xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามลดปลูกข้าว-โซนนิ่งสามเหลี่ยมแม่น้ำโขง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทรงฤทธิ์ โพนเงิน นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

กระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม กำลังเร่งปรับปรุงคุณภาพข้าวเพื่อกระตุ้นการส่งออกให้สูงขึ้นในตลอดปี 2017 นี้ เนื่องจากการส่งออกในปี 2016 มีปริมาณรวมเพียง 4.88 ล้านตัน ซึ่งลดลงถึง 25.8% และมูลค่าก็ลดลงกว่า 21% เมื่อเทียบกับปี 2015 โดยมีสาเหตุมาจากภัยธรรมชาติ ทั้งภัยน้ำท่วม และภัยแห้งแล้งที่รุนแรงมากขึ้นทุกปี อันเป็นผลจากการทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติโดยฝีมือของมนุษย์ด้วยกันเป็นสำคัญ

กล่าวคือ รัฐบาลเวียดนามยอมรับถึงความผิดพลาดในการพัฒนาด้านเกษตรกรรมในตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีมานี้ ว่า การวางเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่สุดของโลกแทนไทย และอินเดียให้ได้นั้นได้สร้างปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติในเวียดนามมากขึ้นตลอดเวลาที่ผ่านมาเช่นกัน
.

ทั้งนี้ ก็เนื่องจากว่า การเพิ่มผลผลิตข้าวด้วยการขยายพื้นที่ปลูกข้าวให้กว้างขึ้นนั้นได้เป็นผลทำให้เขตพื้นที่ธรรมชาติได้ถูกทำลายไปอย่างมากมาย และในขณะเดียวกัน การเพิ่มฤดูกาลในการปลูกข้าวให้เป็น 3 ครั้งในแต่ละปี เพื่อที่จะทำให้มีผลผลิตข้าวส่งออกไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังจะเห็นได้จากการส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้นจาก 3.47 ล้านตันในปี 2000 เป็น 7.72 ล้านตันในปี 2012 และไม่ต่ำกว่า 7 ล้านตันต่อปีในช่วงปี 2013-2014 และมากกว่า 6.57 ล้านตันในปี 2015 นั้น ก็ได้มีการใช้ทรัพยากรต่างๆ ไปอย่างมากมาย รวมถึงการใช้ปุ๋ยเคมีมากกว่า 1.5 ล้านตันต่อฤดูกาล ที่ยังตกค้าง และทำลายคุณภาพของดินอยู่เรื่อยมา

นอกจากนี้ การเพิ่มฤดูกาลในการปลูกข้าวดังกล่าวยังทำให้เกษตรกรเวียดนามมีความต้องการน้ำจืดมากขึ้นเป็น 3 เท่า ซึ่งแน่นอนว่า ปัญหาขาดแคลนน้ำจืดย่อมรุนแรงมากขึ้นในช่วงหน้าแล้ง ยิ่งในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong Delta) ที่มีเนื้อที่กว้าง 40,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมในเขต 13 จังหวัด (ไม่รวมโฮจิมินห์ ซิตี) ในภาคใต้ของเวียดนามนั้น ต้องพึ่งพาปริมาณน้ำจืดส่วนใหญ่จากแม่น้ำโขงด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้การผลิตของเกษตรกรเวียดนามที่ Mekong Delta มีความเสี่ยงอย่างยิ่ง
.

ทั้งนี้ เพราะปริมาณน้ำจืดทั้งหมดที่ Mekong Delta นั้นคิดเป็นปริมาณน้ำจืดที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตเวียดนามเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า มากถึง 90% นั้น ก็คือ ปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงมาจากเขตจีน พม่า ลาว ไทย และกัมพูชานั่นเอง ด้วยเหตุนี้ โครงการพัฒนาต่างๆ ในเขตตอนบนของลุ่มแม่น้ำโขง จึงนับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตทางการเกษตรที่ Mekong Delta ของเวียดนามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เฉพาะอย่างยิ่ง แผนการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักที่มีถึง 20 โครงการ แบ่งเป็น 8 โครงการในมณฑลยูนนานของจีน (สร้างเสร็จแล้ว 5 โครงการ) กับในลาว 10 โครงการ (รวมเขื่อนไซยะบุลี และเขื่อนดอนสะโฮงที่กำลังก่อสร้าง) และอีก 2 โครงการในกัมพูชา

แน่นอนว่า โครงการเขื่อนเหล่านี้ต้องกักเก็บน้ำไว้ในปริมาณมาก โดยจากการศึกษาที่เป็นการร่วมมือระหว่างรัฐบาลเวียดนามกับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ที่ได้นำเสนอสู่วงกว้างเป็นครั้งแรกในปลายปี 2013 นั้น ได้ระบุว่า “...แผนการก่อสร้างเขื่อนบนแนวแม่น้ำโขง 12 โครงการในลาว และกัมพูชานั้นจะต้องมีการกักเก็บน้ำไว้หล่อเลี้ยงเขื่อนคิดเป็น 55% ของปริมาณน้ำทั้งหมด...”
.

