MGRออนไลน์ -- สัปดานี้เว็บไซต์ข่าวกลาโหมหลายแห่ง กำลังนำเสนอข่าวสาร หรือ วิพากษ์วิจารณ์ข่าวสารชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับโตโยต้าแลนด์ครูยเซอร์ J200 คันใหม่เอี่ยม ถูกนำไปติดอาวุธหนัก พร้อมระบบเรดาร์สังเกตการณ์ กับแลนด์ครูยเซอร์อีกซีรีส์หนึ่ง ที่ถูกดัดแปลงไปติดสรรพาวุธหลากชนิด จนถึงระบบอาวุธปล่อยนำวิถี ต่อสู้อากาศยาน ซึ่งได้เปลี่ยนรถแกร่ง ที่อยู่คู่วงการอ๊อฟโร้ดมา 50 ปี ให้เป็นยานยนต์เพื่อการสงคราม อย่างไม่ขัดเขิน
ไม่กี่ปีมานี้ ผู้คนทั่วโลกเคยเห็นกลุ่มก่อการร้ายไอซิส ดัดแปลงรถปิกอั๊พ ทั้งเก่าทั้งใหม่ ที่หาซื้อได้จากตลาด ให้เป็นยานยนต์หุ้มเกราะ ใช้ขนส่งกำลังพล และ อาวุธ ในสงครามทะเลทรายซีเรีย หลายคันถูกนำไปดัดแปลงเป็นรถบรรทุกวัตถุระเบิดทำเอง หรือ IED (Improvised Explosive Device) แบบพลีชีพ ที่สร้างความน่าสะพรึงกลัวในสนามรบ
เมื่อปีที่แล้วได้เห็นบริษัทเทคโนโลยีกลาโหมในสหรัฐแห่งหนึ่ง นำรถปิกอั๊พเชฟโรเล็ต โคโลราโด ไปติดตั้งสรรพาวุธ กลายเป็นยานยนต์อเนกประสงค์เพื่อการรบอย่างสมบูรณ์ โดยใช้ในภารกิจคล้ายกันกับรถฮัมวี (Humvee) ของกองทัพ -- และ คงจะมีการดัดแปลง ที่ใช้ความคิดประดิษฐ์สร้าง คล้ายๆ กันนี้อีกมากมาย ด้วยจุดประสงค์คล้ายกัน คือ นำรถยนต์ที่คุ้นเคยกันในฝ่ายพลเรือน ไปใช้ในการศึก
แต่การนำรถเอสยูวีหรูหรา อย่างแลนด์ครูยเซอร์รุ่นใหม่ออกรบ นับเป็นเรื่องใหม่ นอกเหนือจากการใช้เป็นยานยนต์ตรวจการณ์ หรือ เป็นพาหนะสำหรับการเดินทางระยะไกลโดยทางบก ที่เห็นได้ทั่วไป
**โตโยต้าแลนด์ครูยเซอร์ V8 J200**
ว่ากันว่าเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่วงการได้เห็นการนำรถเอสยูวี โตโยต้าแลนด์ครูยเซอร์ V8 ไปประกอบอาวุธ พร้อมระบบสอดแนมทันสมัย ที่สามารถใช้ในภารกิจป้องกันประเทศ อย่างเต็มตัวและเต็มคัน เมื่อบริษัทโรเชล ดีเฟ้นซ์ โซลูชั่น (Roshel Defense Solutions) ในแคนาดา แนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่กี่วันมานี้ -- เป็นรถแลนด์ครูยเซอร์ V8 (J200) รุ่นปัจจุบัน หุ้มเกราะ ติดระบบสังเกตุการณ์ และ ติดปืนกลรีโมทคอนโทรล ทั้งเพื่อจู่โจมและป้องกันตนเอง
ข้อมูลในเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่า แลนด์ครูยเซอร์คันนี้ หุ้มเกราะโลหะผสมที่มีน้ำหนักเบา แต่ให้ความปลอดภัยจากการถูกโจมตี ถึงระดับ B6 ตามมาตรฐานยุโรป คือ สามารถป้องกันกระสุนปืนไรเฟิลแรงสูง ขนาด 7.62 และ 5.56 มม.ของนาโต้ได้ เช่นเดียวกับกระสุน 7.62x39 ของปืน เอเค-47 หรือ "อาก้า" เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
ระบบกันกระสุน ทำให้สามารถนำรถกับระบบนี้ ใช้ประโยชน์ได้ทั้งในแนวหน้าและแนวหลัง เนื่องจากมีขีดความสามารถในการตรวจจับ ทั้งรถยนต์ยานพานะต่างๆ รวมทั้งกำลังพล กลุ่มคน ที่กำลังเคลื่อนไหว จากระยะไกลถึง 16 กม. ด้วยระบบเรดาร์ กับกล้องความคมชัดสูง
.
