MGRออนไลน์ -- บริษัทมิตซูบิชิแอร์คราฟท์ นำ "ชินชิน" เอ็กซ์-2 (Shinshin X-2) ออกจากโรงเก็บที่เมืองนาโงย่า วันพฤหัสบดี 11 ก.พ.นี้ เข้าสู่กระบวนการทดสอบภาคพื้นดิน เตรียมความพร้อม เพื่อนำเครื่องบินต้นแบบขับไล่ล่องหนลำแรกที่ผลิตเองในญี่ปุ่น ขึ้นทดลองบินในอีกไม่นานนี้ หลังจากได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 14 วันก่อน
เหตุการณ์นี้ยังมีขึ้นในชั่วเวลาเพียงข้ามเดือน หลังจากมิตซูบิชิ "ซีโร่" (Zero) เครื่องบินรบที่มากด้วยตำนาน ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ขึ้นบินอีกครั้งหนึ่งในดินแดนบ้านเกิด หลังเตรียมการมาเป็นเวลาปีเศษ ทั้งซีโร่และชินชินต่างเป็นผลงานของกลุ่มบริษัทมิตซูบิชิเฮฟวีอินดัสตรี (Mitsubishi Heavy Industry) ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทสำคัญนำหน้า ในการพัฒนาระบบอาวุธสำหรับป้องกันประเทศทั้งทางบก ทางเรือ และ ทางอากาศ และ เชื่อกันว่า จะเป็นอาวุธทางเลือก อีกทางหนึ่งสำหรับพันธมิตรอีกหลายประเทศ
มิตซูบิชิเอ็กซ์-2 "ชินชิน" (Mitsubishi X-2 "Shinshin") ผลิตขึ้นตามโครงการที่แต่เดิมมีชื่อว่า ATD-X โดยได้รับมอบหมายจากทบวงป้องกันตนเอง เพื่อผลิต "เครื่องบินรบยุคหน้า" สำหรับนำเข้าประจำการแทนมิตซูบิชิ F-2 ทั้งฝูง ภายในปี พ.ศ.2571 ซึ่งในปีนั้น ก็จะผ่านการใช้งานไปกว่า 30 ปี
.
.
.
สถาบันวิจัยและพัฒนาทางวิชาการ (Technical Research and Development Institute) หรือ TRDI ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดทบวงป้องกันตนเอง (กระทรวงกลาโหม) คาดหวังว่า เครื่องบินรบรุ่นใหม่ของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศ หรือ "กองทัพอากาศ" อาจจะสามารถนำเอาเทคโนโลยี "สเตลธ์" ที่กำลังทดลองใน "ชินชิน" ขณะนี้ไปใช้ได้
ตามแผนการในสัปดาห์นี้ มิตซูบิชิกำลังจะทดสอบระบบเครื่องยนต์ กับ ส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องบินต้นแบบอื่นๆ และ ทดสอบฟังก์ชั่นต่างๆ ทางภาคพื้นดิน ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่วันข้างหน้า สำหรับการสร้างประวัติกาลใหม่ ให้แก่วงการบินของประเทศและของโลก ซึ่งจะเป็นครั้งแรกสำหรับประเทศที่มีเทคโนโลยีอากาศยานก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญแนวสันติ ที่ใช้มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะผลิตเครื่องบินรบยุคที่ 5 หรือ 6 เป็นครั้งแรก
.
2
หลังจากมีการ "รั่ว" ภาพถ่ายเครื่องบินจำลอง X-2 ออกมาเมื่อหลายปีก่อน 14 วันก่อนหน้านี้ คือวันที่ 28 ม.ค.2559 หรือ เพียง 1 วัน หลังจากมิตซูบิชิซีโร่ ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ใบพัดรุ่นปู่ขึ้นบิน หน่วยงานเพื่อการจัดหา เทคโนโลยีและการสนับสนุน ของทบวงป้องกันตนเอง ก็ได้เปิดตัวเครื่องบินต้นแบบ X-2 รุ่นหลาน ที่พัฒนาแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการ
พิธีจัดขึ้นที่โรงงานผลิตของมิติซูบิชิเฮฟวีอินดัสตรี ที่เมืองโตโยยามา จ.อาอิชิ ทางตอนกลางของประเทศ
"ชินชิน" สเตลธ์ที่ความยาวหัวจดท้าย 14.2 เมตร ระหว่างปีกสองข้าง 9.1 เมตร สูง 4.5 เมตร กำลังจะขึ้นบินเป็นครั้งแรก จากสนามบินนาโงยา ที่อยู่ใกล้โรงงานผลิต ไปยังฐานทัพกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศ ที่เมืองคาคามิกาฮารา ในจังหวัดกิฟุ ที่อยู่ติดกัน
ตามข้อมูลของ TRDI การพัฒนาเคื่องต้นแบบ X-2 เริ่มในปี 2552 ภายใต้โครงการที่มีมูลค่า 39.4 พันล้านเยน หรือประมาณ 331 ล้านดอลลาร์ วัสดุที่ห่อหุ้มลำตัวเครื่องบินเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ ที่สามารถดูดซับคลื่นวิทยุ ทำให้เราดาร์ตรวจจับได้ยาก และ ออกแบบให้มีรูปทรงที่ไม่สะท้อนคลื่นเรดาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีล่องหน
หน่วยงานนี้มีแผนงาน จะประเมินผลการทดสอบ "ชินชิน" ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การพิจารณาตัดสินใจในปีงบประมาณ 2561 คือ ปีหน้านี้ ว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง หรือจะสร้างออกมาอย่างไร รัฐบาลจะลงทุนเองทั้งหมด หรือ เปิดให้หุ้นส่วนต่างประเทศเข้าร่วมโครงการด้วย
.