ยิ่งไปกว่านั้น การขยายพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ ทั้งในลาว ไทย และกัมพูชา นับจากปัจจุบันไปจนถึงปี 2030 ก็ยังจะต้องมีการผันน้ำจากแม่น้ำโขง เพื่อนำไปตอบสนองพื้นที่การเกษตรดังกล่าวคิดเป็นปริมาณรวมกันมากกว่า 15,200 ล้านลูกบาศก์เมตรด้วยแล้ว ก็ย่อมที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในเขต Mekong Delta มากขึ้น เนื่องจากจะทำให้ปริมาณน้ำลดลงถึง 24% และในขณะเดียวกัน พื้นที่การเกษตรก็ยังจะถูกน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาเพิ่มขึ้นอีก 7% ในแต่ละปี

นอกจากนั้น การก่อสร้างเขื่อนบนแนวแม่น้ำโขง 8 โครงการ ในเขตประเทศจีนที่จะต้องมีการกักเก็บน้ำไว้ในปริมาณรวมกันมากกว่า 40,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในนี้แบ่งเป็นปริมาณน้ำที่ต้องกักเก็บไว้ในเขื่อนตลอดเวลาถึง 17,000 ล้านลูกบาศก์เมตรด้วยนั้น ก็หมายความว่า น้ำในปริมาณดังกล่าวนี้จะไม่ไหลลงไปในเขต Mekong Delta อย่างถาวรด้วยนั่นเอง
.

เพราะฉะนั้น ถ้าหากผนวกทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวเข้าด้วยกัน ซึ่งก็คือ แผนการก่อสร้างเขื่อน 8 โครงการบนแนวแม่น้ำโขงในจีน กับอีก 12 โครงการในลาว กับกัมพูชา และการขยายระบบชลประทานทั้งในลาว ไทย และกัมพูชานั้นก็จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำที่จะหายไปจากพื้นที่ Mekong Delta ของเวียดนามนั้นแทบจะเรียกได้ว่าตกอยู่ในสภาวะที่แห้งขอดเลยทีเดียว

การศึกษาร่วมกันระหว่างรัฐบาลเวียดนามกับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ดังกล่าวยังพบด้วยว่า พื้นที่ในเขต Mekong Delta ได้ประสบปัญหาภัยพิบัติจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (Climate Change) อย่างมากในตลอดช่วง 2 ทศวรรษมานี้ โดยระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นได้ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรที่ Mekong Delta คิดเป็นเนื้อที่กว้างกว่า 1.9 ล้านเฮกตาร์ในแต่ละปี และในช่วงหน้าแล้ง ก็ปรากฏว่า พื้นที่การเกษตรกว่า 2.1 ล้านเฮกตาร์ ต้องเผชิญต่อปัญหาแห้งแล้งอย่างหนักทุกปี

ซึ่งจากภัยพิบัติดังกล่าว ทำให้รัฐบาลเวียดนามได้ตระหนักว่า การมุ่งไปสู่การเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกให้ได้นั้น แท้ที่จริงแล้วมันได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบมากกว่าการสร้างผลประโยชน์ด้านบวกให้แก่เวียดนาม และด้วยการตระหนักรู้ในปัญหาที่ว่านี้ ก็ทำให้รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศเป้าหมายที่จะลดพื้นที่ปลูกข้าวลงให้ได้ไม่น้อยกว่า 7% ของพื้นที่ทั้งหมดในเขต Mekong Delta และในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จะส่งเสริมให้เกษตรกรเวียดนามหันไปทำไร่นาสวนผสมมากขึ้น

ถ้าหากทำได้จริงตามเป้าหมายที่วางไว้ดังกล่าว ก็จะทำให้พื้นที่ปลูกข้าวลดลง 112,000 เฮกตาร์ และทำให้พื้นที่ไร่นาสวนผสมเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 8 แสนเฮกตาร์ ซึ่งก็ไม่เพียงจะทำให้พึ่งพาน้ำจืดจากพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำโขงลดลงเท่านั้น แต่การส่งเสริมการทำไร่นาสวนผสมให้มากขึ้นเรื่อยๆ นี้ ก็ยังจะช่วยเป็นกำแพงป้องกันการรุกล้ำของน้ำทะเลได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
.