.
ผู้ผลิตกล่าวว่า ระบบเราดาร์สอดแนม สามารถจับความเคลื่อนไหวของคนๆ หนึ่ง ขณะเดินอยู่ห่างจากออกไป 7.4 กม. แม้จะมีเนินเขาบดบังอยู่ระหว่างกลางก็ตาม ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรง สำหรับภารกิจตรวจสภาพความเรียบร้อย ตามแนวชายแดน นอกจากนั้่นรถยังสามารถเข้าถึงท้องถิ่นทุระกันดารได้ โดยอาศัยพลังอันล้นเหลือของเครื่องยนต์ V8 ความแข็งแกร่งทนทานของแชสซี กับ ระบบออฟโร้ด ที่ได้รับความนิยมมายาวนาน ของรถเอสยูวีซีรีส์นี้นั่นเอง
โรเชลกล่าวอีกว่า ทั้งระบบห้ามล้อ และ ระบบกันกระเทือนของ V8 J200 ถูกดัดแปลง และ ผ่านการทดสอบจากสถาบันชั้นนำในยุโรป ซึ่งให้ความปลอดภัยสูงสุด
อุปกรณ์เรดาร์ตรวจการณ์/สังเกตการณ์ ที่ติดตั้งบนแลนด์ครูยเซอร์ สามารถชักขึ้นสูงจากหลังคาได้กว่า 2 เมตร และ ชักลงได้ตามความสูงที่ต้องการ ในขณะที่รถเคลื่อนที่ไปบนพื้นถนนขรุขะ ส่วนระบบปืนที่ควบคุมจากภายในรถ สามารถยิงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ แม้ในขณะรถกำลังแล่นด้วยความเร็ว
นายโรแมน ชิโมนอฟ (Roman Shimonov) ซีอีโอของโรเชลดีเฟ้นส์โซลูชั่นส์ เปิดตัวเลขต่อเว็บไซต์ข่าวกลาโหมแห่งหนึ่ง 19 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า แลนด์ครูยเซอร์ V8 J200 พร้อมระบบต่างๆ ครบครัน ราคา 750,000 ดอลลาร์ และ สามารถจัดสเป็กต่างๆ สนองความ
ต้องการเฉพาะของลูกค้าได้ ซึ่งรวมทั้งขนาดเครื่องยนต์ ตามสเป็กของ J200 ที่มีหลายขนาดซีซี ตั้งแต่ V8 4.6 ลิตร จนถึง 5.7 ลิตร รวมทั้งเครื่องยนต์เทอร์ดีเซล V8 4.5 ลิตรด้วย และ "ตอนนี้เราได้รับพรีออร์เดอร์เข้ามาบ้างแล้ว"
.