3
สำหรับเครื่องบินขับไล่มิตซูบิชิ F-2 เป็นการร่วมผลิตระหว่าง MHI กับ บริษัทล็อกฮีดมาร์ตินแห่งสหรัฐ โดยถือหุ้น 60/40 ผลิตตามเครื่องบินต้นแบบ F-16 ของบริษัทเจเนอรัลไดนามิกส์ การผลิตเริ่มในปี 2539 นำเข้าประจำการลำแรกในปี 2543 ส่งมอบครบจำนวน สั่งซื้อทั้งหมดในเดือน ก.ย.2554 คือ 94 ลำ รวมทั้งเครื่องต้นแบบ 4 ลำด้วย
F-2 ถูกรุมวิจารณ์อย่างหนักในเรื่องราคา ที่จำหน่ายให้รัฐบาลลำละ 127 ล้านดอลลาร์ และ เมื่อรวมกับมูลค่าในการวิจัยและพัฒนาแล้ว ทำให้ราคาต่อหน่วยอันแท้จริงสูงกว่า F-16 บล็อก 50/52 รุ่นที่พัฒนาก้าวหน้ายิ่งกว่า แต่ราคาของ F-16 รุ่นอัปเกรดดังกล่าว ก็ไม่ได้รวม มูลค่าการวิจัยและพัฒนาเข้าไปด้วย
ข้อแตกต่างจาก F-16 ที่โดดเด่นประการหนึ่งก็คือ F-2 ติดระบบเรดาร์แบบอิเล็กทรอนิกส์แอ็กทีฟสแกน หรือ AESA ที่ผลิตโดยมิตซูบิชิ แรกเริ่มเดิมที่ F-2 เป็นเพียง "เครื่องบินสนับสนุนการโจมตี" ของกองทัพ จนกระทั่งปี พ.ศ.2549 ทบวงป้องกันตนเองจึงเปลี่ยนฐานะเป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีเต็มรูป พร้อมกับมีการพัฒนาเพิ่มเติมจำนวนหนึ่งในล็อตหลังๆ
อีกเหตุการณ์ที่ดูจะไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่เกี่ยวเนื่องกันอย่างแยกไม่ออก สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินสำหรับกองทัพในประเทศนี้ก็คือ มิตซูบิชิ "ซีโร่" หมายเลข A1-112 ซึ่งถูกนำกลับญี่ปุ่นโดยทางเรือตั้งแต่ปี 2557 ได้มีโอกาสขึ้นบินในดินแดนมาตุภูมิอีกครั้งหนึ่งสัปดาห์ปลายเดือน ม.ค.
เจ้าของซีโร่รุ่น A6M ที่ขุดไปจากชายป่าประเทศปาปัวนิวกินีเมื่อหลายปีก่อน ก่อนจะถูกนำไปยังสหรัฐ ได้ทุ่มเทเงินทองและทรัพยากรต่างๆ ไปมากมายในการฟื้นชีพ ให้เครื่องบินรบเจ้าตำนานของกองทัพพระจักรรดิเมื่อก่อนบินได้อีกครั้ง และได้นำออกแสดงมาหลายครั้งมาก่อนหน้านั้น
.
.
หมายเลข A1-112 ขึ้นบินเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2559 จากสนามบินกองกำลังป้องกันตนเองทะเล เมืองคาโนยา จ.คาโกชิมา บนเกาะคีวชู หรือ "เกาะใต้" ของประเทศ เป็นการขึ้นบินในถิ่นกำเนิดครั้งแรกในรอบกว่า 70 ปี หลังจากที่เคยทำให้นักบินฝ่ายสัมพันธมิตร ขวัญหนีดีฝ่อมามากต่อมาก ในช่วงสงครามเอเชียบูรพา
เจ้าของปัจจุบันเป็นนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ แต่มีอดีตนักบินของกองทัพอากาศสหรัฐ คนนึ่งเป็นผู้นำขึ้นบิน ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของซีโร่ลำนี้.
4
5