไปแล้ว ครั้งต่อไป เป็นครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายในการลงพื้นที่ ดังนั้น แผนงาน โครงการ ก็จะต้องมีการดำเนินการในขั้นพิจารณาโครงการ รวมถึงการปรับตัวงบประมาณ ซึ่งได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งในแผนงานก็จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน คือ เดือน พ.ค - ก.ย. 2561 ต้องเรียบร้อยทั้งหมด ที่สำคัญของ โครงการ ไทยนิยม ยั่งยืน คือ มุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาของประชาชน ในระดับฐานราก ซึ่งประชาชนมีความยากจน ขาดโอกาส ขาดงบประมาณ ทางรัฐบาลก็ได้ให้เงินมา สิ่งสำคัญคือ เมื่อมีงบประมาณ พูดคุยแล้ว รู้ปัญหาแล้ว จึงได้จัดทำแผนต่างๆ ขึ้น
“เชื่อว่า ทุกแผนงาน โครงการ จะตอบสนอง ให้ประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้นอันดับแรก รวมทั้งมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งอยากจะเน้นให้ทำแผนงาน โครงการเป็นหลักโดยซักซ้อมทำความเข้าใจกันก่อนลงพื้นที่ เพราะก็มีงบประมาณแล้ว ก็จะเริ่มเลยในวันที่ 16 พ.ค. นี้” แหล่งข่าวระบุถึงข้อสั่งการ รมว.มหาดไทย
นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ ยังขอให้ทุกจังหวัดเพิ่มเติมในเวทีที่ 4 ในประเด็นข้อมูลมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกข้าวคุณภาพดีจะส่งผลให้ราคาข้าวมีมูลค่าสูงขึ้น และมาตรการช่วยเหลือชาวนาอื่นๆ เช่น การลดต้นทุน การผลิตไปประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่รับทราบ ประกอบด้วย
โครงการการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวนาปี ครัวเรือนละไม่เกิน 12,000 บาท ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และข้าวปทุมธานี 1 อัตราไร่ละ 1,200 บาทต่อราย ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริง ไม่เกินรายละ 10 ไร่ วงเงินจ่ายขาด 48,321.07 ล้านบาท, โครงการการจัดทำ Application “จองรถเกี่ยว”, โครงการประชารัฐเชื่อมโยงตลาดข้าวเชื่อมโยงผู้ผลิตภายใต้โครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับผู้ประกอบการค้าข้าวที่สนใจ เข้าร่วมโครงการของกระทรวงพาณิชย์ อาทิ ข้าวเจ้าพื้นนิ่ม/ ข้าว กข 43/ ข้าวอินทรีย์/ ข้าวสี เป็นต้น
ส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ, มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2561/62, โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี, โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ,โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก และโครงการประกันภัยข้าวนาปี วงเงินรวมกว่า 1 แสนล้านบาท”
ขณะที่สำนักงานรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล) ได้เตรียมจัดทำข้อมูลในการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ (Area based) ทั้งด้านปัญหา จุดเด่น จุดด้อย ศักยภาพของแต่ละหมู่บ้าน/ชุมชน ตำบล รวมทั้งหาแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนตามลำดับความสำคัญของปัญหาหรือความจำเป็นเร่งด่วน
ที่ประชุมยังรับทราบผลการลงพื้นที่ เวทีครั้งที่ 3 (11 เม.ย.- 15 พ.ค. 61) จำนวน 78,516 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 92.56 จำนวนประชาชนเข้าร่วม 7.146 ล้านคน เฉลี่ยเวทีละ 94 คน ขณะเดียวกันในพื้นที่ได้รายงานสภาพปัญหาความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน ที่ประชาชนเสนอในเวทีครั้งที่ 3 กว่า 726,784 รายการ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะนำไปวิเคราะห์เพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหา โดยเชิญเอกชน (ภาคประชารัฐ) ภาคประชาสังคม ผู้บริหาร อปท. และสถาบันการศึกษามาจัดทำแผนแล้ว
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ในด้านงบประมาณหมู่บ้าน/ชุมชน ละ 200,000 บาท ที่สั่งการให้จังหวัดไปรวบรวมนั้น มีการคาดการณ์ว่า หมู่บ้าน/ชุมชน จะเสนอมากว่า 87,473 โครงการ เป็นด้านสาธารณูปโภคสูงสุดถึง 69,539 โครงการ หรือร้อยละ 86.70 รองลงมาเป็นเรื่องของการสร้างอาชีพ/สร้างรายได้ แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข ฯลฯ
สำหรับ งบประมาณ ขับเคลื่อน โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามมาตรา 15 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ให้ตั้งเป็นจำนวน 34,022,513,200 บาท จำแนกดังนี้ (1) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 20,000,000,000 บาท (2) กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 13,872,513,200 บาท (3) เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์พืช 150,000,000 บาท
โดยที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินในการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อรักษาทิศทางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างยั่งยืน จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เป็นจำนวนไม่เกิน 100,258,077,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(1) ค่าใช่จ่าย ส่งเสริม และ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน เป็นจำนวน 4,600,000,000 บาท (2) เพื่อจัดสรรตามแผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร เป็นจำนวน 24,300,695,500 บาท (3) เพื่อจัดสรรตามแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นจำนวน 21,078,454,400 บาท (4) เพื่อจัดสรรตามแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน เป็นจำนวน 50,378,928,100 บาท.