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับรถในครอบครัวแลนด์ครูยเซอร์ เมื่อไม่นานมานี้วงการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ได้รับทราบเกี่ยวกับโครงการจัดหา ระบบอาวุธปปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานรุ่นหนึ่ง ซึ่งทำให้สาธารณชนในวงกว้างได้ทราบว่า เป็นระบบอาวุธที่ติดตั้งบนเมกะแลนด์ครูยเซอร์ (Toyota Mega Land Cruiser) ซึ่งเป็นรุ่นที่เก่ากว่า -- นั่นคือ ระบบอาวุธ ที่กองกำลังป้องกันตนเองทางบก ของญี่ปุ่น เรียกว่า Type 11 หรือ "แบบ 11" ในระบบของประเทศ
เป็นที่ทราบกันมาก่อนหน้านี้ว่า Type 11 นั้น พัฒนาต่อเนื่องโดยโตชิบา (Toshiba) ซึ่งโดยแท้จริง เป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำแห่งหนึ่งในประเทศ ถึงแม้จะผลิตทั้งโทรทัศน์ พัดลม หม้อหุงข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้าตามครัวเรือน สิ่งอำนวยความสะดวกอีกหลายชนิดและประเภท แต่ก็ผลิตสินค้าไฮเท็คหลายหมวด รวมทั้งสินค้่าไอที เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และ SSD หรือ ฮาร์ดดิสก์แบบโซลิดสเตท สำหรับคอมพิวเตอร์กับโน้ตบุ๊ก อุปกรณ์หน่วยความจำชนิดอื่นๆ -- จงจำกันได้ดีว่้า ในยุคหนึ่ง เน็ตบุ๊กกับโน้ตบุ๊กของโตชิบา เคยเป็นหนึ่งในตลาด ไม่น้อยหน้าค่ายโซนี่
นอกจากนั้นหลายคน อาจไม่เคยทราบว่า โตชิบาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนระบบเรดาร์ ให้ F-35 "ไล้ท์นิ่ง 2" (Lightning II) เครื่องบินรบล่องหนยุคที่ 5 ของกองทัพสหรัฐ และ ผลิตเรดาร์ ทั้งระบบ ทั้งชุด สำหรับ F-35 เวอร์ชั่นของกองกำลังป้องกันทางอากาศญี่ปุ่นเอง แอละ ผลิตเรดาร์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ก้าวหน้า ให้แก่กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นด้วย
วันนี้โลกได้รับรู้เกี่ยวกับอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง คือ -- "จรวดโตชิบา"
ตามข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์เมื่อไม่นานมานี้ กองกำลังป้องกันตนเองทางบก หรือ "กองทัพบก" ของญี่ปุ่น ได้ประกาศแผนการจัดหา Type 11 จากโตชิบาเพิ่มอีก โดยยังไม่ทราบจำนวน และ งบประมาณในการจัดหา แต่แผนการดังกล่าวได้ทำให้วงการ ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับ Type 11 มากยิ่งขึ้น
ตัวอาวุธปล่อยนำวิถี Type 11 เองนั้น ยาวเพียง 2.93 เมตร และ มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 0.16 เมตร (16 เซ็นติเมตร) หนักประมาณ 103 กิโลกรัม มีระยะยิงไกลสุดเพียง 18 กม. แต่มีความเร็วถึงมัค 3 หรือ 3 เท่าเสียง และ ใช้หัวรบแบบสะเก็ดระเบิดแรงสูง หรือ High Explosive Fragmentation Warhead ยากที่เป้าหมายจะหลบเลี่ยง หรือ หลบหนีได้เมื่อเข้าถึงระยะใกล้
หมายความ ถ้าหากอากาศยบาน หรือ อาวุธปล่อยของอีกฝ่ายหนึ่ง สามารถหลบเลี่ยง หรือรอดพ้นจากระบบป้องกัน ทั้งระยะไกล หรือ ระยะปานกลางมาได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ -- ก็ยังต้องเจออีกด่านหนึ่ง ที่หินโหดในระยะสุดท้าย -- ยังไม่ต้องพูดถึงเป้าหมาย ที่เป็นอากาศยานบินต่ำ-บินช้าทั้งหลาย ที่โอกาสหลุดรอดแทบจะเป็นศูนย์
.