อย่างไรก็ตาม การลดพื้นที่ปลูกข้าวดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลเวียดนามต้องการที่จะลดผลผลิตข้าวแต่อย่างใด หากแต่รัฐบาลเวียดนามได้ส่งเสริมการศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่มสมรรถภาพผลผลิตต่อพื้นที่ให้สูงขึ้น โดยผลจากการศึกษาวิจัยล่าสุด พบว่า การส่งเสริมให้เกษตรกรเวียดนามปลูกข้าวพันธุ์ผสม (Hybrid Rice) นั้น นับเป็นแนวทางที่สอดคล้องต่อ Mekong Delta อย่างดียิ่ง เพราะเกษตรกรที่ปลูกข้าว Hybrid สามารถเพิ่มผลผลิตจาก 5 ตัน เป็น 7 ตันต่อพื้นที่ 1 เฮกตาร์ ทั้งยังใช้น้ำลดลงด้วย

แต่ถึงกระนั้น ระดับน้ำในพื้นที่ 13 จังหวัดภาคใต้ที่ Mekong Delta ของเวียดนามที่ลดลงถึงขั้นวิกฤตที่สุดในรอบ 90 ปี ถึงขนาดที่ต้องขอให้จีน และลาวปล่อยน้ำจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำโขงในเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2016 ทำให้เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนาม ได้รับน้ำในปริมาตรรวมกว่า 20,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในตลอดช่วงดังกล่าว ก็ยังนับเป็นปัจจัยที่เร่งให้รัฐบาลเวียดนามต้องปฏิบัติแผนการพัฒนาการเกษตรยั่งยืนด้วยการจัดแบ่งเขตการผลิต (Zoning) ให้ได้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วในเวลานี้ ก็คือ น้ำเค็มจากทะเลจีนใต้ได้รุก และลึกเข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรมของจังหวัดเกียนซาง (Kien Giang) เป็นระยะทางถึง 45 กิโลเมตร จากปากแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ส่วนที่นครเกิ่นเทอ (Can Tho) ที่อยู่ห่างจากฝั่งทะเลจีนใต้กว่า 50 กิโลเมตรนั้น ก็มีรายงานว่า น้ำเค็มได้ไหลรุกเข้ามาถึงพื้นที่การเกษตรเป็นครั้งแรกในปี 2016 และสถานการณ์อย่างเดียวกันก็ยังเกิดขึ้นในปี 2017 ทั้งยังคาดหมายได้ว่า จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
.

ประกอบกับเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงนั้น เป็นอู่ข้าว-อู่น้ำมีผลผลิตข้าวคิดเป็น 75% ของผลผลิตทั้งหมดของเวียดนาม ทั้งยังมีผลผลิตจากประมงน้ำจืดกว่า 90% ของผลผลิตทั้งประเทศด้วยแล้ว จึงทำให้รัฐบาลเวียดนามได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อสภาวะปัญหาต่างๆ ที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้

โดยการพัฒนาภาคเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรมการเกษตรทันสมัย นับเป็นเป้าหมายที่สำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลเวียดนามได้กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเวียดนามสู่ความทันสมัยในปี 2050 (Vision 2050) เพราะการมีพื้นที่เพียง 331,210 ตารางกิโลเมตร ขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (กว่า 95 ล้านคน) ก็ถือเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้นำเวียดนามต้องแบ่งการผลิตใน Mekong Delta ออกเป็น 6 เขต คือ เขตนาข้าว เขตนาข้าวและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด เขตที่นาสวนผสม นิคมการเกษตรผลิตพืชเสบียงอาหาร เขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย และเขตประมงป่าชายเลน ที่จะมีการนำวิทยาการสมัยใหม่ไปให้เกษตรกรเวียดนามได้เรียนรู้ และสร้างความชำนาญให้สูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง!!!


ชมวิดีโอ รายงานพิเศษ “เกิ่นเทอ กับหายนะ แม่โขงเดลตา”


กำลังโหลดความคิดเห็น