Type 11 เป็นการปรับปรุง Type 81 ที่พัฒนาโดยโดยโตชิบาเช่นเดียวกัน และใช้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 หรือ ในช่วงสงครามเวียดนาม -- และ Type 11 ก็ยังคงเป็น "จรวด" ขนาดเล็ก แต่ทำความเร็วถึงมัก 2.9 ด้วยเครื่องยนต์ขับดัน ที่ผลิตโดยนิสสันมอเตอร์ ใช้ระบบนำวิถีอัตโนมัติ (Inertial Guidance) โดย บริษัทคาวาซากิ เฮฟวี่อิสดัสตรีส์ และ นำวิถีในขั้นตอนสุดท้ายด้วยอินฟราเรดโฮมมิ่ง -- ระบบที่ผลิตโดยโตชิบา
ระบบท่อยิง หรือ Launcher ของ Type 81 เมื่อก่อน ติดตั้งบนแชสซีรถ 6x6 รุ่นหนึ่ง ที่ผลิตโดยอิซูซุมอเตอร์ส ก่อนจะบ้ายขึ้นตั้งบน แชสซี 10 ล้ออีกรุ่นหนึ่ง -- เมื่อพัฒนามาเป็น Type 11 ใช้ระบบท่อยิง ก็ยังติดตั้งบนแพล็ตฟอร์ม 10 ล้อเหมือนเดิม ก่อนพัฒนาขึ้นติดตั้งบนแพล็ตฟอร์ม 4x4 -- แชสซีของเมกะแลนด์ครูยเซอร์ -- ส่วนรถสนับสนุนคันอื่นๆ เปลี่ยนจาก 6x6 มาเป็นรถ 10 ล้อ ที่บรรทุกได้มากขึ้น และ ทั้งหมดยังเป็นรถของอิซูซุมอเตอร์สเจ้าเดิม
การปรับปรุง Type 11 เริ่มเมื่อปี 2548 และ บรรจุในกองกำลังป้องกันตนเองทางบก ตั้งแต่ปี 2547 มาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากการเปลี่ยนแพล็ตฟอร์มสำหรับ Launcher แล้ว แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมนี้ ยังเปิดเผยว่า โตชิบาพัฒนา Type 11 มาใช้เรดาร์นำวิถีแบบ Active Phrased Aray แทนรุ่นเก่า ที่มีความแม่นยำยิ่งกว่า ตัวระบบสามารถรับข้อมูลอัปเดทการนำวิถี จากดาวเทียมในระหว่างทาง ที่เรียกว่าระยะ "มิดคอร์ส" (mid-course update) ได้ ทำให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้นไปอีก
ทั้งระบบของ Type 11 ประกอบด้วยยานยนต์สนับสนุนหลายคัน -- ยานยนต์ 10 ล้อ ติดตั้งระบบเรดาร์-ระบบควบคุมการยิง 1 คัน ยานยนต์ 10 ล้อสนับสนุน ขนส่งท่อยิงและอาวุธปล่อย (อย่างน้อย) 1 คัน กับ ยานยนต์ติดตั้งระบบท่อยิงอีก 1 คัน -- ล็อตปัจจุบัน ประกอบขึ้นบนแชสซี ของรถยนต์เมกะแลนด์ครูยเซอร์ ทั้งหมดแล้ว
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า โตชิบายังผลิตระบบเรดาร์ กับ ระบบอาวุธเพื่อสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่ก้าวหน้ามากที่สุด อีกหลายระบบด้วย
.
**โตโยต้า Mega Land Cruiser**
อย่างไรก็ตามการนำโตโยต้าเมกะแลนด์ครูยเซอร์ ไปใช้ทางการทหารนั้น กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นทำมาหลายปี นับตั้งแต่โตโยต้าผลิตรถรุ่นนี้ออกมา กลายเป็นแชสซีขับเคลื่อน 4 ล้อ ขนาดใหญ่ที่สุดของค่าย โดยออกแบบให้มีหน้าตาคล้ายกับฮัมวี่ H1 (Humvee H1) กองทัพสหรัฐ และ ผลิตเพื่อขายในประเทศเท่านั้น -- คันแรกออกมาจากโรงงานเมื่อปี 2538 เลิกผลิตปี 2545 ซึ่งถือว่าอายุค่อนข้างจะสั้น หากเทียบกับแลนด์ครูยเซอร์ซีรีส์อื่น รวมทั้ง J200 ใสนปัจจุบันด้วย
ตามประวัติความเป็นมาของแลนด์ครูยเซอร์ รุ่นที่มีอายุค่อนข้างจะสั้นนี้ แรกเริ่มเดิมทีโตโยต้าญี่ปุ่น ตั้งใจจะทำออกมาไม่กี่คัน เพียงเพื่อใช้เป็นรถทดสอบ ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า จะถูกนำไปใช้ในภารกิจป้องกันประเทศ และ ไม่ได้มีความตั้งใจจะผลิต เพื่อให้แล่นบนทางหลวงด้วยซ้ำ แต่จู่ๆ ก็เกิดอุปสงค์ขึ้นมาในตลาดอ๊อฟโร้ด
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัว มีภาระต้องจ่ายภาษีสูงมากในระยะหลัง เนื่องจากขนาดกับลักษณะของรถ และ ยังต้องจ่ายภาษีการใช้ถนนแพงๆ อีกทอดหนึ่ง รวมไปจนถึงปัจจัยทางด้านราคา -- และ ต้องพึงตระหนักด้วยว่า สารพัดค่ายรถยนต์ในญี่ปุ่น ต่างผลิตรถอเนกประสงค์ออกมาหลากหลายรุ่น ให้เป็นทางเลือก -- ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เมกะแลนด์ครูยเซอร์ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดพลเรือน แต่กลับได้รับความนิยมจากกองทัพ
หลายปีมานี้สาธารณชน จึงได้เห็นเมกะแลนด์ครูยเซอร์หลายร้อยคัน ถูกนำไปดัดแปลงเป็นรถขนส่งทหาร เช่นเดียวกับฮัมวี่ บ้างติดตั้งปืนครก หรือ ติดตั้งปืนกลหนัก แบบเดียวกันกับจี๊ป "สิงห์ทะเลทราย" หรือ เป็นรถขนส่งเร็วอเนกประสงค์ กระทั่งใช้เป็นรถตรวจการณ์ แบบเดียวกันกับฮัมวี H1 หรือ จี๊ปแรงเลอร์ (Wrangler) อีกหลายคันถูกนำไปติดตั้ง ระบบเรดาร์ตรวจไกลภาคพื้นดิน เรดาร์นำวิธีในระบบควบคุมการยิง สำหรับอาวุธปล่อยฯ และ กลายเป็น Launcher -- ติดตั้งท่อยิงของ Type 11 ที่เห็น
ยังมีอีกหลายหน่วยงาน ที่ใช้เมกะแลนด์ครูยเซอร์เพื่อภารกิจต่างๆ รวมทั้งตำรวจระดับจังหวัด กับหน่วยดับเพลิง หรือ หน่วยกู้ภัยของรัฐบาลด้วย
เรากำลังพูดถึงรถโตโยต้าเพียงค่ายเดียว ยังไม่นับรวมมิตซูบิชิเฮฟวี่อินดีสตรีส์ ที่เป็นจ้าวแห่งยานยนต์ ในสนามรบตลอดมา ผลิตทั้งรถถัง ยานเกราะ รถหุ้มเกราะจู่โจมยกพลขึ้นบก ติดปืน-อาวุธปล่อยยิงรถถัง กับ รถอเนกประสงค์หุ้มเกราะอีกหลายรุ่น -- มิตซูบิชิอเฮฟวี่อินดัสตรีส์ ยังเป็นจ้าวเวหา ผลิตเครื่องบินรบ ทั้งเป็นจ้าวสมุทร ผลิตเรือรบ ทั้งเรือดำน้ำ เรือฟริเกต-เรือพิฆาต หลายชั้น.